เมื่อวานนี้ผมเขียนทิ้งท้ายว่าระบบการจัดสรรปันส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งค่อนข้างจะซับซ้อนพอสมควรนั้น ดีหรือไม่ดีอย่างไร? และมีใครที่ไหนเขาใช้กันบ้าง?
เพราะฉะนั้น วันนี้เรามาตอบคำถามไปทีละข้อเลยครับ โดยเริ่มจากข้อที่ว่า มีใครที่ไหนเขาใช้กันบ้างเป็นข้อแรก?
เว็บไซต์ The Standard ลงบทความเกี่ยวกับคำตอบนี้ไว้เมื่อประมาณปลายปีที่แล้วว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” ที่ใช้ในการจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคในการเลือกตั้งปี 2562 นี้ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Mixed Member Apportionment System หรือ MMA
แตกต่างไปจากทุกครั้งที่เราเคยใช้กันมาในประเทศไทยโดยสิ้นเชิง
ประเทศที่เคยใช้ระบบนี้มาแล้ว มี 5 ประเทศทั่วโลก อาทิ แอลเบเนีย (ปี 1992), เกาหลีใต้ (ปี 1996-2000) และ เยอรมนี (ปี 1949)
ปัจจุบันมีเพียงแคว้น บาเดน วุดเดนเบิร์ก ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในเยอรมนีเท่านั้นที่ใช้ระบบนี้
ดังนั้น หากเราตีความตามรายงานของเว็บไซต์ The Standard ก็น่าจะไม่มีประเทศไหนในปัจจุบันใช้อีกแล้ว ยกเว้นในรัฐ หรือแคว้นหนึ่งของเยอรมนี ซึ่งน่าจะเป็นการเลือกตั้งในระดับรัฐ หรือท้องถิ่น เสียมากกว่า
หากรายงานของ The Standard ถูกต้องก็แปลว่า การที่คนเราเลิกใช้สิ่งของอะไรสักอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่มันจำเป็นกับชีวิตของเรา ย่อมแสดงว่าสิ่งของนั้นๆ ถ้าไม่เสียแล้วก็ต้องล้าสมัยไปแล้วเอามาใช้จะทำให้เราถูกมองว่าเป็นคนเชยๆ จึงต้องวางวัสดุสิ่งของนั้นลง
น่าจะเป็นคำตอบอย่างกว้างๆ สำหรับคำถามที่ว่า ระบบนี้ดีหรือไม่ดี ที่ท่านผู้อ่านเขียนมาถามผม
แต่ถ้าไม่ดีและใช้แล้วเชย ทำไมยังนำมาใช้อีกล่ะ?
ผมก็เดาว่าเป็นเจตนารมณ์ของคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้น ที่จะอาศัยความเชยๆ มา “จำกัด” หรือ “สกัดกั้น” อะไรบางอย่างทางการเมือง
โดยเฉพาะอะไรบางอย่างที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่า หากพรรคใดพรรคหนึ่งได้คะแนนเสียงมากเกินไป จะเกิดระบบ “เผด็จการรัฐสภา” เหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่แล้ว ซึ่งเป็นต้นเหตุของความสับสนวุ่นวาย จนกระทั่งทหารต้องเข้ามายึดอำนาจเพื่อแก้ปัญหา
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดเผด็จการทางรัฐสภาขึ้นอีกในอนาคต? คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เราใช้กันอยู่นี้ จึงหันมาใช้สูตรนี้ ที่จะทำให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขตมากเท่าไร จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยลงเท่านั้น
จนถึงขั้นอาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยสักคนเดียว หากได้จำนวน ส.ส.เขตมามากกว่าจำนวน “ส.ส.จะพึงมี” ที่คิดคำนวณมาจากสูตรที่ผมลงไว้ในฉบับเมื่อวานนี้
เนื่องจากเนื้อที่คอลัมน์ของผมมีจำกัด ไม่สามารถนำตัวอย่างมาคำนวณให้ดูได้หลายๆ ตัวอย่าง จึงขอเชิญท่านผู้อ่านลองใช้สูตรไปสมมติกรณีต่างๆ ดูไป โดยเฉพาะกรณีที่พรรคใดพรรคหนึ่งได้ ส.ส.เขตมามากๆ จะพบว่าผลการคำนวณออกมา “ติดลบ” ด้วยซ้ำ
เช่น -5 บ้าง -10 บ้าง แปลว่าพรรคที่ได้ ส.ส.เขตจำนวนมากๆ จะต้องถูกหักออกเสียด้วยซ้ำไป แต่เผอิญรัฐธรรมนูญยังปรานีได้เท่าไรก็เท่านั้น แม้ผลคำนวณออกมาติดลบก็ไม่ต้องหัก
ถือว่าเป็นศูนย์คือไม่ได้แถมเพิ่มจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่านั้นเอง
ด้วยเหตุที่พรรคใหญ่ได้ ส.ส.เขตมากอาจจะไม่ได้โควตา ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย หรือได้น้อยลงนี้เอง จึงเกิดเหตุการณ์
“แตกแบงก์ 1,000” ขึ้นจากพรรคที่เคยได้คะแนนมากสุดถึง 265 เสียง เมื่อคราวที่แล้วแตกตัวออกไปเป็นพรรคที่เล็กลงหน่อยถึง 2-3 พรรค ดังที่เราทราบ
มองจากมุมของการป้องกันไม่ให้เกิด “เผด็จการรัฐสภา” ในอนาคต
ก็อาจจะมองได้ว่า การตัดสินใจของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกแล้ว เพราะวิธีนี้น่าจะไม่มีทางทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งกลับมามีเสียงมากๆ จนถึงขั้นคุมสภาไว้ในกำมือได้อีก
แต่ถ้ามองในแง่ที่ว่ามันคงเชยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยที่ถ่องแท้นัก หรือไม่ก็ต้องมีอะไรไม่ถูกต้องสักอย่าง…ไม่งั้นชาติอื่นๆ เขาคงไม่เลิกใช้กันหรอก ก็น่าคิดอยู่เหมือนกัน
งวดนี้เดินมาอย่างนี้แล้วก็ว่ากันไป แต่ในโอกาสหน้าฝากให้พิจารณา ด้วยนะครับว่าจะใช้ต่อหรือไม่
ถ้าสูตรนี้ดีจริงเหมาะกับประเทศประชาธิปไตยจริง ไม่น่าจะ เหลือผู้ใช้สูตรนี้เพียงแค่รัฐเดียวของประเทศเยอรมนี
เท่านั้น…ฝากไว้เป็นการบ้านในอนาคตด้วยนะครับลุง.
“ซูม”