ตำนาน “วอลเลย์ไทย” กว่าจะก้าวมาถึง “วันนี้”

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าในท่ามกลาง “ความทุกข์” ที่ถาโถมเข้าใส่คนไทยอย่างหนักหนาสาหัส นับตั้งแต่โควิด–19, เศรษฐกิจถดถอย, น้ำมันแพง ของแพง, ผู้คนตกงาน ฯลฯ สารพัดสารเพนั้น… เรายังมี “ความสุข” อย่างยิ่งหลงเหลืออยู่ประการหนึ่ง

นั่นก็คือ “ชัยชนะ” ของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยชุดที่เดินทางไปร่วมแข่งขัน ในศึก “วอลเลย์” ระดับโลก “เนชันส์ลีก 2022” ซึ่งจะแข่งกันในหลายๆ ประเทศสำหรับรอบแรก และสนามแรกที่เราไปร่วมก็คือ ที่กรุงอังการา ประเทศตุรเคีย ชื่อใหม่ล่าสุดของประเทศตุรกีนั่นเอง

จากการลงสนาม 4 ครั้ง เราชนะได้ถึง 3 ครั้ง เริ่มจากการปราบบัลแกเรีย 3-0, ชนะเซอร์เบีย 3-2, พลาดท่าแพ้เบลเยียม 2-3 แล้วกลับมาชนะ จีน ทีมอันดับ 2 ของโลก อันดับ 1 ของเอเชีย ได้ 3-2 เซต อย่างที่ต้องใช้คำว่า “โคตระมันส์”

เหนืออื่นใด แม้ผลการแข่งขันเราจะไม่ชนะรวดทุกนัด แต่ถ้าวัดรวมทั้งหมดของทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นองค์ประกอบของการแข่งขันกีฬา โดยเฉพาะการดูการเชียร์ และความชื่นชมของแฟนๆ เข้าไปด้วยแล้ว ทีมสาวไทยของเราไม่แพ้ใครเลยแม้แต่นัดเดียว

เธอสามารถเอาชนะใจของผู้คนได้เกือบทั่วโลก แม้กระทั่งผู้คนที่เป็นกองเชียร์ของชาติที่พวกเธอเอาชนะไปได้หยกๆ นั่นเอง

คำถามก็คือ ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เพราะถ้าใครที่ติดตามวอลเลย์บอลมาตลอด จะทราบดีว่ากีฬาประเภทนี้คนไทยแทบไม่รู้จักมาก่อน

มิหนำซ้ำเมื่อมีการเริ่มแข่งขัน เริ่มก่อตั้งสมาคม ขึ้นในประเทศเรายุคแรกๆ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด กลายเป็นกีฬาที่ไร้ความหวัง ไร้เหรียญทอง เพราะ คนไทยยังไม่รู้จัก จึงไม่ชอบเล่น ไม่ชอบดู

ช่วงที่การแข่งขันในภูมิภาคนี้ยังเป็น เซียพเกมส์ อยู่ เราก็พอได้เหรียญทองชายบ้าง หญิงบ้าง เพราะมีแข่งเพียงไม่กี่ประเทศ แต่พอขยายเป็น ซีเกมส์ เราแทบไม่มีโอกาสสัมผัสเหรียญทองเลย และในระดับ เอเชียนเกมส์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ ในช่วงการแข่งขันซีเกมส์ครั้งที่ 10-11 และ 12 ระหว่าง พ.ศ.2522-2524-2526 วอลเลย์บอลไทยเราตกต่ำมาก ถึงขั้นไม่ได้เหรียญใดๆ แม้แต่เหรียญเดียว ไม่ว่าทีมชายหรือทีมหญิงก็ตาม

จึงเป็นที่มาของการ “ปฏิรูป” และ “กอบกู้” สมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยครั้งใหญ่ เมื่อกรรมการใหม่คนหนึ่งที่ชื่อ กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม เจ้าของบริษัทกีฬา แกรนด์สปอร์ต ได้ชักชวนกรรมการทั้งชุดไปเรียนเชิญให้ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ.นั้น…ปลัด พิศาล มูลศาสตรสาทร มาเป็นนายกสมาคมฯ

กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม เคยกล่าวกับหัวหน้าทีมซอกแซกว่า เราจะต้องเผยแพร่กีฬานี้ไปทั่วประเทศไทยให้จงได้ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งเรามีเด็กนักเรียนที่แข็งแกร่ง และอดทนบึกบึนโดยธรรมชาติ อยู่จำนวนมาก

