ยอมรับ “เสียงประชาชน” แต่ “ไม่รับ” นโยบายบางข้อ

เมื่อวานนี้ผมเขียนบันทึกประจำวัน “14 พ.ค.2566” ที่ผมออกไปเลือกตั้งที่คูหาในสวนพฤกษชาติคลองจั่น ตอนเช้าแล้วพบว่า มี “ผู้อาวุโส” มาเข้าคิวลงคะแนนเสียงแน่นไปหมดในทุกๆ คูหา

ผมก็แอบฝันอย่างลมๆ แล้งๆ ว่า “ผู้อาวุโส” หรือผู้สูงอายุเหล่านี้อาจจะมีโอกาสได้ชัยชนะในครั้งนี้บ้าง แม้จะยังเหลือเวลาอีกพักใหญ่ก่อนผมส่งต้นฉบับตอน 4 โมงเย็นก่อนปิดหีบเลือกตั้งก็ตาม

แต่แล้วก็กลายเป็นฝันสลายไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อหนังสือพิมพ์รุ่งขึ้น พาดหัวว่า พรรคก้าวไกล ชนะได้ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกันเป็นอันดับที่ 1 แซง พรรคเพื่อไทย ไปอย่างที่โพลคาดหมายไว้

ตัวเลขในเช้าวันรุ่งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.รวมทั้ง 2 ประเภท 151 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 9 เสียง ที่เหลือเป็นของพรรคอื่นๆ

แม้จะไม่ใช่ตัวเลขล่าสุด แต่ก็คาดว่าจะเป็นไปตามนี้ เพราะนับไป 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว

เราจึงได้ยินข่าวตามมาตั้งแต่บ่ายๆของวันจันทร์ที่ 15 พ.ค.2566 ว่าพรรคก้าวไกลพร้อมจัดตั้งรัฐบาล เพราะถือว่าได้ฉันทามติจากประชาชน และได้ต่อสายคุยกับพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านเก่าอื่นๆ แล้ว

แม้นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่จะเชื่อว่าการเจรจาต่อรองต่างๆ คงต้องใช้เวลา อีกพักใหญ่ และคงไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ง่ายๆ นัก

รวมทั้งยังมีขั้นตอนเกี่ยวกับการโหวตรับรองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาและเท่าที่พรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยและพันธมิตรรวมกันยังไม่พอเพียง ต้องอาศัยการยกมือสนับสนุนส่วนหนึ่งจากวุฒิสมาชิก จึงยังไม่แน่นอนว่าจะได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกอย่างพอเพียงหรือไม่?

แต่อย่างไรก็ตาม ณ นาทีนี้ ผมถือว่า ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ผมเอาใจช่วยเต็มที่ เพราะตัวเองก็เป็นนักอนุรักษนิยมด้วยคนหนึ่งนั้น เป็นฝ่ายพ่ายแพ้โดยราบคาบแล้ว

แน่นอนครับไม่มีผู้แพ้ที่ไหนในโลกนี้ที่จะไม่เสียใจ รวมทั้งไม่มีกองเชียร์ที่ไหนในโลกนี้ที่จะไม่เสียใจที่นักกีฬาที่เราเอาใจช่วยเอาใจเชียร์ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

ผมยอมรับว่าในฐานะกองเชียร์คนหนึ่ง ผมรู้สึกเสียดายอย่างยิ่งที่นักกีฬาที่ผมเชียร์พ่ายแพ้หมดรูปจนต้องใช้เวลาปลอบใจตัวเองอยู่นานพอสมควร

โชคดีที่ผมเติบโตมากับสายข่าวกีฬาด้วย เพราะมีโอกาสไปช่วยเพื่อนๆ สายข่าวกีฬาทำข่าวกีฬามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เข้าสู่วงการสื่อมวลชน แม้ทุกวันนี้ยังมีโอกาสได้เขียนคอลัมน์กีฬาสัปดาห์ละหน

ทำให้ผมเข้าใจในปรัชญาของการแข่งขันกีฬาที่สอนให้นักกีฬารวมถึงกองเชียร์ด้วยรู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย…เป็นผู้ชนะที่ดีและเป็นผู้แพ้ที่ดี

เมื่อการเลือกตั้งก็คือการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่ง ดังนั้นแม้ฝ่ายที่ผมเชียร์จะพ่ายแพ้จนผมรู้สึกเสียดายแต่ในที่สุดก็สามารถทำใจได้

เป็นที่ทราบดีแล้วว่าที่ผมเชียร์และเอาใจช่วย “ลุงๆ” ทั้งหลายมาโดยตลอดก็เพราะเชื่อในนโยบายและหลักการของทุกๆ ลุงที่ยึดมั่นในแนวทางหลัก 3 ประการ อันเป็นที่ยึดเหนี่ยวของปวงชนชาวไทยอันได้แก่ “ชาติ–ศาสนา–พระมหากษัตริย์”

ต่างกับนโยบายของ พรรคก้าวไกล ที่ผู้อาวุโสทั้งหลายไม่ไว้วางใจเลยว่าจะมีครบทั้ง 3 ประการ

เมื่อ “ลุงๆ” ไม่อยู่แล้วผมก็ขอฝากภารกิจในการพิทักษ์ 3 สถาบันไว้กับ พรรคเพื่อไทย ที่มีข่าวว่าพรรคก้าวไกลจะเชิญไปร่วมรัฐบาลก็แล้วกัน

แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับหลายๆ นโยบายและการปฏิบัติของพรรคเพื่อไทยทั้งในอดีตและปัจจุบัน แต่ผมยังมั่นใจอยู่ข้อหนึ่งว่า พรรคเพื่อไทย ยังยึดมั่นใน 3 สถาบันหลักอย่างเหนียวแน่น

ผมก็ฝาก “พรรคเพื่อไทย” ไว้ด้วยว่า…จะไปร่วมกับเขาก็ไปเถิด แต่ช่วย “ดูแล” และปกป้องทั้ง 3 สถาบันหลักอันเป็นที่เชิดชูยิ่งของปวงชนชาวไทยให้อยู่ครบทั้ง 3 ประการด้วยก็แล้วกันครับ…

“ซูม”

ยอมรับ "เสียงประชาชน" แต่ "ไม่รับ" นโยบายบางข้อ, เลือกตั้ง, รัฐบาล, สส, การเมือง, พรรคเพื่อไทย, ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์, ซูมซอกแซก