มีเวลา “คิด” อีก 51 วัน “14 พฤษภา” ชี้ชะตาประเทศ

เมื่อวานนี้หลังจากส่งต้นฉบับไปตีพิมพ์สักชั่วโมงเห็นจะได้ ท่านเลขาธิการ กกต. แสวง บุญมี ก็ออกมาแถลงข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.มีมติเห็นชอบกับร่างแผนจัดการเลือกตั้ง ส.ส.สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ตามที่เสนอเพื่อพิจารณาทุกประการ

โดยเฉพาะเรื่อง “ปฏิทิน” หรือวันเวลาว่าด้วยขั้นตอนที่สำคัญๆของการเลือกตั้งนั้น คณะกรรมการใหญ่เห็นด้วยทั้งหมดและให้ประกาศเพื่อพี่น้องประชาชนชาวไทยได้รับรู้รับทราบโดยเร็วที่สุด

นั่นก็คือ กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ได้แก่ วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม วันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า (ทั้งในเขตและนอกเขต) ได้แก่ วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม

วันเปิดรับสมัคร ส.ส.แบบ แบ่งเขตเลือกตั้ง ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนถึง 7 เมษายน

วันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบ บัญชีรายชื่อ และพรรคการเมืองแจ้งบัญชีรายชื่อ บุคคล ที่จะเสนอ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 4 เมษายนถึง 7 เมษายน

สำหรับวันสุดท้ายของการ เพิ่มชื่อ ถอนชื่อ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคือ วันที่ 3 พฤษภาคม และวันแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ วันที่ 7-13 พฤษภาคม และ 15-21 พฤษภาคม

วันสำคัญที่สุดจากถ้อยแถลงของท่านเลขาธิการ กกต. ก็คือวัน อาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็น “วันเลือกตั้ง” หรือวันที่พวกเราชาวไทยทั้งหลายจะไปเข้าคูหาเลือกตั้งแล้วกาบัตรนั่นเอง

ในการเข้าคูหาของพวกเราครั้งนี้ จะมีบัตรมาให้เรากา 2 บัตร…โดยบัตรหนึ่งจะใช้เพื่อเลือก ส.ส.เขต ที่มาสมัครในเขตเรา และบัตร 2 จะใช้เลือกพรรคเพื่อนำไปสู่การคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือ คราวที่แล้วเรากาใบเดียวเลือกคนเลือกพรรคไปพร้อมๆ กัน แต่คราวนี้เราต้องแยกกาคนละบัตร

ส่วนความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับการกาบัตรทั้ง 2 ใบนี้ก็คือ…ครั้งที่แล้วเราเลือก ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แต่ครั้งนี้เราจะเลือก ส.ส.เขต 400 คน และบัญชีรายชื่อแค่ 100 คนเท่านี้ จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ซึ่งยังคงอยู่ที่ 500 คนตามเดิม

ผลที่จะตามมาจากการกาบัตรทั้ง 2 ใบนี้ก็คือ…เมื่อมีการนับบัตรเสร็จสิ้นแล้ว เราจะทราบได้ทันทีว่าพรรคไหนจะได้ ส.ส.เขตกี่คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน รวมเป็นทั้งหมดกี่คน

ทำให้พอจะรู้ได้คร่าวๆ ณ นาทีนั้นว่า พรรคไหนจะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลและบุคคลท่านไหนจะมีโอกาสเป็น “นายกรัฐมนตรี”

แม้ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” จะไปเลือกกันภายหลังในการประชุมร่วมของสภาทั้ง 2 แต่ผลจากคะแนนที่ออกมาจากการกาบัตรของพวกเราก็พอจะบอกได้ในเบื้องต้นว่า “นายกฯ คนใหม่” หรือ “นายคนใหม่” ของพวกเรา “ชาวกบ” แห่งประเทศไทยจะได้แก่ใคร

ผมถึงได้เรียนท่านผู้อ่านอยู่ตลอดเวลาว่า การกาบัตรของพวกเราในวันที่ 14 พฤษภาคมจะส่งผลไปถึงการ “เลือกนาย” ของพวกเราชาวกบอย่างมาก

จะต้องพินิจพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ก่อนกาบัตรเพื่อจะไม่เผลอไปเลือก “นกกระสา” มากินพวกเรา ชาวกบในที่สุด

ระหว่างนี้พวกเราชาวกบยังมีเวลาถึง 51 วัน นับจากวันนี้ (ศุกร์ 24 มี.ค.) ไปถึงวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ก็ขอให้ทำการบ้านติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิด

ตามให้ครบทุกสำนักข่าว ทุกช่องทีวี ทุกหนังสือพิมพ์ แล้วนำมา “กรอง” ครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจด้วยตัวเราเอง

ปกติแล้วช่วงต้นๆ เดือนหรือกลางเดือนพฤษภาคม อากาศมักจะร้อนมาก และเหตุการณ์ทางการเมืองก็เคยมีเรื่องร้อนที่สุดคือ เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” (17-24 พฤษภาคม พ.ศ.2535) เมื่อ 31 ปีที่แล้ว

สำหรับฤกษ์เลือกตั้งหนนี้ของเราอยู่ที่ 14 พฤษภาคม น่าจะไม่ร้อนเท่า เผลอๆ จะร่มเย็นด้วยซ้ำ เพราะปีนี้ร้อนมาเร็วมาก แค่ต้นมีนาคมนี่ก็ร้อนจะแย่อยู่แล้ว พอถึงต้นพฤษภาคมจึงอาจจะเย็นลง

ดีเหมือนกันครับ เลือกตั้ง “14 พฤษภาคม” เราจะได้ลืม “พฤษภา ทมิฬ” กันเสียที หันมาชื่นชม “พฤษภาประชาธิปไตย” ทดแทน

ข้อสำคัญ ขออย่ามีใครมาทำอะไรวุ่นวายจนเสียบรรยากาศประชาธิปไตยก็แล้วกันนะครับ.

“ซูม”

มีเวลา “คิด” อีก 51 วัน “14 พฤษภา” ชี้ชะตาประเทศ, เลือกตั้ง, ส.ส., พฤษภาทมิฬ, นายกรัฐมนตรี, การเมือง, ประเทศไทย, ซูมซอกแซก