จากไปอีกหนึ่ง “ตำนาน” ครูเพลง “ชาลี อินทรวิจิตร”

ผมเพิ่งเขียนอำลาอาลัย “ลุงเลิศ” หรือ “เลิศ อัศเวศน์” ตำนานนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนของประเทศและของไทยรัฐ ที่เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโควิด-19 ไปเมื่อวานนี้หมาดๆ…วันนี้ก็ได้ข่าวการสูญเสียของ “ตำนาน” อีกท่านหนึ่ง ได้แก่ ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ สุดยอดบรมครูนักแต่งเพลงของประเทศไทยนั่นเอง

ครู ชาลี อินทรวิจิตร หรือ “พี่หง่า” ที่ญาติสนิทมิตรสหายเรียกท่านอย่างติดปาก เพราะมีชื่อจริงว่า สง่า อินทรวิจิตร จากไปอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา 00.45 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลศิริราช หลังจากเข้าพักรักษาตัวอยู่ที่นี่มาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว

พี่หง่า เกิดเมื่อ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2465 ปีเดียวกับ ลุง เลิศ อัศเวศน์ แต่อ่อนเดือนกว่า อายุจึงยังไม่ครบ 99 ปี ขาดไปเพียง 2 เดือนเท่านั้น… กระนั้นก็ถือได้ว่าเป็นคนรุ่นเดียวกัน และดูจากประวัติของท่านทั้ง 2 แล้ว น่าจะเดินทางมาเผชิญโชคชะตาในกรุงเทพมหานครในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

ลุงเลิศมาจาก สมุทรสงคราม ในขณะที่ครูชาลีมาจาก สมุทรสาคร ถือเป็นจังหวัดพี่จังหวัดน้องที่ใกล้ชิดติดกันจนแทบจะแยกไม่ออกว่างั้นเถอะ

ลูกศิษย์ลูกหาและบุคคลในวงการเพลงเพิ่งจัดคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อครูชาลีไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมานี่เอง ในชื่อคอนเสิร์ต “99 ปีครูชาลี อินทรวิจิตร เพลงคู่แผ่นดิน หนึ่งในจักรวาล” ระดมนักร้องทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง และรุ่นใหม่เอี่ยมอ่องมาร่วมขับร้องเพลงที่แต่งโดยครูชาลีถึงกว่า 40 เพลง จากจำนวนเกือบ 1,000 เพลง ที่ครูแต่งไว้

ท่านผู้อ่านคงจำได้…คอลัมน์นี้ได้ช่วยเขียนประชาสัมพันธ์ให้ถึง 2 วันซ้อน ทั้งด้วยการเขียนสั้นๆ แบบโหมโรงในฉบับวันเสาร์ และเขียนอย่างละเอียดในคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์แบบเต็มคอลัมน์

ในวันแสดงผมก็นั่งดู “ไลฟ์สด” ทาง “ยูทูบ”…ได้ทั้งอารมณ์ได้ทั้งรสชาติ ประทับใจอย่างยิ่งมาจนถึงวันนี้

ทราบว่าครูชาลีมีโอกาสได้ดูชม “ไลฟ์สด” คอนเสิร์ตเพื่อท่านครั้งนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบเช่นกัน ขณะนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยความตื้นตันใจ และมีความสุขอย่างยิ่ง

แต่ก็น่าเสียดายที่เพียง 2 เดือนให้หลัง ท่านก็จากไปเสียก่อน… ไม่มีโอกาสที่จะอยู่ฟังคอนเสิร์ตที่หลายๆ ฝ่ายรับปากว่าจะจัดให้ท่านอีก อย่างแน่นอน เมื่ออายุครบ 99 ปี หรือ 100 ปี ในปีหน้าปีโน้นที่จะมาถึง

พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วว่า การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นธรรมดาของโลก…ดังนั้น แม้จะเสียใจเพียงใดและเสียดายเพียงใด ผมเชื่อว่าแฟนเพลงของครูชาลีทุกคนย่อมจะทำใจได้…โดยถือว่าท่านจากไปสู่ความสุขและความสงบ ณ สวรรค์เบื้องบนแล้ว

สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ “มรดกเพลง” เกือบ 1,000 เพลงที่ครูบรรจงแต่งเนื้อร้องไว้อย่างวิจิตรและการใช้ภาษาไทยอันไพเราะแบบกวีพื้นบ้าน ให้คนไทยได้นำไปขับร้องสืบทอดจากรุ่นถึงรุ่นเรื่อยๆ ไปโดยไม่สิ้นสุด

โดยส่วนตัวผมชอบเพลงครูชาลีมากเป็นพิเศษอยู่เพลงหนึ่ง และได้เคยเขียนไว้บ้างแล้วเมื่อครั้งเขียนถึงการจากไปของพี่ สุเทพ วงศ์กำแหง คือเพลง “บ้านเรา” นั่นแหละครับ

เพลงที่คนไทยไม่ว่าไปเรียนหนังสือหรือไปประกอบอาชีพต่างๆ ที่ต่างแดนยุคก่อนๆ จะมาตั้งวงร้องร่วมกันเวลาเหงาๆ และคิดถึงบ้าน

ยุคนี้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปมาก ผมไม่แน่ใจว่าคนไทยยุคใหม่จะยังคิดถึงบ้านเราอยู่อีกหรือไม่ เพราะ 2-3 วันมานี้ก็ชักมีเสียงบ่นจากผู้คนหลายแสนคนแล้วเหมือนกันว่าไม่อยากอยู่เมืองไทย

ก็เป็นเรื่องของความคิดความเห็นและเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนที่จะเดินทางไปทำมาหากินต่างแดน หรือเลือกจะไปอยู่ต่างแดน…ใครสามารถไปได้ก็ไปเถิด คงไม่มีใครหวงห้ามท่านไว้ได้

แต่สำหรับผมยังมั่นใจว่าเพลง “บ้านเรา” ของครู ชาลี อินทรวิจิตร จะยังคงศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอ โดยเฉพาะในท่อนที่ร้องว่า “บ้านเราแสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหนไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา”

ขอบคุณสำหรับ “วรรคทอง” ของครูชาลีวรรคนี้…วรรคที่จะอยู่ในหัวใจคนไทยไปตราบนานเท่านาน เพราะผมเชื่อว่าไม่มีที่ไหนจะสุขใจเหมือนบ้านเรา

สำหรับครูชาลีซึ่งจากพวกเราไปแล้วนั้น ท่านมิได้จากไปไหนไกลหรอก…เพราะสรวงสวรรค์ที่ท่านขึ้นไปจุติอยู่นั้น ก็คือสรวงสวรรค์ในส่วนที่เป็นของประเทศไทยเรานี่แหละ

ท่านยังอยู่กับ “พวกเรา” ใน “บ้านเรา” หลังนี้ครับ.

“ซูม”

ข่าว, เพลงไทย, ชาลี อินทรวิจิตร, ตำนาน, นักแต่งเพลง, เพลงบ้านเรา, ซูมซอกแซก