กลับมาอีกครั้งกับงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย “Bangkok Art Biennale 2020” (BAB 2020) ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยเจ้าภาพใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับภาครัฐและเอกชนอีกมากมาย
งาน BAB 2020 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ประเทศไทยมีการจัดงานศิลปะแบบนี้ขึ้น ซึ่งจัดในแนวคิด “Escape Routes” หรือ “ศิลป์สร้าง ทางสุข” เพื่อใช้ศิลปะเป็นเส้นทางในการหาความสุขหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และปัญหาทางเศรษฐกิจการเมืองที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ซึ่งประจวบเหมาะกับสถานการณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
การกลับมาของ BAB 2020 นี้ ได้เชิญศิลปิน 82 ท่าน จาก 35 ประเทศ โดยเป็นศิลปินต่างชาติ 51 ท่าน และศิลปินไทย 31 ท่าน โดยจัดแสดงผลงานกว่า 200 ชิ้น ใน 10 สถานที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร และริมแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยแบ่งเป็น 2 เส้นทางคือ เส้นทางตัวเมือง กับเส้นทางแม่น้ำ
เส้นทางตัวเมือง ก็จะจัดที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, BAB Box, The Prelude, The Praq และแถมด้วยสวนเบจกิติ
เส้นทางแม่น้ำก็จะจัดที่ มิวเซียมสยาม, วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาสวรมหาวิหาร, ล้ง1919, และริเวอร์ ซิตี้
โดยงานจะจัดแสดงถึง 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2563 ถึง 31 มกราคม 2564
ทีมงานซอกแซกได้ไปชมงานมาแล้วทั้ง 2 เส้นทาง แต่ยังไม่ครบทั้งหมดทุกที่ ซึ่งในแต่ละสถานที่ที่ไปนั้นก็จะมีงานศิลปะที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ดังนั้นคนที่รักและชื่นชอบในงานศิลปะก็ไม่ควรพลาดสักจุด ค่อยๆ ไปแบบสบายๆ ก็น่าจะใช้เวลาสัก 2-3 วัน
เริ่มจากวันแรกไปเส้นทางแม่น้ำก่อน โดยนั่งรถไฟใต้ดินไปเริ่มต้นที่มิวเซียมสยาม เดินต่อไปวัดโพธิ์ นั่งเรือข้ามฟากไปวัดอรุณ หลังจากนั้นก็นั่งเรือต่อไปยังวัดประยูร ล้ง1919 และข้ามฟากไปจบที่ริเวอร์ซิตี้ โดยทางงาน BAB เขาได้จัดเรือรับส่งฟรีตามสถานที่ต่างๆ เหล่านี้
งานศิลปะในเส้นทางแม่น้ำที่ทีมงานซอกแซกโหวตให้เป็นงานศิลป์ยอดเยี่ยมก็คือ งาน 2 ชิ้น ของ “Anish Kapoor” (อนิช คาพัวร์) ศิลปินชาวอินเดีย ที่อาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
ชิ้นแรกมีชื่อว่า “Push Pull II” งานนี้เป็นขี้ผึ้งทรงครึ่งวงกลม ผสมสีแดงขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางศาลาการเปรียญภายในวัดโพธิ์ เป็นงานที่แสดงถึงการเริ่มต้นของชีวิตและเลือดเนื้อ โดยใช้สีแดงที่ใช้มากในพุทธศาสนา
ชิ้นที่ 2 เป็นงานที่มีชื่อว่า “Sky Mirror” สแตนเลสสตีลทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ที่ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าของวัดอรุณ สะท้อนภาพบรรยากาศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท้องฟ้า พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว รอบๆ วัดอรุณ
