ตำราสู้คอมมิวนิสต์ ฉบับ “หลวงพ่อวัดไผ่แดง”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนนวนิยายเรื่อง “ไผ่แดง” เมื่อ พ.ศ.2497 หรือ 65 ปีที่แล้ว โดยเขียนส่งไปลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์รวมทั้งสิ้น 21 ตอน

ระหว่างนำลงเป็นรายสัปดาห์นั้นแฟนๆ อ่านแล้วชื่นชมกันมาก จึงนำมารวมพิมพ์เป็นเล่ม ปรากฏว่าขายดิบขายดีเช่นกัน ต้องพิมพ์หลายครั้งอย่างในเล่มที่ผมซื้อมาล่าสุด ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2552 ก็ได้ ระบุเอาไว้ว่าเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 21 เข้าไปแล้ว

นอกจากนี้ก็ยังมีรายงานด้วยว่า มีการนำ “ไผ่แดง” ไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 9 ภาษา เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เวียดนาม และพม่า ฯลฯ

กล่าวกันว่า ไผ่แดง เป็นนวนิยายในแนวเสียดสีสังคมและการเมืองในยุคที่มีการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ และประเทศไทยของเรา ซึ่งยืนอยู่ข้างโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นพี่เอื้อยได้ออกมาประกาศนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเอาเป็นเอาตาย

พ.ศ.2497 ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเรื่องนี้ ผมเพิ่งมีอายุ 13 ปี มาเรียนชั้นมัธยมต้นที่ปากน้ำโพแล้ว ยังจำได้ถึงแผ่นป้ายโฆษณาต่างๆ ที่ระบุว่าคอมมิวนิสต์เปรียบเสมือนยักษ์มาร มาถึงเมืองไทยเมื่อไรจะจับคนไทยกินเรียบเมื่อนั้น

จะทำลายวัดวาอารามและศาสนาทุกศาสนาทั้งหมด…ขอให้คนไทยเราช่วยกันต่อสู้อย่าให้ยักษ์ร้ายตนนี้เข้ามาสู่ประเทศไทยเราได้

ขณะเดียวกันก็มีการจับกุมบุคคลที่รัฐสงสัยว่าจะเอนเอียงไปในทางคอมมิวนิสต์แบบจับผิดจับถูกเข้าคุกไปก็หลายราย

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงได้สมมติให้มีหมู่บ้านไผ่แดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เท่าไรนัก ให้เป็นเสมือนประเทศไทยขนาดเล็กๆ สะท้อนความคิดของฝ่ายซ้าย หรือผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทย โดยมีนาย แกว่น แก่นกำจร เป็นตัวแทน

ขณะเดียวกันก็สะท้อนแนวคิดของตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองนั่นแหละ ในฐานะที่ท่านเป็นฝ่ายขวาและเชื่อมั่นว่าประเทศไทยควรจะอยู่ของเราอย่างนี้ ไม่ควรใช้ลัทธิอื่นใดมาปกครองประเทศทั้งสิ้น

เสนอแนวทางสู้กับคอมมิวนิสต์ผ่านหลักธรรมะ ผ่านข้อเท็จจริงของความเป็นไทยที่ไม่เหมาะกับระบบนี้

โดยใช้สมภารกร่างและพระพุทธรูป “พูดได้” หรือหลวงพ่อพระประธานในพระอุโบสถ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมประเพณีและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยผ่านเรื่องราวและตัวละครต่างๆ ในหมู่บ้านไผ่แดงเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้คอมมิวนิสต์แบบไทยๆ

เมื่อกาลเวลาผ่านไปและเมื่อเรารอดพ้นจากการตกเป็นประเทศสังคมนิยมหลังจากที่เวียดนามแตก เขมรแตก ลาวแตก แต่เราไม่แตก สามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ล้มเป็นตัว “โดมิโน” อย่างที่หลายๆ คนประมาทไว้

จะเห็นว่าส่วนหนึ่งก็เพราะเรายึดมั่นในปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบไทยๆ คือ อยู่กันด้วยความรักความเมตตาคล้ายๆ แนวทางของสมภารกร่างนั่นเอง จนประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่ๆ ใจอ่อนหันมาญาติดีกับเราทั้งหมด

ที่สำคัญท่านผู้ประพันธ์เรื่อง “ไผ่แดง” นี่แหละที่เป็นผู้เดินทางไปจับมือกับหัวหน้าคอมมิวนิสต์ใหญ่ฝ่ายจีนคือ ท่านประธาน เหมา เจ๋อตง ที่ในหนังสือ “ไผ่แดง” ของท่านยังเรียกว่า “เมาเซตุง” ตามคำเรียกของคนไทยใน พ.ศ.นั้น

ที่สำคัญไปกว่านั้นอีกก็คือ ทุกวันนี้ทั้งรัสเซียและจีนต่างก็กลับมาใช้ระบบเสรีนิยมกันทั้งคู่…ทิ้งร่องรอยของความเป็นคอมมิวนิสต์ไว้ก็แค่ในตัวอักษรของประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง

สรุปว่าผมเตรียมตัว เตรียมใจ และรอลุ้นที่จะดูละครทีวีชุด “ไผ่แดง” ของไทยรัฐทีวีที่จะออกอากาศตอนแรกในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม เวลา 22.30-23.30 น. อย่างเต็มที่เลยครับ

จากฝีมือเขียนบทและกำกับของ ณรงค์ ศิริสารสุนทร หรือ “รงค์ หินเหล็กไฟ” และนำแสดงโดย เกียรติพันธุ์ ฉิมโฉม (สมภารกร่าง) ปพนธ์วรรธณ์ เสาว์ทองหยุ่น (แกว่น แก่นกำจร) ฯลฯ

แม้ผมจะไม่คุ้นกับชื่อผู้กำกับและดาราแสดงนำเท่าไรนัก ด้วยว่าผมเองก็ห่างจากวงการบันเทิงไปนาน จนไม่ค่อยจะรู้จักผู้กำกับ หรือดารารุ่นใหม่เอาเสียเลย แต่ผมก็คิดและเชื่อว่า เมื่อตามดูแล้วชื่นชอบแล้ว อีกหน่อยก็คงจะรู้จักและคุ้นเคยกันไปเองแหละ

อย่าลืมติดตามดูเป็นเพื่อนผมด้วยนะครับ.

“ซูม”