ทูต “วีรชัย”-ในความทรงจำ

การสูญเสีย เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน วีรชัย พลาศรัย ณ โรงพยาบาล จอห์น ฮอปกินส์ เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

พร้อมกับมีการนำเสนอคำไว้อาลัยคำสรรเสริญยกย่องตลอดจนความรู้สึกเสียดาย จากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตลอดวันจันทร์และวันอังคารที่ผ่านมา

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามผลงานของท่านทูต วีรชัย พลาศรัย และชื่นชมติดตามผลงานของท่านในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการสู้คดีปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อ พ.ศ.2556 มาโดยตลอด

จำได้ว่าในระหว่างต่อสู้คดีนี้ ท่านรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศใน พ.ศ.นั้น ท่านณัฐวุฒิ โพธิสาโร ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานอีกชุดหนึ่งของกระทรวง

ทำหน้าที่ในการประสานงานกับทุกหน่วยราชการของไทยเพื่อให้ได้ข้อมูลและแนวทางการต่อสู้ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ท่านรองปลัดณัฐวุฒิไม่เพียงแต่จะประสานงานกับส่วนราชการต่างๆ เท่านั้น ยังประสานมาขอพูดคุยกับคอลัมนิสต์อาวุโสและหัวหน้าข่าวอาวุโสของไทยรัฐอีกด้วย เพื่อขอทราบข้อมูลและแนวทางในการต่อสู้เพื่อให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น ซึ่งพวกเราก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง นัดพบปะพูดคุยกับท่านและคณะหลายต่อหลายครั้ง

แม้พวกเราจะไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศมากมายนัก และความรู้เกี่ยวกับข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่คงไม่มากเท่าหน่วยราชการที่มีหน้าที่โดยตรง

แต่สิ่งที่พวกเรามีอยู่โดยเฉพาะเพื่อนๆ คอลัมนิสต์ และหัวหน้าข่าวของผมหลายคนที่ผ่านการทำงานสื่อมวลชนมายาวนาน ก็คือประสบการณ์ในการตั้งประเด็นคำถาม…ตั้งข้อสังเกต รวมไปถึงการคาดเดาใจคนอื่น โดยเฉพาะเดาใจศาลโลก เป็นต้น

รวมไปถึงการเดาใจคนไทยด้วยว่า ถ้าหากการตัดสินคดีนี้เป็นไปอย่างสวนความรู้สึกคนไทย…คนไทยจะมีปฏิกิริยาอย่างไร?

ผมจำได้ว่าพวกเราซักไซร้ทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศอย่างละเอียดและท่านทูตวีรชัยในฐานะผู้ที่จะขึ้นทำหน้าที่ชี้แจงด้วยวาจาต่อศาล ก็ตอบเราอย่างละเอียดชัดเจนคล่องแคล่ว ฉะฉานในทุกประเด็น

ทำให้เราเกิดความมั่นใจอยู่ลึกๆ ว่า ในการต่อสู้อันเป็นประวัติศาสตร์ครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสมศักดิ์ศรีและเราไม่น่าจะแพ้อย่างแน่นอน

ซึ่งในที่สุดในวันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัยก็มาถึง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2556 ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว

ศาลโลกมิได้ตัดสินให้กัมพูชาได้กรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร หรือบริเวณ “ภูมะเขือ” ไปครอบครองตามที่เรียกร้อง แต่กลับมีมติให้ทั้ง 2 ฝ่าย ไปเจรจากันและร่วมมือกันดูแลรักษาพื้นที่อันเป็นส่วนหนึ่งของมรดกนี้แบบหาทางออกร่วมกันต่อไป

จะใช้คำว่าไม่มีใครแพ้ ใครชนะก็คงถูกต้อง และทุกประเทศ รวมทั้งคนไทยเราล้วนพอใจในคำวินิจฉัยที่ออกมาในลักษณะนี้

ผลพวงจากคดีประวัติศาสตร์คดีนี้ ทำให้พวกเราสนิทสนมกับท่านรองปลัดณัฐวุฒิ และท่านทูตวีรชัย มาจนถึงบัดนี้

ผมกับท่านรองปลัดณัฐวุฒิ ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวง

การต่างประเทศไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ยังมีโอกาสพบปะพูดคุยกันอยู่ตลอด แม้จนทุกวันนี้ก็ยังทักทายกันผ่านเฟซบุ๊กอยู่เนืองๆ

สำหรับท่านทูตวีรชัยนั้น ไม่มีโอกาสพบกันอีกเลย แต่ก็ยังมีใจ ผูกพันต่อกัน ฝากความระลึกถึงกันอยู่เสมอๆ

ทุกครั้งที่อ่านข่าวพบว่า ท่านก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น ได้ไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ สหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก และล่าสุดมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผมก็จะรู้สึกปลาบปลื้มยินดีไปกับท่าน

พร้อมกับนึกตามไปด้วยว่าเหมาะสมแล้วที่คนเก่งคนดี มีศักยภาพสูงที่อุทิศตนเพื่องานราชการ และประเทศชาติเช่นท่านจะได้รับผลตอบแทนจากการทำงานดังที่ท่านได้รับทุกประการ

ดังนั้น เมื่อมาทราบข่าวว่าท่านต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควรเช่นนี้ จึงรู้สึกเสียดายและใจหายเป็นอย่างยิ่ง

ขอดวงวิญญาณของท่านทูตวีรชัยจงเป็นสุขๆ ณ สัมปรายภพตราบนิรันดร์ และขอขอบคุณสำหรับผลงาน กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่ทำให้คนไทยยังมีความสุขมาจนถึงวันนี้.

“ซูม”