นอกจากนี้ในเส้นทางแม่น้ำนี้ยังมีงานที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่ทางทีมงานขอโหวตให้กับ 2 ชิ้นนี้นะครับ
วันที่ 2 ทางทีมงานขอแนะนำว่าให้ไปที่ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” เพราะที่นี่มีงานที่น่าสนใจมากมาย ทั้งภาพวาด ภาพพิมพ์ ประติมากรรม และภาพยนตร์
ถ้าเป็นผู้ชมที่ชื่นชอบงานศิลปะแล้วคงต้องใช้เวลาดูนานพอสมควร ทางทีมงานเลยตั้งใจให้ใช้เวลาที่นี่อย่างเต็มที่ เพราะมีส่วนจัดแสดงหลักถึง 3 ชั้นคือตั้งแต่ชั้น 7-9 ไม่รวมที่ชั้น 1 และด้านนอกของหอศิลป์อีกบางส่วน
ที่นี่มีงานที่น่าสนใจหลายชิ้นที่เตะตาทีมงานซอกแซก ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ “Ai Weiwei” (อ้าย เว่ยเว่ย) ศิลปินชาวจีน กับผลงานที่มีชื่อว่า “Law of the Journey” (Prototype B) ที่เป็นเรือเป่าลมสีดำขนาดใหญ่ที่บรรทุกผู้ลี้ภัยเต็มลำ พร้อมกับภาพวาดทหาร รถถังขนาดใหญ่ติดที่กำแพงข้างๆ กัน
อีกหนึ่งงานเป็นงานประติมากรรม ของศิลปิน P7 ศิลปินสตรีทอาร์ตชื่อดัง งานที่เขานำมาแสดงในงาน BAB 2020 นี้เป็นงานปั้นรูปหุ่นเชิดพากษ์เสียง “Ventriloquist” หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ขัดผิว แล้วลงสี ด้วยความพิถีพิถัน ราวกับภาพเขียน 3 มิติที่หลุดออกมาจากผืนผ้าใบ
งานของ P7 นี้ต้องใช้เวลาดูนานสักหน่อย เพราะดูเผินๆ เหมือนจะเป็นภาพการ์ตูน แต่ถ้าดูใกล้ๆ แล้วมีรายละเอียดในการลงสีเหมือนภาพเสมือนจริงเลยทีเดียว
สำหรับศิลปินไทยอีก 1 ท่านที่มีผลงานโดดเด่นก็คือ “คุณลำพู กันเสนาะ” ที่วาดรูปเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง วัฒนธรรม โควิด และอีกมากมาย ในแต่ละรูปที่เธอเขียนก็จะแฝงด้วยอารมณ์ขัน งานที่นำมาแสดงในครั้งนี้นั้นเป็นภาพวาด โดยเฉพาะเซ็ทที่วาดท่านผู้นำสหรัฐฯ โดนัล ทรัมพ์ นั้นเห็นแล้วก็อดอมยิ้มไม่ได้เลยจริงๆ ครับ
อีกหนึ่งผลงานที่ห้ามพลาดคือต้องไปเดินงานด้านนอกของหอศิลป์ ที่เป็นเขาวงกตไม้ไผ่ของ “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช” และอย่าลืมลงทะเบียนเพื่อรับคูปองเพื่อมารับไอซ์ครีม “รสน้ำปลา” ของศิลปิน ได้ที่ร้าน Icedea ใน 1 วันมีเพียง 50 ถ้วยเท่านั้น
จริงๆ แล้วที่ “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร” ยังมีงานอีกมากมายที่น่าสนใจแต่ไม่สามารถนำมาบรรยายได้หมด โดยเฉพาะงานที่เป็นภาพยนตร์ ที่ต้องใช้เวลาในการนั่งชมพอสมควร ยังไงก็หาเวลาไปเดินดูกันเองนะครับ
วันที่ 3 จะเป็นโซนที่มีผลงานอยู่ภายในตึกย่านพระราม 4 อย่าง The Parq, BAB Box และ The Pelude แต่ขอลงรายละเอียดที่ The Parq ก่อนนะครับ เนื่องจากในวันที่ทีมงานซอกแซกไปเดินนั้นมีเวลาน้อย เลยไปอีก 2 ที่ไม่ทัน แต่ก็ตั้งใจว่าจะไปเก็บตกอีกรอบนึง
