เมื่อคำว่า “โง่ จน เจ็บ” กลายเป็นคำพูด “หลงยุค”

เมื่อ 2 วันก่อนมีข่าวว่าท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นท่านหนึ่งลงนามในหนังสือราชการ ถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อเชิญประชุมเตรียมการต้อนรับนายกรัฐมนตรี โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม

โดยมีประโยคอยู่ประโยคหนึ่งซึ่งเป็นประโยคคำถาม ซึ่งจะเป็นชื่อของหัวข้อการประชุมว่า “ทำอย่างไรให้ประชาชนหายโง่” หลุดออกไปตามส่วนราชการ

ส่งผลให้มีการแชร์หนังสือเชิญประชุมออกไปอย่างกว้างขวางผ่านโลกโซเชียล จนมีเสียงตำหนิท่านรองผู้ว่าฯ รายดังกล่าวดังกระหึ่มไปทั่ว

ต่อมาท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านรองผู้ว่าฯ เจ้าของลายเซ็นเชิญประชุมก็ออกมาแถลงข่าวขอโทษประชาชน ยกมือไหว้อย่างนอบน้อมว่า ไม่มีเจตนาดูถูกดูหมิ่นประชาชนแต่อย่างใด

แท้ที่จริงแล้วคำว่า “โง่” เป็นคำหนึ่งที่ใช้กันอยู่ในกระบวนการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนในชนบทห่างไกลเผชิญอยู่ ซึ่งหลักๆแล้วก็มีอยู่ 3 ประการ คือ “โง่” “จน” และ “เจ็บ” นั่นเอง

คำว่า “โง่” นั้น หมายถึงความไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ข้อมูลข่าวสารไม่ทันคนอื่น ไม่ทันโลก ไม่ทันสังคม เจ็บ คือ ความเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ และ จน ก็คือ ความจน ความยากไร้ที่ประชาชนเผชิญอยู่

ผมอ่านข่าวทั้งหมดนี้แล้วก็เข้าใจและเห็นใจท่านรอง ผวจ.เป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านเห็นคำว่า “โง่” แล้วปล่อยให้หลุดไปโดยไม่ตัดออก แถมลงนามซะอีก

เพราะจริงอย่างที่ท่านผู้ว่าฯ ชี้แจงทำความเข้าใจและยกมือไหว้อย่างนอบน้อมแหละครับว่า คำ 3 คำนี้คือ “โง่ จน เจ็บ” เป็นถ้อยคำที่ ใช้บรรยายถึงสภาพความเป็นจริงของพี่น้องประชาชนในชนบทมานานมาก

ภาษาในทางวิชาการที่ใช้กันเมื่อ พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นยุคของการจัดทำแผนพัฒนาชนบทยากจนอย่างจริงจัง ภายใต้การนำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือคำว่า “ยากจน เจ็บไข้ และไม่รู้”

เป็นถ้อยคำจากสภาพัฒน์ ซึ่งมีท่านรอง โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ที่ผมเพิ่งจะเขียนถึงเมื่อ 2 วันก่อน เป็นผู้ริเริ่มใช้ถ้อยคำดังกล่าว

เพราะใน พ.ศ.ที่อ้างถึงปัญหาหลักของคนในชนบทมีอยู่ 3 ข้อนี้จริงๆคือ “ยากจน” ซึ่งสมัยโน้นจนแบบเข้ากระดูก รายได้ไม่พอเพียง ลำบากยากแค้นแสนสาหัสมาก

ตามมาด้วย “เจ็บไข้” คือปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคขาดสารอาหารไปจนถึงโรคร้ายๆสารพัด แถมขาดหมอ ขาดโรงพยาบาล

สุดท้ายก็คือ “ไม่รู้” ซึ่งหมายถึงการขาดความรู้เพราะเรียนน้อยจบแค่ ป.4 บางคนจบแล้วความรู้ก็คืนครูหมด อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทำให้รู้เท่าไม่ทันคนอื่น จนถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ

แต่พอลงไปประชุมขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ก็มีการนำถ้อยคำไปดัดแปลง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น และมีการใช้ภาษาชาวบ้านตรงไปตรงมามากขึ้น

คำว่า “ยากจน เจ็บไข้ ไม่รู้” ก็กลายเป็น “จน เจ็บ โง่” โดยเปลี่ยนคำว่า “ไม่รู้” เป็น “โง่” ไปเสีย

ต่อมาก็สลับใหม่เป็น “โง่ จน เจ็บ” เพราะพูดได้คล่องปากกว่า กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงเวลาดังกล่าวในแวดวงนักพัฒนาชนบท

เผอิญว่าการพูดจาในยุค พ.ศ.2525 มักจะพูดกันในห้องประชุม ไม่มีใครอัดคลิปมาเผยแพร่แบบสมัยนี้ หรือเวลาที่จะออกไปเป็นข้อเขียนทางสภาพัฒน์ก็จะช่วยดูแลไม่ให้คำว่า “โง่” หลุดออกไปสู่สาธารณะ

มาถึงยุคนี้โลกเราเปลี่ยนไป ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นทั่วโลก การพูดการเขียนอะไร แม้จะอยู่ในที่ลับ แต่ก็กลายเป็นเรื่องไม่ลับ และออกมาสู่สาธารณชนเสียมากต่อมาก

การใช้ถ้อยคำต่างๆจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และจะต้องช่วยดูให้รอบคอบ เพราะพลาดไปแล้วก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนต้องมาแก้ตัว หรือชี้แจงทำความเข้าใจอย่างที่เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

อะไรไม่อะไร ผมละกลัวจริงๆ ประเภทเซ็นหนังสือแล้วไม่ดูไม่อ่านละเอียดเนี่ย เกิดลูกน้องส่งหนังสือมาบอกว่า “ข้าพเจ้าขอลาออกจากราชการ” พอเซ็นปุ๊บมิต้องลาออกกันหมดหรือครับ

คราวหน้าคราวหลังระมัดระวังหน่อยก็แล้วกัน ก่อนจะเซ็นอะไรลงไป–3 เรื่องแล้วละมังครับที่หลับหูหลับตาลงชื่อ กลายเป็นเรื่องสอบกันไม่จบจนถึงเดี๋ยวนี้.

“ซูม”