ทุกครั้งที่ผมนึกถึงตัวอย่างของคนเรียนเก่งแล้วอุทิศตัวช่วยเหลือคนไม่ค่อยเก่ง หรือคนด้อยโอกาสและอ่อนแอช่วยตนเองไม่ได้ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมไทยเรานั้น ผมจะนึกถึงคุณหมอประเวศ วะสี อยู่เสมอ
คุณหมอประเวศเรียนเก่งแน่นอน เรียนเก่งตั้งแต่เป็นเด็กๆ อยู่ที่กาญจนบุรีแล้ว สอบเข้า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นแหล่งคัดกรองคนเก่ง ขนานแท้แห่งหนึ่งของประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน
ท่านสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จนจบปริญญาแพทยศาสตร์เกียรตินิยม
สุดท้ายท่านจบปริญญาเอกจากคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโคโลราโด ณ เมืองเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา
ถ้าคุณหมอจะไปปักหลักทำมาหากินอยู่ที่ต่างประเทศ ไม่ว่า สหรัฐฯ หรืออังกฤษ ก็คงไม่ใช่เรื่องยากลำบากนัก
แต่หมอประเวศก็เลือกจะกลับมารับราชการในประเทศไทยด้วยการเป็นอาจารย์แพทย์ และแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ระหว่างเป็นอาจารย์แพทย์ก็เขียนหนังสือออกแสดงปาฐกถาให้ความรู้ด้านการแพทย์แก่ประชาชนทั่วไป พร้อมกับให้ความสนใจด้านงานวิจัยทั้งในด้านแพทย์และต่อมาก็วิจัยเกี่ยวกับทางด้านสังคมต่างๆ ของประเทศไทย จนมีความรู้ด้านสังคมไทยและการเมืองไทยอย่างกว้างขวาง
ในด้านการเมืองนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่กล่าวกันว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดของประเทศไทยเป็นการริเริ่มจุดพลุโดยคุณหมอ ประเวศ นี่แหละครับ
อีกคนเก่งที่ขันอาสามาช่วยคนไม่เก่งในประเทศไทยอีกท่านหนึ่งเป็น “แพทย์” เช่นกัน ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช อดีตประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, อดีตผู้ก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม และอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
ท่านสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้เป็นที่ 1 ของ ต.อ.รุ่น 21 (ปี พ.ศ.2501) และจบติดบอร์ดเป็นที่ 1 ของประเทศไทยในปีการศึกษา 2502 สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์ และข้ามฟากเป็นนิสิตแพทย์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จนจบแพทยศาสตรบัณฑิต
จากนั้นจึงไปเรียนต่อจนจบวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตสาขามนุษย์พันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
เช่นเดียวกับคุณหมอประเวศ หากคุณหมอจะไปทำงานที่ต่างประเทศก็น่าจะประสบความสำเร็จมีเงินมีทองเป็นกอบเป็นกำไปแล้ว
แต่ท่านก็เลือกที่จะมาเป็นอาจารย์แพทย์ในประเทศไทยแล้วก็เลือกที่จะทำงานด้านสนับสนุนการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่ท่านให้ความสนใจอย่างมากในภายหลัง
คุณหมอวิจารณ์เขียนหนังสือเอาไว้เกือบ 50 เล่ม
คนเก่งอีกท่านหนึ่งที่ชื่อของท่านลอยเข้ามาสู่ความคิดของผม เคียงคู่กับคุณหมอวิจารณ์ พานิช ได้แก่ คุณ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
ที่นึกถึงคู่กันก็เพราะท่านเป็นนักเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือ ต.อ.21 รุ่นเดียวกันและน่าจะติดบอร์ดอยู่ในอันดับต้นๆ เช่นเดียวกัน
ไพบูลย์เลือกสอบเข้าวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ แต่ก็มาสอบชิงทุนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษรุ่นเดียวกับเพื่อนเตรียมอุดมอีกคนของเขาที่ชื่อ วิจิตร สุพินิจ
ไพบูลย์กลับมาทำงานแบงก์ชาติ ประสบความสำเร็จเคียงคู่มากับ วิจิตร สุพินิจ มาโดยตลอด แต่แล้ววันหนึ่งไพบูลย์ก็ตัดสินใจลาออกจากแบงก์ชาติ ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่จังหวัดชัยนาท
ทุ่มเทความรู้ความสามารถของท่านให้แก่การพัฒนาชนบทและชุมชนเมืองมาตั้งแต่นั้น
ผลงานของไพบูลย์ในช่วงลงไปพัฒนาชนบทและชุมชนเมืองมีส่วนในการช่วยชุบชีวิตคนยากจนของประเทศไทยจำนวนมาก
ครับ! วันนี้เรายกตัวอย่างคนเรียนเก่งที่อุทิศตนเพื่อช่วยสังคมในอดีตมาแนะนำท่านผู้อ่านรวม 3 ท่าน โดยเลือกจากคนที่ผมรู้จักและสนิทชิดเชื้อ เพื่อจะยืนยันได้เต็มปากว่า “คนเก่งมาก” ของประเทศไทยเราในอดีตจำนวนหนึ่งนั้น ไม่เคยทอดทิ้งคนไม่เก่งเลยแม้แต่น้อย
พรุ่งนี้ผมขอเอ่ยถึงคนเก่งของประเทศไทยในภาพรวมอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อที่จะสรุปขอบคุณพวกเขาทุกคน ที่ช่วยกันสร้างประเทศไทยของเราจนแข็งแกร่งอย่างที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้.
“ซูม”