งานที่แสดงที่ The Parq นั้นจะอยู่ค่อนข้างลึกลับนิดนึง คืออยู่บนตึกชั้น 15 ซึ่งต้องเข้าทางลิฟท์ออฟฟิศเท่านั้น ถ้าใครอยากไปดูงานที่นี่พอไปถีงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่ชั้น 1 ก่อน หรือไปที่เครื่องกดบัตรอัตโนมัติทางซ้ายมือ (ถ้าหันหน้าเข้าตึก) โดยตู้นี้จะเป็นหน้าจอสัมผัส เราก็กดตามขั้นตอนบอกว่าจะไปชั้นไหน แล้วก็ใส่บัตรประชาชนเข้าไป เครื่องก็จะพิมพ์ใบ QR Code ออกมาให้ 1 ใบ เราก็เอาเจ้าใบนั้นไปแตะตรงทางเข้า แล้วมันก็จะบอกว่าเราต้องไปขึ้นลิฟท์ตัวไหน เรียกว่าไฮเทคกันเลยทีเดียว
งานที่เด่นๆ ที่จัดแสดงอยู่ที่ The Parq ในสายตาของทีมงานซอกแซกก็คือ
งานของ “โน้ต กฤษดา” งานประติมากรรม และงานวาดเส้น ที่เล่าเรื่องประสบการณ์ในการไปคลินิกหมอฟันของเขาตอนเด็กๆ
งานของ “ไทยวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์” ที่นำวัสดุเหลือใช้ และขยะมาสร้างเป็นงานศิลปะ ด้วยการใช้สำนวน “หนีเสือ ปะจระเข้” ที่อธิบายถึงหายนะของโลกที่กำลังถูกทำลายลง โดยด้านหนึ่งของห้องจัดแสดง จะทำเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายเครื่องมือจับปลา แต่ในนั้นมีขยะอยู่เต็มไปหมด ส่วนอีกด้านหนึ่งจองห้องจัดแสดงจะมีประติมากรรมที่สร้างด้วยโครงเหล็กเป็นรูปจระเข้ คอยเชิญชวนให้เดินเข้าไปในห้องที่มีภาพวาดเชิงเสียดสีอยู่เต็มไปหมด
อีกงานที่ทีมงานซอกแซกสนใจก็คืองานของ “Marina Abramovic” (มารีนา อบราโมวิช) ที่เป็นงานเวอร์ชวลเรียลลิตี้ ที่เราต้องสวมอุปกรณ์เพื่อดูงาน ทำไห้เหมือนเราไปอยู่ในนั้นจริงๆ โดยงานนั้นจะนำเสนอถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นการใช้เทคโนโลยีกับงานศิลปะ และทำให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วม ในอีกมิติหนึ่ง
ที่พลาดไม่ได้คืองานของ “อานิช คาพัวร์” เจ้าเก่า ที่เป็นงานสไตล์ เงาๆ เงินๆ ซึ่งมีจัดแสดงอยู่ที่นี่ถึง 4 ชิ้น
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่ในงาน “Bangkok Art Biennale 2020” (BAB 2020) ในปีนี้ครับ งานดีๆ น่าสนใจยังมีอีกมากมาย ที่ไม่สามารถนำมาเล่าให้ฟังได้หมด
ถึงแม้ว่างานนี้จะโดนผลกระทบจากเจ้าไวรัสโควิด 19 เข้าเต็มๆ ศิลปินหลายๆ ท่านไม่สามารถมาติดตั้งงานเองได้ ทำให้งานที่นำมาแสดงนั้นส่วนมากจะมีขนาดเล็ก แต่ก็มีงานดีๆ และมีความหลากหลายในการนำเสนอผลงานมากขึ้น ทั้งประเภท วิดีโอ สื่อผสมแนวใหม่ หรือการใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อให้คนต่างชาติได้มีโอกาสได้เข้าชมงาน “Bangkok Art Biennale 2020” (BAB 2020) ครั้งนี้ ภายใต้การควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ทางทีมงาน BAB เลยจะใช้สื่อโซเชี่ยลต่างๆ มาช่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะชมผลงานผ่านการโพสทางเฟสบุ๊ค หรือการไลฟ์สด พาเดินผ่านแอพพลิเคชั้นต่างๆ เพื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นและชื่นชมผลงานศิลป์ที่มาแสดงแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
สอบถามหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkartbiennale.com หรือ www.facebook.com/Bkkartbiennale
ซูม จูเนียร์