100 ปี “กลุ่มสิทธิผล” พร้อมเดินหน้า “สู่อนาคต”

หลังจาก “เจ้าสัว” กนก ลี้อิสสระนุกูล ถึง แก่กรรมในปลายปี 2516 ลูกๆ ทั้ง 4 ของเขาก็ขึ้นมารับช่วงบริหารธุรกิจในเครือสิทธิผล ที่เจ้าสัวลงหลักปักฐานไว้ตามแนวทาง ที่แต่ละคนเคยช่วยเจ้าสัวกนกบริหาร ในระหว่างที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

ปริญญา ลี้อิสสระนุกูล ลูกชายคนโต ซึ่ง ช่วยเจ้าสัวในการบริหารด้าน “สี่ล้อ” หรือธุรกิจด้านรถยนต์ จึงรับช่วงในการบริหารด้านรถยนต์ โดยมี กัลยาณี น้องสาวในฐานะทายาทคนที่ 3 เข้ามาร่วมด้วย ในนามของ เอ็มเอ็มซี สิทธิผล ตัวแทน จำหน่ายรถมิตซูบิชิ

ในขณะที่ วิทยา ลี้อิสสระนุกูล ทายาทคนที่ 2 ที่เคยช่วยเจ้าสัวกนก ในการบริหารด้านอะไหล่ ยานยนต์, ยางรถยนต์ และจักรยานยนต์ รวมถึงธุรกิจจำหน่ายรถจักรยาน ที่ก็ยังดำรงไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของบริษัท ก็เข้ามารับช่วงในการบริหารธุรกิจเหล่านี้ในนามของ “บริษัท สิทธิผล 1919” ที่เจ้าสัวกนกตั้งขึ้นเป็นบริษัทแรก คู่เคียงไปกับห้าง เซ่งง่วนฮง ร้านจำหน่ายจักรยานราเล่ห์ นั่นเอง

กิจการของ กลุ่มสิทธิผล ใน “รุ่นที่ 2” เจริญก้าวหน้าต่อมาเป็นลำดับ ภายใต้ปรัชญาและคำสั่งสอนของเจ้าสัวกนกเกี่ยวกับการค้าขายอย่างสุจริตและมีคุณธรรม รวมทั้งการตอบแทนพระคุณให้แก่แผ่นดินไทย

โดยเฉพาะในส่วนของ “บริษัทสิทธิผล 1919” ซึ่งดูแลโดยคุณวิทยานั้น สามารถขยายกิจการอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายอะไหล่ และยางรถจักรยานยนต์ชั้นนำของประเทศ

ที่สำคัญด้วยการมองการณ์ไกลของ วิทยา ลี้อิสสระนุกูล จึงได้เตรียมผู้บริหาร “รุ่นที่ 3” เอาไว้ล่วงหน้า…โดยเฉพาะบุตรชายคนโตของเขา ทนง ลี้อิสสระนุกูล ที่วิทยาเลือกไว้แล้วว่าจะต้องขึ้นมาเป็นตัวแทนของเขาในอนาคต

เขาส่งบุตรชายคนโตไปเรียนที่ญี่ปุ่น และทุกอย่างก็เป็นตามที่เขาคาดหวังไว้ “ทนง” กลับมาพร้อมกับความสำเร็จทางด้านการศึกษา และความเชี่ยวชาญในภาษา “ญี่ปุ่น” ตลอดจนการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทคู่ค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่นของเขา

ไม่เพียงเท่านั้น “ทนง” ยังกลับมาพร้อมด้วยความคิดที่ล้ำยุค ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “ยุทธศาสตร์หลัก” ในการนำพาให้ “สิทธิผล 1919” พุ่งต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ทนงมองว่าการขายสินค้าที่มีอายุไม่ยาวนานเกินไป และเมื่อหมดอายุแล้ว ลูกค้าจะต้องเปลี่ยนทันที…ย่อมดีกว่าการขายสินค้าที่ใช้ได้คงทน 10 ปี 20 ปี จึงจะหมดอายุ เพราะกว่าเราจะขายได้สักชิ้นต้องรอถึง 10 ปี 20 ปี

“ถูกต้องแล้วที่สิทธิผล 1919 เดินหน้ามาในธุรกิจ “อะไหล่” และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งแม้จะเป็นชิ้นเล็กๆ ราคาไม่มากนัก แต่ถ้าเราทำให้มีคุณภาพดีให้คนเชื่อถือ และให้ทนกว่าคนอื่นหน่อย (แต่ก็ยังต้องเปลี่ยนอยู่ดี) เราจะขายได้มากกว่าและทำเงินได้เยอะกว่า”

“เราจะต้องเป็น King of Fast Moving Spare Parts…คือสิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายไว้” ทนงเผยเคล็ดลับของเขากับทีมงานซอกแซก

