ให้กำลังใจ “อาเซียน” จับมือ “เดินหน้า” ต่อไป

วันนี้ (จันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน) เป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเราในฐานะประธานจัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

ดูกำหนดการแล้วเห็นว่าจะมีวาระการประชุม อาเซียน+3 จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้, การประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ, การประชุมผู้นำอาเซียนญี่ปุ่น, การประชุมอาร์เซ็ประดับผู้นำครั้งที่ 3 และพิธีปิดประชุมส่งมอบตำแหน่งประธานให้แก่ เวียดนาม

ผลการประชุมต่างๆ จะออกมาอย่างไร อย่าลืมติดตามจากข่าวคราวต่างๆ กันด้วยนะครับ

ก็น่าจะมีอยู่วาระเดียวกระมังที่ผลการประชุมอาจจะไม่ได้ผลสรุปที่เป็นแก่นสารอะไรนัก คือ การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯ ซึ่งตามกำหนดการแล้วจะเริ่มขึ้นในวันนี้

เหตุที่ผมคาดว่าจะไม่มีข้อตกลงอะไรที่จะเป็นสาระสักเท่าไร ก็เพราะทางฝ่ายสหรัฐฯ เขาดูจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับการประชุมครั้งนี้

จะใช้คำว่าไม่ให้เกียรติก็แรงไป เอาเป็นว่าเขาไม่ให้ความสนใจก็แล้วกัน เพราะส่งแค่ระดับ “ผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายกิจกรรมความมั่นคงแห่งชาติ” มาเป็นผู้แทนของผู้นำสหรัฐฯ ในการประชุมเท่านั้น

สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพีเขารายงานด้วยซ้ำไปว่า เป็นการส่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างสุดให้เป็นผู้นำคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ตั้งแต่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2554 เพราะ “ท่านผู้ช่วยประธานาธิบดี” มิได้อยู่ในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน จึงเท่ากับบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ไม่ให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้เหมือนรัฐบาลของเขาในชุดก่อนๆ

ผมเห็นด้วยกับบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวต่างประเทศทั้ง 2 สำนักนี้ครับ เพราะตั้งแต่ คุณโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ท่านก็ให้ความสำคัญแก่ตัวท่านและประเทศของท่านเสียมากกว่า

ใช้นโยบายสหรัฐฯ ต้องมาก่อน ทะเลาะกับใครต่อใครไปเสียหมดทั่วโลก แม้แต่กับเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาและเม็กซิโก

ยิ่งกับจีนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ปากก็ปราศรัยไพเราะ ฉีกยิ้มให้กันตลอดเวลา แต่หลังฉากโซ้ยกันอุตลุด จนเกิดสงครามการค้าทำให้ปั่นป่วนไปทั่วโลก และยังไม่มีท่าทีว่าจะสงบได้ในขณะนี้

หากจะไม่ให้ความสนใจอาเซียน ซึ่งอยู่ไกลจากประเทศเขา แถมยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนคู่แข่งทั้งในทางเศรษฐกิจและบารมีการเมืองระหว่างประเทศของเขาด้วย ความไม่แยแสหรือเมินเฉยต่ออาเซียนจึงเป็นเรื่องที่คาดหมายได้

ก็ช่างเขาเถอะ เพราะแต่ละชาติแต่ละประเทศต่างก็มีจุดยืน หรือมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของตนเอง จะรักใครชอบใคร ให้ความสำคัญ หรือไม่ให้ความสำคัญแก่ใครเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมของชาตินั้นๆ

สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยให้ความสำคัญในภูมิภาคนี้ หากจะเปลี่ยนนโยบายเป็นไม่ให้ความสำคัญก็อยู่ที่เขาจะเลือกตัดสินใจ

ให้ความสำคัญ พร้อมจะมาร่วมในมิติต่างๆ เราก็ยินดีต้อนรับ เมื่อไม่ให้ความสำคัญส่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างๆ มาเราก็ไม่ว่า แต่ก็เริ่มรู้แล้วละว่าในใจเขาคิดอย่างไร?

ยังมีประเทศที่พร้อมจะให้ความสำคัญและพร้อมจะคบค้ากับอาเซียนอย่างลึกซึ้งในทุกๆ ด้านอีกมากมายหลายประเทศ อย่างน้อยก็อีก 7 ประเทศที่มาประชุมคราวนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย, จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, นิวซีแลนด์, เกาหลีใต้, รัสเซีย เป็นต้น

ไม่เหงาไม่ว้าเหว่แน่นอนครับ การรวมตัวเป็น “กลุ่มอาเซียน” ของพวกเราประเทศเล็กๆ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขอให้เรารักใคร่กลมเกลียวกันตลอดไป ร่วมแรงร่วมใจในทุกๆ ด้านต่อไป มีอะไรช่วยกันได้ก็ช่วยๆ กันในทุกๆ รูปแบบ…ผมเชื่อและมั่นใจเสมอว่าอาเซียนของเราจะไปได้อีกไกลมาก

ผมจึงหวังว่าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเราในฐานะประธานจะประสบผลสำเร็จดังที่ทุกๆ ฝ่ายตั้งเจตนารมณ์ไว้ มีข้อตกลง มีหลักปฏิบัติ มีโครงการปฏิบัติที่จะหล่อหลอมให้อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว และเดินหน้าไปได้อย่างเข้มแข็ง

ใครเขาไม่ให้ความสำคัญก็ช่าง ขอให้เราทั้ง 10 ประเทศให้ความสำคัญและยังรักกันเหมือนเดิมก็พอแล้วครับ…พอทางโน้นเขาเปลี่ยนผู้นำกันใหม่…ผมว่าไม่นานหรอกครับ เขาจะกลับมารักเรา และให้ความสำคัญแก่เราอีกครั้งอย่างแน่นอน.

“ซูม”