การศึกษาไทย “ถอยหลัง” ข้อสังเกตจากธนาคารโลก

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทีมงานของธนาคารโลกประจำประเทศไทย ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานภาพทางการศึกษาของประเทศไทย มีประเด็นที่น่าสนใจหลายๆ ประเด็น ผมขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อในวันนี้นะครับ

ผู้แทนธนาคารโลกเริ่มด้วยการหยิบยกตัวเลขเก่าที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้วหลายหนขึ้นมาเกริ่นนำว่า จากการประเมินทักษะนักเรียนอายุ 15 ปี จากทั้งหมด 79 ประเทศ ตามมาตรฐานสากลหรือ PISA พบว่า เด็กไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

นั่นก็คือ อันดับที่ 68 ด้านการอ่าน อันดับที่ 59 ด้านคณิตศาสตร์ และอันดับที่ 55 ด้านวิทยาศาสตร์

ที่ผมใช้คำว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเก่า ก็เพราะเราได้ยินได้ฟังและได้อ่านกันมาหลายปีแล้ว เนื่องจากเป็นข้อมูลที่มีการประเมินไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ไม่ต่ำกว่า 2 ปีเข้านี้แล้ว

ผู้แทนธนาคารโลกระบุด้วยว่าสาเหตุที่ทักษะเรียนรู้ของเด็กไทยตกต่ำส่วนหนึ่งเกิดจากนักเรียนมีอัตราการขาดเรียนสูง เพราะไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียน ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน

ซึ่งความรู้สึกที่ว่านั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหายากจน ครูไม่มีคุณภาพ เด็กถูกกลั่นแกล้งรังแก รวมถึงการไม่ได้รับกำลังใจและการส่งเสริมจากครอบครัวที่เพียงพอ

นอกจากการนำเสนอในประเด็นเก่าที่ว่านี้แล้ว ผู้แทนธนาคารโลกชุดนี้ยังมีการประเมินตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนักเรียนไทยตั้งแต่ชั้น ป.1 จนถึง ม.3 ว่ามีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวถึง 27,271 เหรียญสหรัฐฯ

ถือว่าประเทศไทยใช้เงินลงทุนทางด้านการศึกษาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน แต่ผลสัมฤทธิ์กลับสวนทางกับการลงทุน

ปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังประการหนึ่งก็คือ การกระจายทรัพยากรไม่ถูกจุด รวมถึงปัญหาการขาดแคลนครูและการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น

คณะผู้แทนธนาคารโลกจึงเสนอว่าโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้เคียงกันควรมีการควบรวม หรือสามารถใช้คณะบุคลากรและอุปกรณ์การศึกษาร่วมกันได้ เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ครับ! ก็เป็นเนื้อหาสาระโดยสรุปที่ผู้แทนธนาคารโลกประจำประเทศไทยแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ผมต้องขอขอบคุณอย่างจริงใจ เพราะเป็นถ้อยแถลงที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการไทย

สำหรับผมเองมีประเด็นทั้งที่เห็นด้วย และที่อยากฝากไว้เป็นข้อสังเกต รวมแล้ว 2-3 ประเด็นดังนี้ครับ

ข้อแรกเลย ผมเห็นด้วยกับเหตุผลที่ว่า “ความยากจน” เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สมรรถนะของเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐานตามเกณฑ์สากลที่ใช้ในการประเมินจนต้องหล่นไปอยู่อันดับท้ายๆ ของการสำรวจ

เพราะแม้เราจะมีการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาความยากจนมานานแล้วก็ตาม…แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหา

ความยากจนยังไม่หมดไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะในชนบทและในชุมชนแออัด ความยากจนเป็นสาเหตุของทุกปัญหาในประเทศละครับ ไม่ใช่เฉพาะแค่ด้านการศึกษาเท่านั้น

อีกประเด็นที่ผมเห็นด้วยก็คือบทวิเคราะห์ว่าด้วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่สูงเกินไป ชนิดสวนทางกับผลสัมฤทธิ์ในการผลิตนักเรียนออกมาอย่างด้อยคุณภาพ จากการสำรวจและประเมินหลายครั้งหลายหน

ขณะเดียวกัน ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของธนาคารโลกที่จะให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน หรือใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งเท่าที่ทราบทางกระทรวงศึกษาธิการก็พยายามทำอยู่แล้ว

สุดท้ายสำหรับความเห็นของผมก็คือ แม้สถานการณ์ด้านการศึกษาที่ผ่านมาจะเลวร้ายเมื่อดูจากข้อมูลตัวเลขดังกล่าวข้างต้น

แต่ในข้อเท็จจริงประเทศไทยของเราก็เอาตัวรอดมาได้ในระดับหนึ่งด้วย “โมเดล” หรือรูปแบบอะไรบางอย่างแบบไทยๆ ที่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีในประเทศอื่นหรือไม่?

เป็น “โมเดล” หรือรูปแบบที่ผมอยากให้คงอยู่ต่อไประหว่างรอ “โมเดล” ใหม่ๆ ทันสมัยต่างๆ ที่นักวิชาการทั้งหลาย รวมทั้งธนาคารโลกกำลังเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้

ขออนุญาตเขียนต่อวันพรุ่งนี้นะครับ.

“ซูม”

โรงเรียน, โลก, ธนาคาร, การศึกษา, ประเทศไทย, รัฐบาลไทย, ซูมซอกแซก