ไม่เพียงการพัฒนาคุณภาพสินค้า เพื่อให้ “อะไหล่” ของเขาขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ระดับแนวหน้าหรือระดับ King เท่านั้น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนจำหน่ายสินค้าทุกชนิดของเขา ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ทนงเล่าว่า เขาชอบขี่มอเตอร์ไซค์ไปเยี่ยมตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศด้วยตัวเอง “การที่เราลงไปเองก็คล้ายๆเถ้าแก่หรือหลงจู๊ไปเยี่ยมถึงตัวแทนที่อยู่ห่างไกล..ทำให้เขาภูมิใจ และพร้อมจะช่วยเราขายสินค้าอย่างเต็มที่”

ทนง ลี้อิสสระนุกูล เชื่อมั่นในระบบการทำงานแบบ “ทีมเวิร์ก” เริ่มตั้งแต่ทีมเวิร์กในระดับครอบครัว ที่มาร่วมเป็นผู้บริหาร ไปจนถึงพนักงานในระดับต่างๆ ของบริษัทในเครือ

น้องๆ ของเขาทั้ง 3 คนอันได้แก่ พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล, อภิชาติ ลี้อิสสระนุกูล และ พรทิพย์ เศรษฐีวรรณ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการบริหาร และรับผิดชอบในบริษัทต่างๆของเครือสิทธิผล ตามความถนัดของแต่ละคน

แม้ปีที่ครบ “100” พอดิบพอดีของกลุ่มสิทธิผล โลกทั้งโลกจะเจอวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างหนักจากพิษภัยโควิด-19 ซึ่งสำหรับกลุ่มแล้วในภาพรวมก็ได้รับผลกระทบบ้าง…แต่ก็โชคดีที่ธุรกิจหลักของกลุ่มคือ “อะไหล่” และสารพัดส่วนประกอบของจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ สามารถทำรายได้มาชดเชยได้อย่างดียิ่ง

อย่าลืมว่าธุรกิจที่เฟื่องที่สุดในช่วง “โควิด–19” ก็คือ ธุรกิจ Delivery ทั้งอาหารและข้าวของจำเป็นต่างๆนั่นเอง…ธุรกิจนี้ต้องพึ่งพา “จักรยาน-ยนต์” เป็นหลัก…

เมื่อธุรกิจ Delivery ดีมากก็ต้องใช้จักรยานยนต์มาก และใช้วันละหลายๆ เที่ยวมากกว่าปกติ…แน่นอน “อะไหล่” ย่อมเสื่อมเร็ว… เข้าทาง “สิทธิผล 1919” เป๊ะเลย

สิทธิผล 1919 เพิ่งย้ายสำนักงานใหญ่ที่อยู่มา 100 ปี พอดิบพอดี ณ ตลาดน้อย มาอยู่ที่อาคารใหม่สูง 22 ชั้น บนเนื้อที่ 388 ตารางวา ริม ถนนพระราม 3 เมื่อเร็วๆ นี้เอง

ถือเป็นการเฉลิมฉลอง 100 ปี ของบริษัทไปด้วยในตัว…ทนงภูมิใจกับอาคารหลังนี้มาก เพราะมีทุกอย่างครบครันบนเนื้อที่จำกัด และ ออกแบบอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

แต่สำนักงานเก่าที่ขยายและก่อสร้างเพิ่ม เติมจากร้านจักรยาน “เซ่งง่วนฮง” ที่ตลาดน้อย ก็ยังคงอยู่ และยังคงแบ่งเนื้อที่หน้าร้านส่วนหนึ่งไว้สำหรับขายจักรยานหลายยี่ห้อ รวมทั้ง “ราเล่ห์” ของแท้ที่ปัจจุบันนี้เลิกผลิตไปแล้ว แต่ยังมีรุ่นสุดท้ายที่ส่งมาจำหน่ายในเมืองไทยเหลืออยู่บ้าง

สัญลักษณ์ของเซ่งง่วนฮงอีกประการหนึ่งก็คือ “ต้นโพธิ์” ซึ่งเคยเป็นร่มเงาให้หนุ่มจีนพเนจร กนก ลี้อิสสระนุกูล ได้อาศัยปะยางอยู่ใต้ต้น ซึ่งบัดนี้ก็ยังคงอยู่…

ทนง ลี้อิสสระนุกูล นำต้นโพธิ์เล็กๆที่เกิด ใต้ต้นใหญ่มาปลูกต่อที่หน้าสำนักงานใหญ่ของเขา ที่ถนนพระราม 3 ด้วย…เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึงที่มาของ “สิทธิผล 1919” เมื่อ 100 ปีที่แล้ว… และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับการเดินหน้าต่อไป

เขาบอกทีมงานซอกแซกว่า “พวกเราเตรียมผู้บริหารรุ่นที่ 4 เอาไว้แล้วครับ”.

“ซูม”