ผมเคยเขียนถึงคำว่า “ประชารัฐ” ไว้แล้วหนหนึ่ง ในคอลัมน์นี้ โดยเล่าอย่างคร่าวๆ ว่า คำนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? และนำมาใช้ในความหมายเช่นไร?
สรุปย่อๆ ก็คือ เป็นคำที่อยู่ในเนื้อเพลงชาติไทย…คงจำกันได้นะครับ ในท่อนแรกเลย “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…เป็นประชารัฐ”
ต่อมาในการประชุมจัดเตรียม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544 ซึ่งช่วงเวลาจัดเตรียมน่าจะอยู่ราวๆ พ.ศ.2538 หรือ พ.ศ.2539 ได้มีนักวิชาการเสนอคำคำนี้เข้าสู่ที่ประชุม ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนของผู้คนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ กว่า 1,000 คน ที่สภาพัฒน์เชิญมาร่วมระดมสมอง โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสภาพัฒน์ ใน พ.ศ.ดังกล่าว เป็นประธานที่ประชุม
ในความทรงจำอันเลือนรางผมเขียนไว้ว่า ผู้เสนอคำนี้ได้แก่ท่านอาจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ล่วงลับไปเมื่อไม่นานมานี้ และจากการนำมาเขียนในคอลัมน์นี้ แล้วไม่มีผู้โต้แย้ง ผมก็อนุมานว่าผู้เสนอให้นำคำสำคัญจากเนื้อร้องเพลงชาติคำนี้มาเขียนไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 8 คือ ท่านอาจารย์ชัยอนันต์แน่นอน
เมื่อครั้งที่เขียนถึงคำว่า “ประชารัฐ” ครั้งแรกดูเหมือนผมจะขอบใจรัฐบาลชุดนี้ ที่กรุณาปัดฝุ่นหยิบคำจากเพลงชาติไทย ที่แผนพัฒนาฉบับที่ 8 นำมาใช้แล้วหายเงียบไปเกือบ 20 ปี กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง
แต่หลังจากนั้นมา ผมก็ชักไม่แน่ใจว่ารัฐบาลปัจจุบันท่านนำคำว่า “ประชารัฐ” มาใช้อย่างตรงความหมายที่แผน 8 เขียนไว้หรือไม่?
แม้จะมีการระดมภาคเอกชนมาช่วยมากมาย และภาคเอกชนก็ลงไปช่วยอย่างขันแข็ง รวมทั้งหอการค้าไทยก็เข้าร่วมด้วยอย่างใกล้ชิด
แต่โครงการภาคปฏิบัติจากฝ่ายรัฐบาลเอง ที่ออกมากลับเต็มไปด้วยการเข้าไปแจกเข้าไปอุ้ม เดี๋ยวหมื่นล้าน เดี๋ยวแสนล้าน กลายเป็นโครงการประเภท “ประชานิยม” ไปเสียมากกว่า
ทำให้ผมต้องไปค้นแผนพัฒนาฉบับที่ 8 โดยเฉพาะในส่วนของ “ประชารัฐ” กลับมาอ่านอีกครั้ง
จากการกลับไปอ่านใหม่ของผมพบว่าคำว่า ประชารัฐ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งของแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ถือเป็นส่วนที่ 7 ของแผนที่มีทั้งสิ้น 8 ส่วน นับว่าสำคัญไม่ใช่เล่น
แผน 8 ให้ความหมายไว้ตอนหนึ่งว่า “การพัฒนาประชารัฐ คือ การพัฒนาให้รัฐและประชาชนมีความเข้าใจที่ดี มีความรับผิดชอบ และมีความเอื้ออาทรต่อกัน ทั้งนี้เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนดำเนินไปในเชิงสร้างสรรค์และเสริมสร้างสมรรถนะซึ่งกันและกัน”
จากนั้นก็เขียนบรรยายถึงวิธีการและแนวทางต่างๆ อย่างละเอียด ซึ่งเมื่อรวมทั้งส่วนว่าด้วยเรื่องนี้มีความยาวถึง 14 หน้าเลยทีเดียว
อ่านอย่างไรก็ไม่พบคำว่า “แจก” “แถม” และสารพัดจะโอบอุ้ม ประชาชนอย่างที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ มีแต่ข้อเสนอที่สร้างสรรค์แม้บางเรื่องจะดูฝันเฟื่องไปหน่อย แต่ก็ฝันอย่างมีคุณภาพว่าอย่างนั้นเถอะ
เช่น การเสนอให้มีการปรับปรุงระบบราชการให้ลงไปเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนมากขึ้น ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและการกำหนดวาระแห่งชาติมากขึ้น รวมไปถึงการกระจายอำนาจ และการสร้างดุลถ่วงให้แก่ประชาชน การให้ความสำคัญแก่องค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอมากขึ้น
มีการเสนอให้มีศาลปกครอง และให้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง
ไม่รู้นะ ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่าที่รัฐบาลนี้เอาคำว่า “ประชารัฐ” มาใช้อย่างแพร่หลายนั้น ไม่น่าจะตรงกันสักเท่าไรกับที่มีอยู่ในแผน 8
ยิ่งตอนที่มีรัฐมนตรีบางท่านเอาไปตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองด้วย ผมว่ายิ่งไม่ใช่ใหญ่เลย
เพราะคำว่า “ประชารัฐ” ไม่น่าจะหมายถึงการ “ดูด” อะไรก็ไม่รู้ เข้ามาอย่างอุตลุดจนแทบจะไม่มีการคัดกรองเอาเสียเลย (เสือ สิงห์ กระทิง แรด ก็ไม่มียกเว้นซีน่ะ)
นี่แหละที่ทำให้ผมต้องตั้งชื่อเรื่องสำหรับคอลัมน์ของผมวันนี้ว่า “อนิจจา! ประชารัฐ…ความหมายที่เปลี๊ยนไป๋”
ขออนุญาตนำคำว่า “เปลี๊ยนไป๋” ซึ่งแปลว่า “เปลี่ยนไป” หรือ “ไม่เหมือนเดิม” ที่เคยฮิตเมื่อสัก 5-6 ปีที่แล้ว ในการโฆษณาทางทีวีมาใช้…ท่านผู้คิดคำโฆษณาคำนี้คงไม่ว่ากระไรนะครับ.
“ซูม”