“อาสาฬหบูชา” รำลึก 2,606 ปี แห่งพุทธศาสนา

วันนี้ (27 กรกฎาคม 2561) ตรงกับ “วันอาสาฬหบูชา” วันสำคัญอีกวันหนึ่งของพุทธศาสนิกชน เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดง “ปฐมเทศนา” อันเป็นแก่นของหลักธรรมแห่งพุทธศาสนา แก่ปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

จึงนับเป็นวันประกาศศาสนาพุทธเป็นครั้งแรกขององค์พระสัมมา สัมพุทธเจ้า และนับจากวันนั้นมาถึงวันนี้ คำสอนของพระองค์ท่านได้ยืนยาวมาเป็นเวลา 2,606 ปีแล้ว และจะยืนยงต่อไปอีก ชั่วกัปชั่วกัลป์

นอกจากจะเป็นวันประกาศพุทธศาสนาแก่โลกแล้ว วันนี้ยังเป็นวันที่มี “พระรัตนตรัย” พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

เพราะทันทีที่ทรงแสดงปฐมเทศนาจบลง พระอัญญาโกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ก็บรรลุธรรม ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรกของโลก

ในอดีตกาลที่ผ่านมาชาวพุทธทั่วโลกมิได้มีการจัดงานรำลึกถึงวันนี้เป็นพิเศษแต่อย่างใด นอกเหนือไปจากวันวิสาขบูชา ที่นิยมจัดกัน เป็นประจำปีมาแต่โบราณกาล

รวมทั้งในประเทศไทยเราเองก็มิได้มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการจัดงานบูชาต่างๆ ขึ้นเป็นพิเศษในวันเพ็ญเดือน 8 ดังกล่าว

จนถึงปีพุทธศักราช 2501 คณะสังฆมนตรีโดยคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ได้ออกประกาศสำนักสังฆนายกกำหนดให้ วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นอีกวันหนึ่ง รวมทั้งได้กำหนดพิธีขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 เป็นครั้งแรก

ในช่วงแรกๆ “วันอาฬหบูชา” เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติธรรมบูชาต่างๆ ตามมติของคณะสังฆมนตรี โดยยังมิได้รับการยอมรับจากทางราชการแต่ประการใด

จนกระทั่งเมื่อพุทธศาสนิกชนได้พร้อมใจกันจัดงานทั่วประเทศ เพราะตระหนักในความสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนาในวันนี้ รัฐบาลไทยโดย นายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2505 ประกาศให้ “วันอาสาฬหบูชา” เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีกวันหนึ่ง โดยเริ่มจากปี 2505 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าใน “พระปฐมเทศนา” ของพระพุทธองค์นั้น ได้ทรงกล่าวถึง “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือการเดินสายกลาง มิให้พุทธศาสนิกชนตึงเกินไป หรือหย่อนเกินไป ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ทรงกล่าวถึง “อริยสัจ 4” หรือความจริง 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค

โดยเฉพาะในส่วนของ มรรค ได้ทรงแยกวิธีปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การ ดับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง รวม 8 ประการ ได้แก่

1.สัมมาทิฐิ (เห็นชอบ หรือความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ ความเข้าใจในอริยสัจ 4

2.สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ หรือความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึงความคิดที่สุจริต ตั้งใจทำสิ่งดีงาม ไม่พยาบาท ไม่เบียดเบียน

3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ หรือวาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด กล่าวแต่คำสุจริต

4.สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือกระทำชอบ) หมายถึงการกระทำที่สุจริตในทุกเรื่อง ละเว้นจากการทำชั่ว หรือประพฤติในสิ่งผิดๆ

5.สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ หรือการหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง)

6.สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ หรือความเพียรพยายามที่ถูกต้อง) ได้แก่ ความพยายามป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุศลที่ยังไม่เกิด และต้องรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้อยู่ต่อไป

7.สัมมาสติ (ระลึกชอบ หรือการมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง ความสำนึก ระลึกรู้ ตั้งมั่นแน่วแน่

8.สัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ หรือการมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึงการคุมจิตใจให้มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

ผมเชื่ออยู่เสมอว่าหากเราดำเนินชีวิตของเราด้วย “สายกลาง” และทุกครั้งที่เกิดทุกข์ ก็ค่อยๆ ตั้งสติขบคิดหาประเด็นแก้ไขไปตามแนวทางแห่งอริยสัจ 4 เราก็จะสามารถผ่านทุกข์นั้นๆ ไปได้

รวมทั้งหากเราปฏิบัติตามมรรค 8 ก็จะทำให้เราพบแต่สิ่งที่ดีงาม ไม่มีทุกข์มาแผ้วพานหรือหากจะมีก็สามารถจะดับทุกข์ได้ในที่สุด

เนื่องในวันอาสาฬหบูชา 2561 เวียนมาบรรจบในวันนี้ ผมขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยจงปกป้องคุ้มครองท่านผู้อ่านทุกท่านให้นิราศทุกข์นิราศภัยทั้งหลายทั้งปวงไปตลอดกาลนาน.

“ซูม”