ร่าง “งบประมาณ” 2566 เหตุผลที่ควร “รับหลักการ”

ดูตามปฏิทินทางการเมืองแล้ว วันนี้ อังคารที่ 31 พฤษภาคม 2565 จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เพราะจะมีการนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ เพื่อการพิจารณาไปจนถึงวันที่ 2 มิถุนายน ว่าจะรับหลักการในวาระแรกหรือไม่

กฎหมายงบประมาณประจำปีต่างๆ ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญและเป็นประเพณีมาตั้งแต่ประเทศเราก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้วว่า หากสภาไม่รับหลักการหรือโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะมีผลทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “การยุบสภา” หรือ “การลาออก” ในทันทีที่แพ้โหวตในสภา

ซึ่งหากอยู่ในสถานการณ์ปกติ รัฐบาลสามารถควบคุมเสียงสมาชิกฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลไว้ได้มากพอสมควร…การลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างงบประมาณก็จะถือเป็นเรื่องปกติเช่นกัน…ไม่มีอะไรที่จะต้องห่วงใยมากนัก

เพราะต่อให้ฝ่ายค้านอภิปรายดุเดือดอย่างไร เข้าเป้ามากน้อยแค่ไหน รัฐบาลก็เอาชนะได้อยู่แล้ว จากเสียงสนับสนุนที่มากเกินกึ่งหนึ่ง

แต่สำหรับการประชุมพิจารณาร่างงบประมาณ 2566 ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางข่าวคราวที่ว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคมีการแบ่งภาคตัวเองออกไป และกลุ่มที่แบ่งภาคนั้นอาจไม่ยกมือสนับสนุนรัฐบาล ฯลฯ

จึงทำให้หวั่นวิตกกันว่า คะแนนเสียงที่จะผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้อาจไม่เพียงพอ…อันจะเป็นผลให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองถึงขั้น “บิ๊กตู่” หัวหน้ารัฐบาลอาจต้องใช้วิธีใดวิธีหนึ่งใน 2 วิธีที่กล่าวถึงข้างต้นก็เป็นได้

ซึ่งก็ล้วนแต่จะมีผลเสียต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้การเดินไปข้างหน้าต้องหยุดชะงักลง รวมถึงความพยายามที่จะแก้ปัญหาใหม่ๆที่เกิดจากเศรษฐกิจโลกถดถอยอันเป็นผลโดยตรงของโควิด-19 และสงครามรัสเซีย ยูเครนต้องพลอยสะดุดไปด้วย เพื่อรอรัฐบาลใหม่หรือการเลือกตั้งใหม่

ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมมาพอสมควร คงจะตระหนักดีว่า ผมไม่ชอบเขียนเรื่องการเมืองเท่าไรนัก

จะเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาประเทศเสียมากกว่า โดยมุ่งให้ความรู้ ความคิดในการที่จะช่วยกันผลักดันให้ประเทศของเราก้าวไปข้างหน้า ทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามประสาคนที่เคยเรียนมาทางด้านนี้ และเชื่อว่าประเทศไทยเรายังมีโอกาสสูงมาก

ด้วยเหตุที่เจตนารมณ์และเป้าหมายของผมเป็นเช่นนี้ ผมจึงอยากเห็นนักการเมืองทุกฝ่ายรักใคร่ กลมเกลียวกัน ร่วมมือร่วมใจกันที่จะนำพาประเทศไทยของเราไปสู่ความเจริญในทุกๆด้านที่ปรารถนา

มิใช่ทะเลาะเบาะแว้งกันหรือต่อสู้กันเอาเป็นเอาตายอย่างที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในบ้านเรา…จนเป็นเหตุให้การพัฒนาประเทศของเราไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร บางครั้งถือถึงขั้นถดถอยอย่างน่าเสียดายยิ่ง

ผมจึงมีความเห็นในกรณีที่กำลังจะเกิดขึ้นขณะนี้ว่า ทุกฝ่ายควรจะผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ฉบับนี้ไปก่อน…โดยให้ฝากข้อคิดข้อปฏิบัติที่จะปรับปรุงแก้ไขหรือตัดทอนเอาไว้อย่างมีเหตุมีผล

จากนั้นก็ตามไปตัดไปลดในชั้นกรรมาธิการ โดยว่ากันให้ละเอียดก่อนจะส่งกลับมาผ่านวาระ 2-3 เพื่อใช้งานให้ทันท่วงที สำหรับปีงบประมาณ 2566 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 นี้เป็นต้นไป

ส่วนการจะเล่นเกมล้มรัฐบาลนั้น รอไว้ว่ากันในกฎหมายอื่น ซึ่งหากไม่มีก็ขอให้ใช้วิธีอื่นๆตามครรลองประชาธิปไตย หรือหากไม่มีที่จะใช้ได้เลยจริงๆ ก็อดใจรอเลือกตั้งคราวหน้า หลังรัฐบาลหมดวาระในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งก็เหลืออีกไม่กี่เดือนเท่านั้น

จากนั้น ถ้าบิ๊กตู่ยังมีความประสงค์จะเป็นต่อ เราค่อยมาหาทางทัดทานหรือคัดค้าน ชี้ให้ท่านเห็นถึงผลเสียของการอยู่เกิน 8 ปีหรือ 10 ปี ซึ่งผมจะร่วมทัดทานด้วยอีกแรงหนึ่ง

เพราะผมยังมั่นใจและเชื่อในทฤษฎี 8 ปี (อย่างเก่งไม่เกิน 10 ปี) ดังที่เขียนไว้วันก่อนว่า เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการบริหารประเทศของผู้นำคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ทั่วโลก

ผมขอเสนอว่า ยกมือรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ไปก่อน เพื่อให้มีงบประมาณสำหรับบริหารประเทศปี 2566 อย่างทันท่วงที

จากนั้นก็อดใจรอให้ถึง 23 มีนาคม 2566 วันที่รัฐบาลนี้ครบวาระและจะมีการเลือกตั้งใหม่คราวหน้า เราค่อยมาตัดสินใจกันอีกทีว่า จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย?

“ซูม”

ข่าว, ร่างงบประมาณ, พ.ร.บ., รัฐบาล, กฎหมาย, ซูมซอกแซก