“คนเก่ง” ช่วย “คนไม่เก่ง” บนเส้นทางการพัฒนาไทย

เมื่อวานนี้ผมหยิบข่าวที่ธนาคารโลกแถลงด้วยความห่วงใย เรื่องการศึกษาไทย “ถดถอย” ใช้เงินต่อหัวเยอะแต่ผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยกลับออกมาต่ำ…ทางธนาคารโลกจึงได้เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาแก่รัฐบาลไทย 3–4 ประการ

ซึ่งผมก็ขอบคุณเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก และเห็นด้วยกับข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งได้ฝากข้อคิดส่วนตัวของผมไว้ประการหนึ่งว่า ที่ผ่านมาบ้านเรามีรูปแบบในการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาประเทศที่เป็นเอกลักษณ์ของเราที่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีในชาติอื่นใดหรือไม่?

ในระหว่างที่การปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะธนาคารโลก หรือแม้แต่จะปรับปรุงแล้วก็ตาม ผมก็ยังอยากเห็นหรืออยากให้ “รูปแบบ” หรือ “โมเดล” ดังกล่าวนี้อยู่คู่ประเทศตลอดไป

เพราะผมเชื่อว่า “รูปแบบ” ที่ว่านี้แหละที่ทำให้ประเทศไทยก้าวหน้ามาได้ไกลพอสมควร จากประเทศด้อยพัฒนารายได้ต่ำขนานแท้ มาเป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางขั้นสูง และจ่อจะขึ้นชั้นเป็นประเทศรายได้สูงขั้นต้นอยู่ในขณะนี้ (แต่มาโชคร้ายเจอโควิด-19 เข้าให้ซะก่อน)

ความจริงคุณภาพของเด็กไทยเราก็ค่อนข้างอ่อนมานานแล้ว เอาไปสอบไปวัดตามมาตรฐานสากลจะระบบอะไรก็ตาม ผมว่าเราก็จะอยู่ในอันดับท้ายๆ อยู่เสมอ

อย่าว่าแต่ระดับเด็กอายุ 15 ปีที่มีการวัดผลที่เรียกกันว่า PISA ดังตัวเลขของปี 2561 ที่ธนาคารโลกอ้างในการแถลงข่าวครั้งนี้เลย

ระดับผู้ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย คือระดับจบมหาวิทยาลัยไทยๆ ถ้าเอาไปวัดกับใครๆ เขาผมก็เชื่อว่า เราก็จะอยู่ที่ล่างๆ นั้นแหละ

เป็นมาตั้งแต่รุ่นผม เมื่อ 40-50 ปีโน่นแล้วครับ…คะแนนเฉลี่ย สอบโทเฟลของพวกเราที่จะไปเรียนนอกก็อยู่ท้ายๆ แพ้ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งหลายเท่า

นักเรียนไทยรุ่นโน้นแม้จะจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย แต่พอไปเรียนต่างประเทศ จะรู้เลยว่าความรู้ที่เราเรียนไปจากมหาวิทยาลัยในบ้านเรานั้นยังเป็นรองเขามาก

แต่จุดเด่นของคนไทยประการหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นจุดเด่นมานานแล้ว ก็คือคนในระดับท็อป หรือคนเรียนเก่งบ้านเรานั้นเก่งจริงๆ

สมองดีไม่แพ้ชาติไหนในโลก ดังนั้นผู้เข้ามหาวิทยาลัยไทย ซึ่งผ่านการสอบเอ็นฯ ซึ่งถือเป็นเครื่องวัดความเก่งมาระดับหนึ่งแล้ว จึงปรับตัวได้เร็วมาก ในที่สุดก็สามารถเรียนได้ทันฝรั่งและสอบได้คะแนนดีกว่าฝรั่งด้วยซ้ำ เมื่อเรียนไปได้สักพักหนึ่ง

ที่สำคัญจะด้วยวัฒนธรรมประเพณีหรือเสน่ห์ของประเทศไทยเราไม่ทราบได้…ทำให้คนเรียนดีระดับท็อปของประเทศไทยในอดีตนั้น ไม่ว่าจะเรียนจบในประเทศไทย หรือไปจบจากต่างประเทศ ต่างก็รักเมืองไทยรักประเทศที่เป็นบ้านเกิดของตน

ส่วนใหญ่จึงอยู่ทำงานในประเทศไทย หรือบางส่วนอาจจะไปทำงานต่างประเทศพอให้มีประสบการณ์ จากนั้นก็จะกลับมาทำงานในประเทศในภายหลัง

หากเราเหลียวหลังกลับไปจะพบว่าคนเก่งระดับ “ท็อป” หรือ “ครีม” ของไทยเรานั้นมีส่วนในการช่วยพัฒนาประเทศไทยกันมาก

ทำให้เราก้าวหน้ามาได้จนถึงระดับที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ดังตัวอย่าง ที่ผมยกมากล่าวถึงข้างต้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อเห็นคะแนน PISA ของเด็กอายุ 15 ปีของไทยเราบ๊วย เมื่อเทียบกับเด็กชาติอื่นซึ่งแม้ผมจะไม่สบายใจ แต่ก็ไม่วิตกจนเกินเหตุแต่อย่างใด

เพราะผมเชื่อว่าเด็กอายุ 15 ปีของไทยจำนวนหนึ่งจะมีมันสมองดีไม่แพ้เด็กชาติไหนในโลก

ดังนั้นหากเราสร้างระบบและแรงจูงใจให้เด็กเรียนเก่งที่ว่านี้ได้ใช้ความรู้ความสามารถของเขาเพื่อประเทศไทย เพื่อช่วยเด็กอื่นๆ ที่ไม่เก่งและเป็นตัวถ่วงคะแนน PISA ครั้งนี้ ให้เก่งขึ้นในอนาคต ก็จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศต่อไปได้อย่างไม่ติดขัด

ระบบคนเก่งช่วยคนไม่เก่งได้เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรามานานแล้ว ดังนั้น จะแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิรูปการศึกษาอย่างไรก็เชิญเถิด ขอเพียงอย่าลืมจุดแข็งของประเทศเราในข้อนี้เสียก็แล้วกัน

พรุ่งนี้ผมจะมีตัวอย่างของคนเก่งๆ ที่ลงมาช่วยพัฒนาบ้านเรา หลายๆ คน ถ้ายังไม่เบื่อซะก่อนโปรดติดตามต่อนะครับ.

“ซูม”

โรงเรียน, โลก, ธนาคาร, การศึกษา, ประเทศไทย, รัฐบาลไทย, ซูมซอกแซก