ปลูก “ยูงทอง” ไว้เคียงโดม “59 ปี” แห่งความทรงจำ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเผยแพร่ในสื่อออนไลน์หลายสำนักว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือที่มีชื่อย่อว่า “อมธ.” ออกมาประกาศเลิกใช้เพลงพระราชนิพนธ์ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ที่มักเรียกกันว่า “ยูงทอง” ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของ อมธ.

โดยจะหันมาใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยที่ใช้ท่วงทำนองเพลงไทยเดิม “มอญดูดาว” แทน เพราะได้ทำโพลสอบถามตัวอย่าง 4-5 พันรายแล้ว ส่วนใหญ่เห็นว่าควรจะใช้เพลงดังกล่าวนี้

ส่งผลให้ศิษย์เก่าจำนวนมากมีการโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ตอบโต้แนวความคิดของ อมธ.

สำหรับผมในฐานะที่เป็นศิษย์เก่า “ข้ามรุ่น” คือมีโอกาสอยู่ในบรรยากาศของเพลงประจำมหาวิทยาลัย “มอญดูดาว” เป็นเวลา 3 ปีเศษ และ แม้จะอยู่ในบรรยากาศของเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” เพียงไม่กี่เดือนก็จริง แต่ยังจดจำความประทับใจที่เกิดขึ้นแก่ผม ณ วันกำเนิดเพลง “ยูงทอง” ได้จนถึงวันนี้

เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมต้องออกมาปฏิเสธความคิดของ อมธ.ด้วยอีกแรงหนึ่ง เพราะในฐานะคนไทยที่ยึดมั่นใน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” อย่างเหนียวแน่น ผมเห็นว่าเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” มีคุณค่าเหมาะสมทุกประการที่จะเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยของเรา

ขอเชิญอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ “สารเสรี” ฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2506 ซึ่งเป็น 1 ในหนังสือพิมพ์ที่ลงข่าวประทับใจนี้เมื่อ 59 ปีที่แล้ว และผมเห็นว่าลงได้ครบถ้วนที่สุด…จึงขออนุญาตหยิบมาเป็นตัวแทนดังนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างไปรเวต และทรงปลูกต้นหางนกยูงไม้ประจำมหาวิทยาลัย 5 ต้น เท่ากับคณะการศึกษาของมหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น

หลังจากทรงปลูกต้นหางนกยูง พล.อ.ถนอม กิตติขจร อธิการบดีมหาวิทยาลัย ได้กราบบังคมทูลเชิญเข้าสู่หอประชุมมหาวิทยาลัย ซึ่งมีวงดนตรีและนักศึกษาเฝ้าฯรับเสด็จประมาณ 5,000 คน จนล้นออกมานอกห้อง

พล.อ.ถนอมได้กราบบังคมทูลในนามของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า มีความปลื้มปีติยินดีเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาปลูกต้นหางนกยูง ซึ่งจะยังความร่มเย็นและออกดอกในวันข้างหน้า มวลคณาจารย์และนักศึกษาต่างอบอุ่นเป็นอันมากที่ได้เฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด จากนั้นก็กราบบังคมทูลเชิญล้นเกล้าฯ ทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของมหาวิทยาลัยทั้งคณะ โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ร่วมวงด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่นักศึกษา ก่อนที่จะทรงดนตรีว่า การเสด็จครั้งนี้ พระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ขอให้ดับไฟสปอตไลต์เสียเพื่อจะทอดพระเนตรนักศึกษาให้ทั่วถึง

มีพระราชดำรัสต่อไปว่า ที่พระราชดำเนินมางานนี้ เพราะทรงเป็นหนี้แก่นักศึกษา จึงได้เสด็จมาปลูกต้นหางนกยูงให้ จึงขอให้คอยช่วยกันดูแลและบำรุงรักษา จะได้ผลิดอกออกผลให้ความร่มเย็นในภายหน้า

เกี่ยวกับที่พระองค์รับสั่งว่าเป็นหนี้นักศึกษานั้น เนื่องจากนักศึกษาได้ไปตั้งแถวคอยรับแขกต่างประเทศ และได้เปล่งเสียงไชโย ซึ่งเป็นการดี เพราะประมุขชาวต่างประเทศที่มาต่างก็พอใจมากที่ได้รับการต้อนรับอย่างดี การสร้างมิตรสัมพันธ์นั้นจะเกิดแต่รัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทั้งประชาชนและนิสิตนักศึกษา และคราวหน้าที่จะถึง พระเจ้ากรุงกรีก จะเสด็จมา จึงขอความร่วมมืออีกครั้ง

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเข้าร่วมทรงดนตรี โดยทรงแซกโซโฟน เพลงแรกพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองให้เป็นเพลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังไม่มีเนื้อร้อง บรรดาคณาจารย์ ตลอดจนนักศึกษาที่เข้าเฝ้าฯ ได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงเล่นเพลงพระราชนิพนธ์ดังกล่าวกว่า 10 ครั้ง โดยแต่ละครั้งก็จะมีผู้ขอบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนอานันทมหิดลได้เงินถึง 4 หมื่นบาทเศษ

นักศึกษาต่างกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปียโน ซึ่งพระองค์ทรงอย่างคล่องแคล่วและไพเราะ ทำให้นักศึกษาเงียบกริบทั้งห้องประชุม เมื่อจบแล้วเสียงปรบมือก็ดังขึ้นอย่างกึกก้อง ทรงมีพระราชเสาวนีย์สั้นๆ ว่า “เล่นไม่เป็น ลืมเสียบ้างแล้ว”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงดนตรีอยู่เป็นเวลานาน ตั้งแต่ 17.00-20.00 น. จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ

(อ่านต่อพรุ่งนี้)

“ซูม”

ข่าว,​ ธรรมศาสตร์, เพลง, ยูงทอง, ซูมซอกแซก