ชื่นชมสื่อมวลชนไทย จริยธรรมสูงกว่าสื่อนอก

ผมว่าจะจบเรื่องราวของ “13 หมูป่าอะคาเดมี” ไว้ตั้งแต่ฉบับเมื่อวานนี้ด้วยการเขียนถึงรายการโทรทัศน์ “เดินหน้าประเทศไทย” ตอน “ส่งหมูป่ากลับบ้าน” ที่คนดูติดตามทางโทรทัศน์ทั่วประเทศจนเรตติ้งออกมาถล่มทลาย จนอาจกล่าวได้ว่าสูงสุดในยุคทีวีดิจิตอ

เพราะการเขียนหรือรายงานถึงเรื่องหมูป่าต่อไปนี้อาจจะต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากของสิ่งใดหรือเรื่องใดๆ ก็ตามเมื่อมาถึงจุดสูงสุดหรือจุด “พีก” แล้ว จากนั้นก็จะค่อยๆ ลดถอยลง

โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ในทางลบและมีผลกระทบต่อเด็กๆ ในทีมหมูป่าอะคาเดมีจะเป็นไปได้สูง

ผมจึงเห็นว่าควรจะยุติการเสนอข่าวเรื่องนี้ โดยเฉพาะในแง่มุมของเด็กๆ และสำหรับคอลัมน์ผมเองก็ตั้งใจว่าจะไม่เขียนถึงกรณีนี้อีก

แต่พอเขียนคอลัมน์เมื่อวานนี้เสร็จส่งไปตีพิมพ์เรียบร้อยก็ได้อ่านเฟซบุ๊กของจิตแพทย์ท่านหนึ่งที่มีการแชร์อย่างกว้างขวาง
คุณหมอ ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ครับ ท่านเป็นที่ปรึกษา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้โพสต์ข้อความไว้ว่า

“การที่นักข่าวต่างชาติได้สัมภาษณ์น้องจากกรณีติดถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย นั้น สำนักข่าวต่างชาติ ส่วนใหญ่ ก็มิได้ทำแบบนี้ มีเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีเลย สื่อบ้านเรามากกว่าที่สามารถรักษามาตรฐานที่ดีต่อการเคารพสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่ไปทำข่าว หรือสอบถามผู้รอดชีวิตทั้ง 13 ชีวิต ต่อเรื่องประสบการณ์ในถ้ำด้านลบ ซึ่งมิติสุขภาพจิตคำถามด้านลบเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะ Retrauma (บาดแผลทางใจ)”

“ผมขอชื่นชมสื่อมวลชนไทยที่ไม่ทำแบบนี้ การไปสัมภาษณ์โดยไปรบกวนสิทธิส่วนบุคคลมีความผิดอยู่แล้ว สื่อต่างชาติที่ทำแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเหมาะสม สื่อมวลชนไทยไม่สมควรเลียนแบบหรือทำตาม หากเด็กสามารถก้าวพ้นผ่านประสบการณ์ด้านลบกระทั่งมีจิตใจที่เข้มแข็ง สื่อทั้งหลายสามารถสัมภาษณ์เพื่อเป็นบทเรียนกับผู้อื่นและสังคมได้ แต่ต้องให้ผ่านช่วงระยะเวลาวิกฤติไปก่อน”

ครับ! ทั้งหมดนี้คือข้อความที่คุณหมอโพสต์ไว้และผมขออนุญาตนำมาลงเผยแพร่อีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งขออนุญาตเขียนต่ออีกวันหนึ่ง

ผมยอมรับว่าผมตกใจมากที่อ่านข่าวพบว่าวันรุ่งขึ้นหลังจากที่เด็กๆ กลับบ้าน และอยู่ในช่วงที่คณะแพทย์ได้ขอร้องว่าอย่ารบกวนเด็กเลย อย่างน้อยก็สักหนึ่งเดือน เพื่อให้เด็กๆ ปรับตัวปรับใจให้เข้าที่เสียก่อนนั้น

ได้มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักหลายฉบับไปตามสัมภาษณ์เด็กๆ มาหลายคน และได้นำไปเผยแพร่ผ่านสื่อของตนอย่างกว้างขวาง

โดยมาตรฐานแล้วนักข่าวต่างประเทศควรจะตระหนักถึงสิทธิเด็ก และการคุ้มครองเด็กที่เป็นกติกาสากล เรียกกันว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จัดทำขึ้นโดย สหประชาชาติ และได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่ เมื่อปี 2532

ทำให้ทุกๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติต้องไปออกกฎหมายคุ้มครองเด็ก รวมทั้งประเทศไทยเราก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ออกมาบังคับใช้

ม.27 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็ก หรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย แก่จิตใจ ชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก เพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ”

โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรานี้ไว้ว่า จำคุกไม่เกิน 6 เดือนปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

ผมไม่แน่ใจว่านักข่าวต่างประเทศจะเข้าใจกฎหมายไทยหรือไม่? หรือเข้าใจแล้วแต่ตีความว่าไม่ได้มีเจตนาจะทำให้เด็กๆเสียหาย แต่ตั้งใจจะช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงเด็กๆ จะผิดกฎหมายได้อย่างไร?

แต่เมื่อคุณหมอมีความเห็นตรงกันว่า ควรให้เด็กๆ ปรับตัวปรับใจ เพราะไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบหรือไม่ต่อภาวะจิตใจของเด็กๆ เราก็ควรจะเชื่อฟังท่าน

ในทางกฎหมายอาจไม่ชัดนัก พวกคุณอาจจะต่อสู้ได้ แต่ในความรับผิดชอบต่อเด็กๆ และต่อสังคม พวกคุณนักข่าวต่างประเทศที่แหกคอกไปสัมภาษณ์ผิดอย่างแน่นอน

ในฐานะอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ผมขอขอบคุณที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ นักข่าวไทยเราไม่มีใครทำผิดจริยธรรมในประเด็นนี้เลยสักคนเดียว ขอบคุณมากๆ นะครับ.

“ซูม”