เป็นห่วง “วินัยการคลัง” จากอดีตขุนคลัง “บิ๊กตู่”

ผมได้รับหนังสือขนาด A4 ภาพปก 2 สี คือน้ำเงินกับดำมีรูปตึกหรือโรงแรมริมสระที่ไหนสักแห่งหนึ่งเป็นแบ็กกราวด์พิมพ์ชื่อหนังสือและผู้แต่งไว้ด้านบนสุดว่า

“บทความบางเรื่องที่ลงพิมพ์ในหน้านานาทรรศน์ ของหนังสือ พิมพ์มติชนรายวัน โดยนายสมหมาย ภาษี”

พร้อมด้วยข้อความพิมพ์ตัวเล็กๆ แนบไว้ด้านล่างสุดของปกหนังสือเล่มนี้ว่า “สำหรับแจกให้ผู้ที่รักใคร่นับถือกัน”

ถือว่าเป็น ส.ค.ส.2562 ที่ส่งมาถึงผมก็แล้วกันครับ

สำหรับชื่อผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ คุณสมหมาย ภาษี นั้นคงจะเป็นที่คุ้นหูของท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อย เพราะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของรัฐบาล “บิ๊กตู่” น่าจะประมาณ 1 ปีเห็นจะได้ เมื่อปี 2557-2558

ก่อนที่บิ๊กตู่จะเปลี่ยนเป็น คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า คุณสมหมาย ภาษี เป็นนักเศรษฐศาสตร์สายการคลังขนานแท้ เมื่อเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ก็เข้ามารับราชการอยู่ในฝ่ายการเงินการคลังของสภาพัฒน์ จนได้เป็นหัวหน้าฝ่ายก่อนที่จะโยกย้ายไปกระทรวงการคลัง และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการคลัง

จากประวัติการทำงานของคุณสมหมายจะเห็นว่า แม้ท่านจะใช้ชีวิตข้าราชการช่วงแรกๆ อยู่ที่สภาพัฒน์ แต่ในช่วงหลังก็โยกย้ายไปอยู่กระทรวงการคลังจนได้ตำแหน่งในระดับสูงก่อนเกษียณ ถือได้ว่าเป็นลูกหม้อของกระทรวงการคลังท่านหนึ่งก็คงจะได้

นับตั้งแต่คุณสมหมายพ้นจากตำแหน่งขุนคลังของรัฐบาลบิ๊กตู่ ไปแล้ว ท่านก็เขียนบทความไปลงมติชนโดยตลอด และที่นำมาตีพิมพ์เพื่อส่งเป็น ส.ค.ส.ปีใหม่ในหนังสือเล่มนี้ ผมได้อ่านมาแล้วเป็นส่วนใหญ่

แต่ก็นั่นแหละครับ เวลาอ่านจากหนังสือพิมพ์เราก็มักจะลืมเร็ว บางเรื่องท่านเขียนไว้ดี๊ดี แต่ผมไม่ได้ตัดเอาไว้ พักเดียวก็ลืมแล้ว จึงต้องขอขอบคุณคุณสมหมายไว้ ณ ที่นี้ ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้

ผมชอบหลายเรื่องเลยครับ โดยเฉพาะเรื่อง “งบประมาณแผ่นดินแบบซ้ำซากกับอนาคตทางการคลังของไทย” กับเรื่อง “วินัยการคลัง” ชอบมากเป็นพิเศษ จนถึงขั้นต้องเอาปากกาเน้นข้อความที่มีสีสวยๆ มาระบายเน้นเอาไว้ในหลายๆ ตอน หลายๆ ช่วงเลยทีเดียว

เนื่องจากเนื้อที่คอลัมน์ผมค่อนข้างจำกัด คงไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดได้ว่า คุณสมหมายได้ฝากความห่วงใยอะไรไว้บ้างเกี่ยวกับงบประมาณปี 2562 ขอให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปหาอ่านกันเอาเองเถิด

มีทั้งประเด็นเรื่องเงินกู้ และงบประมาณผูกพันจำนวนสูงที่อ่านแล้วอดใจเต้นเสียมิได้

ส่วนในเรื่อง “วินัยการคลัง” คุณสมหมายทักท้วงว่า ตามกรอบของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 กำหนดให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP นั้นหละหลวมมาก

เหตุเพราะเป็นตัวเลขเก่าที่ท่านมีส่วนในการคิดและนำมาใช้ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งควรจะเหมาะกับยุคโน้นเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปเยอะ ท่านคิดว่าน่าจะใช้สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 50 จะเหมาะสมกว่า

ท่านถึงกับตำหนิฝ่ายที่หยิบตัวเลขร้อยละ 60 มาใช้ว่า “มักง่าย” และจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบริหารการเงินการคลังของประเทศอย่างมากในอนาคต

ผมขออนุญาตฉายหนังตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และหวังว่าลูกๆ หลานๆ หรือน้องๆ ข้าราชการกระทรวงการคลังจะได้ไปหาอ่าน และช่วยกันรักษาวินัยทางการคลังเอาไว้ให้เหมือนกับที่รุ่นพี่รุ่นพ่อ หรือแม้แต่รุ่นปู่ของท่านในกระทรวงการคลังเคยรักษาไว้และเป็นผลให้ประเทศไทยของเราอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้

ล้มบ้างทรุดบ้าง เจ็บปวดบ้าง ก็ยังลุกได้ และอยู่มาได้ แต่ถ้าขืนกู้แหลกลาญ ตั้งงบประมาณผูกพันมหาศาล และกำหนดกรอบวินัยการคลังหละหลวมอย่างที่ท่านสมหมายท่านตั้งข้อสังเกตไว้แบบนี้

ผมกลัวว่าหากมีเหตุให้ต้องหกล้มครั้งหน้าจะเจ็บปวดมากที่สุด และจะลุกขึ้นลำบากกว่าทุกๆครั้งเอาน่ะนา.

“ซูม”