กระทรวงมหาดไทยดูแลทุกจังหวัดของประเทศไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะปลัดกระทรวงนั้นถือว่าควบคุมและสั่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทุกจังหวัด โดยตรง…นี่คือเหตุผลที่เราตัดสินใจเรียนเชิญท่านปลัดพิศาลมาเป็นนายกสมาคมฯของเรา

เพราะท่านมีบารมีที่สามารถจะสั่งให้ทุกจังหวัดร่วมกันค้นหาช้างเผือกมาให้พวกเราได้… เฮียกิจกล่าวย้ำถึงเหตุผลที่จะไปเรียนเชิญท่านปลัด

ผลปรากฏว่า…ท่านปลัด พิศาล มูลศาสตรสาทร ยอมรับคำเชิญ แม้ท่านจะมีงานล้นมือในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทย และ “ปลัดคู่ใจ” ของนายกรัฐมนตรีไทยในสมัยนั้น อันได้แก่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ด้วยก็ตาม

ปี 2528 ปีแรกที่ท่านปลัดพิศาลเข้ารับตำแหน่งนายกสมาคมฯได้ไม่นาน ประเทศไทยก็เป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ หนังสือ พิมพ์ไทยรัฐ โดย ผอ.กำพล วัชรพล ประกาศโครงการ “สู่เจ้าซีเกมส์” โดย ไทยรัฐ จะขันอาสาเป็นสื่อกลางเชิญชวนบริษัทห้างร้าน หรือสินค้าดังต่างๆ มาร่วมเป็น “สปอนเซอร์” สมาคมกีฬาสมาคมละ 1 ล้านบาททุกสมาคม

เพื่อเป้าหมายในการให้กำลังใจแก่นักกีฬาไทย ให้สามารถคว้า “เหรียญทอง” ให้มากที่สุด จน ประเทศไทยของเราได้ “เหรียญทอง” รวมเป็นอันดับ 1 โค่น อินโด นีเซีย ที่เป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์มาโดยตลอด ให้จงได้

สมาคมวอลเลย์ บอลฯโดยท่านนายกฯ พิศาล มูลศาสตรสาทร ก็ได้เข้าร่วมในโครงการนี้กับเราด้วย และเชื่อว่าท่าน ก็คงจะใช้บารมีของท่านจัดหาสปอนเซอร์เพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการมาสมทบด้วยอย่างแน่นอน ส่งผลให้วอลเลย์บอลของเราก็ได้เหรียญทองด้วย

และแล้วประเทศไทยของเราก็คว้าเหรียญทองครองตำแหน่ง “เจ้าซีเกมส์” ได้ในที่สุด นำความปลาบปลื้มใจมาสู่พี่น้องสาวไทยทั่วประเทศอย่างใหญ่หลวง

จากนั้นมากีฬาวอลเลย์ไทยก็ติดลมบนเป็นกีฬา ยอดฮิตของนักเรียนไทยทั่วประเทศ ทำให้ มีนักกีฬาเก่งๆประเภท “ช้างเผือก” จากภูธรเข้ามา เสริมทัพทีมชาติไทยทั้งชายและหญิงอย่างต่อเนื่อง

ท่านปลัดพิศาล หรือ “ปลัดฮิ” เป็นนายกสมาคมวอลเลย์บอล จนถึง พ.ศ.2536 รวมแล้ว 8 ปีเต็ม ได้สร้างรากฐานไว้จนแข็งแกร่ง

จากนั้นก็เป็นประเพณีที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย จะเข้ามารับช่วงต่อ…เริ่มจากท่าน อารีย์ วงศ์อารยะ (2536-2540), ท่าน ชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์ 2540-2546, ท่าน เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช (2546-2550), ท่าน พงศ์โพยม วาศภูติ (2550-2554) และท่าน สมพร ใช้บางยาง (2554-ปัจจุบัน)

ไม่มีท่านเหล่านี้…วอลเลย์บอลไทยเราคงไม่มี “วันนี้”…จึงขอขอบพระคุณทุกท่านย้อนหลังอีกครั้ง

โดยเฉพาะท่านปลัดพิศาลต้องขอขอบ พระคุณมากที่สุดเป็นกรณีพิเศษ…เข้าใจว่า ณ บัดนี้ ดวงวิญญาณของท่านคงจะติดตามการแข่งขันของลูกๆ หลานๆ ด้วยความสุขอันเปี่ยมล้นจากวิมานแมนเบื้องบน เช่นเดียวกับคนไทยทั้งประเทศ.

“ซูม”

ข่าว, วอลเลย์บอล, หญิง, ไทย, ปลัด พิศาล มูลศาสตรสาทร, ซูมซอกแซก