สำรวจ “ฟาสต์ฟู้ด” ฝรั่ง โกยเงินเท่าไรในบ้านเรา?

ผมเป็นเพื่อนเฟซบุ๊กของคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา ก็เลยได้รับข่าวสารจากสำนักข่าวอิศราที่คุณประสงค์ช่วยโพสต์วันละหลายๆ ข่าวอยู่เสมอ ทันโลกทันเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา ก็เพราะเป็นเพื่อนคุณประสงค์นี่แหละครับ ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้เป็นเบื้องต้น

ข้อมูลข้างล่างนี้ ผมก็คัดลอกมาจากรายงานของ สำนักข่าว อิศรา ที่คุณประสงค์โพสต์ไว้เมื่อ 2 วันก่อนนั่นเอง

ทำให้ผมทราบว่าบรรดาร้านฟาสต์ฟู้ดฝรั่งต่างๆ ที่เข้ามาตั้งสาขาอยู่ในประเทศไทยเรานี้ โกยเงินไปจากคนไทยปีละเท่าไร? ได้กำไรเท่าไร?

เริ่มจาก สตาร์บั๊คส์ แบรนด์ร้านกาแฟจากอเมริกาที่โด่งดังมีสาขาทั่วโลก ซึ่งผมขอคุยหน่อยว่า ผมนี่แหละที่เป็นคนแรกที่เขียนถึงกาแฟยี่ห้อนี้ในคอลัมน์นี้เมื่อกว่า 20 ปีก่อนโน้น

ช่วงนั้น ร้านนี้เริ่มแพร่หลายในอเมริกา ผมไปเยี่ยมลูกๆ ที่เรียนหนังสืออยู่ที่โน่น เคยไปนั่งที่สาขาหนึ่งของนิวยอร์ก นั่งปั่นต้นฉบับในร้านระหว่างรอลูกเรียนหนังสือเป็นประจำ ก็เลยเขียนเล่ามาด้วย

อีกไม่นานสตาร์บัคส์ก็มาเมืองไทยและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

ตัวเลขรายได้และผลกำไรที่สำนักข่าวอิศราไปค้นมาจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่าปี 2556 ยอดรายได้ของกาแฟยี่ห้อนี้รวมกัน 3,329 ล้านบาทเศษ มีกำไรสุทธิ 419 ล้านบาทเศษ

ต่อมาในปี 2560 พบว่ายอดรายได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 6,976 ล้านบาทเศษ และกำไรก็เท่าตัวเช่นกัน คือ 885 ล้านบาทเศษ

มาที่ แฮมเบอร์เกอร์ ดัง แม็คโดนัลด์ บ้างครับ ถือเป็นสินค้าวัฒนธรรมของเมืองลุงแซมเลยละ

บริษัทแม็คไทยที่สำนักข่าวอิศรารายงานไว้ปรากฏว่ารายได้ปี 2556 อยู่ที่ 5,608 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 207 ล้านบาทเศษ

ปี 2560 ล่าสุด ยอดจำหน่าย 6,373 ล้านบาทเศษ แต่แจ้งว่ารายจ่าย สูงขึ้นมาก เหลือกำไรแค่ 2 ล้านบาทกว่าเท่านั้น ไม่ทราบว่าน้อยไปหรือเปล่า แต่ทั้งหมดผมลอกมาจากรายงานของสำนักข่าวอิศราทั้งดุ้นเลยครับ

มาที่ เคเอฟซี หรือไก่ทอดแบรนด์อเมริกันอีกแบรนด์กันบ้าง ข้อมูลของบริษัทยัมเรสเทอรองส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ปี 2556 ระบุว่า รายได้รวม 9,659 ล้านบาท มีกำไร 362 ล้านบาท

ครั้นถึงปี 2561 หรือปีล่าสุด ที่มีข้อมูลทำรายได้ 16,861 ล้านบาทเศษ กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 1,146 ล้านบาท

อีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าสนใจคือร้านไอศกรีม “สเวนเซ่นส์” ครับ ร้านนี้มีต้นกำเนิดอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งผมจำได้ว่าตระเวนหากับผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำซานฟรานฯแทบตาย กว่าจะเจอว่าอยู่ที่แถวๆสถานีรถรางอันโด่งดังของซานฟรานฯนั่นเอง แล้วก็มีแค่ร้านเดียวเท่านั้นที่นั่น

แต่ในเมืองไทย “สเวนเซ่นส์” ฮิตมาก มีทั่วทุกแห่งหน และ ปี 2556 มีรายได้ 1,675 ล้านบาทเศษ กำไร 114 ล้านบาทเศษ

มาถึงปี 2560 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,799 ล้านบาทเศษ และกำไรเพิ่มมาที่ 140 ล้านบาท

ก็คงจะพอช่วยให้เห็นภาพกว้างๆ ได้นะครับ ว่าคนไทยเราใช้จ่ายเงินเพื่อบริโภคร้านอาหารแบรนด์ดังจากนอกเหล่านี้ปีละเท่าไร

ในความเห็นของผมจะว่ามากก็ไม่มากนัก เพราะออกมาน้อยกว่าที่ผมเคยคิดไว้ แต่ที่สำคัญก็คือ ฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีและวัฒนธรรมในการรับประทานอาหารของคนไทยเราพอสมควร

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ดูจะนิยมกันมากเข้าไปบริโภคแต่ละครั้ง จะให้อิ่มต้อง 100 บาทเป็นอย่างต่ำขึ้นไป ทำให้เด็กรุ่นใหม่ใช้จ่ายเงินอย่างไม่ประหยัด

แต่หลายๆ สินค้าของเราก็มีแบรนด์สู้อย่าง “กาแฟ” ต้องยกให้ “Amazon” (อเมซอน) ของ ปตท. ที่น่าจะมียอดขายเยอะกว่าสตาร์บัคส์ แถมยังมีกาแฟจากโครงการหลวงต่างๆ อีกหลายๆ แบรนด์มาประกบ

มาช่วยกันเชียร์แบรนด์ไทยสู้กับแบรนด์นอกนะครับ…โดยเฉพาะไอศกรีม ผมฝากไว้ยี่ห้อหนึ่ง คือ “ไผ่ทอง” ไอศกรีมรถเข็นนั่นแหละ เมื่อไรจะตั้งร้านสู้สเวนเซ่นส์มั่ง

ผมเชียร์เต็มที่เลยยี่ห้อนี้…ไม่ใช่อะไรหรอก เพราะโรงงานแรกของเขาอยู่ข้างๆ “สภาพัฒน์” สำนักงานเก่าของผม ที่สะพานขาว เห็นมาตั้งแต่เป็นห้อง 2 คูหา เมื่อทราบว่าเดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ และอยู่ อย่างเจริญก้าวหน้าซะด้วย…เลยเชียร์ให้สุดๆ หัวใจไปเลยซีน่ะ.

“ซูม”