ผมต้องขอขอบคุณท่านเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ คุณวิญญัติ ชาติมนตรี ที่โพสต์เฟซบุ๊กเตือนสติคนไทยที่จะไปออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ให้ระมัดระวังเอาไว้เรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมของคนไทยเกือบจะทุกเจนแล้วครับในยุคสมัยนี้
โดยเฉพาะคนไทยที่พกมือถือและชอบเล่นโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม หรือ ฯลฯ โดยการ “แชะ” (ถ่ายรูป) แล้วก็ “แชร์” (ส่งต่อไปให้เพื่อนคนอื่น) หรือโพสต์ในกิจกรรมต่างๆ ที่ตัวเองกระทำในแต่ละวัน
ไปกินข้าวกับเพื่อนฝูง ญาติมิตร ก็จะต้องควักมือถือมาถ่ายภาพ อาหารจานต่างๆ บนโต๊ะเอาไว้
บางครั้งก็จะ “เซลฟี่” ถ่ายภาพตัวเองกับอาหารนั้นๆ เพื่อเป็นการ ยืนยันว่าได้มากินอาหารที่ได้ถ่ายรูปไว้นี้จริง
ไม่เพียงในโต๊ะอาหาร หรือร้านอาหารเท่านั้นที่คนไทยชอบถ่ายรูปแล้วก็โพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย…แต่จะทำในแทบทุกๆ กิจกรรม ไม่ว่าจะเดินเที่ยว, ช็อปปิ้ง, ดูหนัง ขึ้นรถเมล์ ฯลฯ
จนกลายเป็นอุปนิสัยใหม่ของคนไทยในยุค 4G ไปแล้วว่าอย่างนั้นเถิด
ด้วยอุปนิสัยดังกล่าวนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมรีบหยิบประเด็นนำมาเขียนต่อหลังจากที่ได้อ่านพบข้อความในเฟซบุ๊กที่ท่านเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพท่านโพสต์ไว้มีข้อความตอนหนึ่งว่า
“การถ่ายภาพบัตร บัตรเลือกตั้งที่กากบาทลงในบัตร แล้วนำมาเผยแพร่หรือส่งต่อ (Share) ถือเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 97 ซึ่งระบุว่าห้ามมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่คนได้ลงคะแนนแล้ว การถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งถือเป็นความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 165 ของ พ.ร.ป.ส.ส. 2561”
เห็นไหมล่ะครับว่ากฎหมายห้ามเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่เราลงคะแนนแล้วเด็ดขาด ถ่ายเมื่อไรจะเจอความผิดซึ่งมีทั้งจำคุกและปรับเงิน หรือทั้ง 2 อย่าง เบาซะเมื่อไรล่ะ
ที่ผมรีบหยิบยกประเด็นนี้มาเขียนถึงก็เพราะอุปนิสัยชอบถ่ายรูปอาหารของคนไทยยุคนี้ตามที่ยกตัวอย่างเอาไว้ข้างต้นนั่นแหละครับ
ถ่ายภาพอาหารเสียเคย พอเข้าดูหาเลือกตั้ง กากบาทเสร็จก็อาจจะ อยากถ่ายภาพบัตรที่กาเอาไว้ตามประสาคนชอบแชะ
อ่านข้อความของนักกฎหมายท่อนนี้แล้วต้องระวังนะครับ ห้ามเผลอหยิบมือถือมาถ่ายภาพบัตรอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ถ่ายภาพตามที่ พ.ร.ป.ส.ส. 2561 ห้ามไว้เป๊ะเลย
นี่ขนาดถ่ายธรรมดาๆ ยังผิดแล้ว ถ้าไปทำเก๋หยิบมาถ่าย “เซลฟี่” ในคูหาด้วย เพราะอยากจะมีภาพตนเองมากาบัตรเลือกตั้งไว้เป็นที่ระลึก ก็คงจะผิดด้วยข้อหาในกระทงเดียวกัน
ท่านเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายโพสต์เพิ่มเติมว่า
“กฎหมายให้สามารถถ่ายภาพได้โดยต้องถ่ายก่อนเปิดคูหาเลือกตั้ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของ กกต.เขตประจำหน่วยเลือกตั้งจะปิดประกาศจำนวนบัตรเลือกตั้งไว้ในที่เปิดเผย และเมื่อปิดคูหาแล้วก็จะปิดประกาศสรุปจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป และจำนวนคงเหลือไว้ในที่เปิดเผย ประชาชนถ่ายภาพประกาศนั้นได้”
“นอกจากนี้ การนับคะแนนก็ถ่ายภาพได้เพื่อเป็นหลักฐาน ตรวจสอบจำนวนบัตรและการนับคะแนนการขานบัตร และตรวจการทุจริต เพราะเสร็จสิ้นการลงคะแนน”
นอกจากตัวอย่างข้างต้นนี้แล้ว การถ่ายภาพในลักษณะอื่นๆ อย่าเสี่ยงดีกว่า ดังเช่นคำเตือนสุดท้ายของท่านเลขาธิการที่ว่า “ประชาชนอย่าเผลอไปถ่ายภาพบรรยากาศในคูหา และผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเด็ดขาด เพราะอาจติดคุกได้”
ต้องขอขอบคุณท่านเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพอีกครั้ง และขออนุญาต “แชร์” คำเตือนของท่านผ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” ไปยังผู้อ่านที่ชอบถ่ายภาพด้วยกล้องมือถืออีกแรงหนึ่ง
ยํ้าอีกทีอย่าเผลอไปแชะไปแชร์ไปเซลฟี่อะไรในคูหาเลือกตั้งเชียวนะครับ โทษปรับโทษจำรออยู่เพียบเลยล่ะ.
“ซูม”