แถลงข่าวอึกทึกครึกโครมไปเรียบร้อยเมื่อวันจันทร์ที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา แต่รายละเอียดของเอกสารประกอบข่าวเพิ่งมาถึงโต๊ะหัวหน้าทีมซอกแซก เมื่อวันศุกร์นี่เอง
ได้เวลาเขียนคอลัมน์ซอกแซกสัปดาห์นี้ พอดีเป๊ะงานเทศกาลดนตรีแห่งปีที่มีชื่อเป็นภาษาฝรั่งว่า “MOC MU FES 2023 : Summer Hit Songs” ของกระทรวงวัฒนธรรม นั่นแหละครับ
ทั้งคำเต็มคำย่อของชื่องานนี้น่าจะถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “มหกรรมดนตรี แห่งปี 2023 ของกระทรวงวัฒนธรรม : เพลงฮิต รับลมร้อน” ผิดถูกประการใดขออภัยมณีเอาไว้ด้วย ณ ที่นี้
ตอนแถลงข่าวแล้วบอกชื่อเป็นภาษาอังกฤษมีคน “แซว” (ล้อเลียนนะครับไม่ใช่ “บูลลี่”) ว่า ทำไมต้องตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นมหกรรมเพลงไทยทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ล้วนในงานนี้
หัวหน้าทีมรีบแก้ต่างให้ทันทีว่าถูกแล้วที่ตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งด้วย เพราะทุกวันนี้เรากำลังใช้ “วัฒนธรรมไทย” ซึ่งเป็น Soft Power ในการสร้างชื่อเสียง และนำเงินตราเข้าประเทศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับ Power อื่นๆ
จะไปเรียกชื่อหรือตั้งชื่อเป็นภาษาไทยอย่างเดียวแบบสมัยก่อนได้ยังไงล่ะ ดังนั้น ที่กระทรวงวัฒนธรรมตั้งชื่อเป็นภาษาประกิตให้พวกเรานักข่าวแปลกลับเป็นไทยตามอัธยาศัย จึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้วทุกประการ
มากันที่วัตถุประสงค์หลัก และกิจกรรมหลัก ของ “เทศกาลดนตรี” รับลมร้อนครั้งนี้กันเลยครับ ท่านรัฐมนตรีวัฒนธรรม อิทธิพล คุณปลื้ม แถลงไว้ว่า เพื่อให้พี่น้องชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจเพลงไทยได้มีโอกาสรับฟังรับชม และดื่มด่ำกับเสียงเพลงเสียงดนตรีไปตลอดทั้งปีนี้
โดยจะเริ่มโครงการแรกด้วย “เทศกาลดนตรีรับลมร้อน” หรือ “Summer Hit Songs” ดังกล่าว ในวันที่ 31 มีนาคม, วันที่ 1-2 และ 9 เมษายนที่จะถึงนี้ รวม 4 วัน
เหตุที่เริ่มโครงการแรกในต้นเดือนเมษายนก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี พระผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยและทรงเป็น “วิศิษฎ์ศิลปิน” ที่เหล่าศิลปินไทย ทุกแขนงให้ความเคารพอย่างยิ่งยวด
สำหรับกิจกรรมโดยละเอียดนั้นจะมีถึง 4 รายการใหญ่ด้วยกัน เริ่มต้นรายการแรก “100 ปีดนตรีสากลไทย” ในวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม ดังนี้
14.30-16.30 น. จะมีการเสวนาในหัวข้อ “100 ปี เพลงไทยยอดนิยม” ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ครูนคร ถนอมทรัพย์, ชมพู ฟรุ้ตตี้ หรือ สุทธิพงษ์ วัฒนจัง และ อ.สุทิน ดวงเดือน นักไวโอลินชื่อก้อง
17.00-18.00 น. การแสดงวงดุริยางค์เครื่องลมเยาวชนไทย Thai Youth Wind (TYW) และการแสดงดนตรีไทย โดยวงดนตรีรุ่งอรุณวิศิษฐ์ ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข
จากนั้น 18.00-21.00 น. ณ ลานวัฒนธรรม สร้างสุขเช่นกัน จะเป็นการแสดงคอนเสิร์ต “100 ปี เพลงไทยยอดนิยม” (100 Years Thai Popular Songs) ที่ยากจะหาชมหาฟังที่ไหนได้อีกแล้ว
จากการขับร้องของศิลปินนักร้องที่ยากมาก ในการจะมารวมตัวกันได้ในงานเดียว…อาทิ ดร.วินัย พันธุรักษ์ (ศิลปินแห่งชาติ), สุดา ชื่นบาน (ศิลปินแห่งชาติ) รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส (ศิลปินแห่ง ชาติ), วงจันทร์ ไพโรจน์ (ที่ควรจะได้เป็นศิลปิน แห่งชาตินานแล้วครับ กระทรวงวัฒนธรรม), ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, นัดดา วิยกาญจน์, วารุณี สุนทรีสวัสดิ์, ชรัส เฟื่องอารมย์, จิตติมา เจือใจ ฯลฯ และ ฯลฯ (ยํ้า…ฟรีนะครับฟรี!)
วันเสาร์ที่ 1 เมษายน เวลา 16.30 น. ณ ลานสร้างสุข เริ่มด้วยการแสดงของคณะนักร้อง ประสานเสียงเยาวชนไทย Thai Youth Choir (TYC) และการแสดงของวงดุริยางค์เยาวชนไทยในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ Thai Youth Orchestra (TYO)
ส่งท้ายด้วยการแสดงดนตรีลีลาศ โดยวง “สุนทราภรณ์” ตั้งแต่ 18.00-21.00 น. ขอเชิญ พี่น้องประชาชนเข้าร่วมฟังและร่วมยักย้ายส่ายเอว รำลึกความหลังในการเต้นรำกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ 50-60 ปีก่อน กันได้ที่ลานแห่งนี้
วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน จะเป็นคิวของวงดนตรีไทยบ้างละครับ เริ่มจากการแสดงมหาดุริยางค์ ไทย เวลา 09.30-10.30 น. ณ หอประชุมใหญ่ ตามด้วยการเสวนา “สุนทรียดนตรีไทยจากรากเหง้าสู่อิทธิพลใหม่” ณ หอประชุมเล็ก ตามด้วยการแสดงดนตรีไทยโดยโรงเรียนดนตรีไทย 8 แห่ง (ระดับโรงเรียน 6 แห่ง ระดับมหาวิทยาลัย 2 แห่ง) ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย เวลา 13.00-16.00 น.
ส่งท้ายด้วยการแสดงปี่พาทย์ประชันวงโดยวง “บ้านบัวหลวง” กับวง “ทับพรวาทิต” เวลา 16.00-18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ และตบท้ายด้วยการแสดงดนตรีไทยร่วมสมัยของวงดนตรี “เพชรจรัสแสง” กับ วงดนตรี “สมทรง” เวลา 18.30-20.30 น.
ส่วนการแสดงวันสุดท้ายของมหกรรมชุดนี้ จะยกยอดไป วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน เริ่มด้วยการเสวนา “เส้นทาง” สู่ 84 ปี สุนทราภรณ์ เวลา 10.30-12.30 น. ณ หอประชุมเล็กและการ แสดงคอนเสิร์ต (ฟรี) “84 ปี สุนทราภรณ์” ณ หอประชุมใหญ่ เวลา 14.00 น. ถึง 16.30 น. ที่เมื่อวานนี้ “เสาร์สารพัน” ในคอลัมน์ เหะหะพาที บอกว่าจะมีขึ้นในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นโปรแกรมเก่าจริงๆ แล้วเปลี่ยนมาแสดงวันที่ 9 เม.ย.ครับ แฟนๆ สุนทราภรณ์โปรดทราบด้วย
ต้องบอกว่าเป็น “มหกรรมดนตรี” ที่ยิ่งใหญ่ จริงๆ และยังไม่หมดเพียงแค่นี้…กระทรวงวัฒนธรรม จะจัดขึ้นอีกหลายเทศกาลไปจนถึงปลายปี โปรด ติดตามไปเรื่อยๆ นะครับ งานมาถึงเมื่อไรคอลัมน์นี้ จะเรียนย้ำเตือนอีกทีครับ ย.ห.อย่าห่วงจ้า!
“ซูม”