ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาหมาดๆนี่เอง (23-24-25 ก.พ. 2561) หัวหน้าทีมซอกแซกโชคดีมีโอกาสเดินทางกับชาวคณะไทยรัฐชุดใหญ่ประมาณ 15 ชีวิต ไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เพื่อเยี่ยมชมการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี แขวงไซยะบุรี ดังที่หัวหน้าทีมได้บอกกล่าวเล่าสิบไว้บ้างแล้วในคอลัมน์ประจำวันเมื่อ 2 วันก่อน
แต่ก็เป็นการเขียนถึงเรื่องราวของการสร้างฝายน้ำล้นเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย ซึ่งค่อนข้างจะเป็นเรื่องสาระความรู้ออกไปในทางเศรษฐกิจ ทางสังคมเสียเป็นส่วนมาก
สำหรับซอกแซกวันอาทิตย์เป็นคอลัมน์สบายๆ ไร้วิชาการหนักสมอง มีแต่เรื่องราวที่ชวนให้เบิกบานสำราญใจเท่านั้น…ฉะนั้นก็คงต้องพูดถึงแง่มุมทางด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ตามแนวทางที่กำหนดไว้
ซึ่งก็เผอิญโชคดีอีกเช่นกัน เพราะเมืองที่คณะของเราจะต้องไปตั้งหลักและนอนพักก่อนจะออกไปตะลุยดูฝายกั้นน้ำยักษ์ที่ไซยะบุรีนั้นก็คือ หลวงพระบาง เมืองท่องเที่ยวและเมืองมรดกโลก อันเป็นที่รู้จักดีทั่วโลกนั่นเอง
หัวหน้าทีมซอกแซกและชาวคณะไทยรัฐ จึงได้รับของแถมชิ้นยิ่งใหญ่ ได้มีโอกาสพักผ่อน ได้ดูชมตัวเมืองและไหว้พระทำบุญ ณ วัดอันเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่ชาวลาวนับถือจนครบถ้วน
โดยส่วนตัวหัวหน้าทีมซอกแซกเอง นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ที่มีโอกาสไปเยือนหลวงพระบาง โดยครั้งแรกจำไม่ได้แล้วว่าไปเมื่อปีใด พ.ศ.ใดกันแน่
จำได้แค่ความสุข ความปลาบปลื้มและความดื่มด่ำที่พวกเราชาวคณะไทยรัฐ รุ่นอาวุโส ได้รับจากการไปเยือนครั้งกระโน้น ด้วยความเมตตาของท่านประธาน นสพ.ไทยรัฐ คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล
จำได้แม่นที่สุดก็เห็นจะเป็นภัตตาคาร L’Elephant ที่มีตำนานว่าเจ้าของเป็นทายาทในตระกูลสูงศักดิ์ของราชอาณาจักรลาวในอดีต จึงมีฝีมือทางปรุงอาหาร ทั้งสไตล์ฝรั่งเศส และสไตล์พื้นเมืองที่ยากจะหาใครในเมืองลาวเทียมทัน
ที่คณะของเราติดใจกันมากก็คือ “ซุปหัวหอม” กับ “ส้มตำหลวงพระบาง” ที่มีการใส่ปลาร้าผสมผสานกับกะปิ จนได้รสชาติที่กลมกล่อมถูกปากคนไทยเป็นที่สุด
เมื่อพูดถึงอาหารการกิน ก็นึกขึ้นมาได้อีกว่า พวกเรากลุ่มเล็กๆแอบหนีไปรับประทานปาท่องโก๋ และกาแฟยามเช้า ที่ร้านริมฝั่งโขงร้านหนึ่ง จำชื่อได้แม่นยำว่าร้าน “ประชานิยม” รสชาติกาแฟถึงอกถึงใจ รวมทั้งบรรยากาศริมโขงกับเก้าอี้ดนตรีที่จะต้องแย่งกันนั่ง เพราะลูกค้าเยอะมาก ยังอยู่ในความทรงจำของหัวหน้าทีมซอกแซกจนถึงบัดนี้
อีกกิจกรรมที่เป็นสัญลักษณ์ของหลวงพระบาง และไม่มีวันลืมเลือนได้เลยก็คือ การใส่บาตรข้าวเหนียวในถนนกลางเมืองมรดกโลก ซึ่งจะมีพระภิกษุสามเณรหลายร้อยรูปมาเดินถือบาตรรับข้าวเหนียวที่พุทธศาสนิกชน (กว่าครึ่งเป็นนักท่องเที่ยว) นั่งกับพื้นถวายใส่บาตรเป็นทิวแถวยาวเหยียด ท่ามกลางหมอกจางๆของยามเช้าตรู่ ในฤดูหนาวของหลวงพระบาง
และแน่นอน เมื่อพูดถึงพระสงฆ์ และพระศาสนาก็จำได้ถึงวัดวาอารามอันเก่าแก่ต่างๆ ที่คณะของคุณหญิงประณีตศิลป์ได้ไปเยือนหลายต่อหลายวัด ตามวัตถุประสงค์หลักของการไปเยือน คือ “ทัวร์ไหว้พระ” ตามอายุของพวกเราที่ค่อนข้างสูงมากแล้ว จึงมักจะนึกถึงพระนึกถึงวัดมากกว่าอะไรอื่นๆ
ไปเที่ยวนี้จึงเท่ากับไประลึกความหลัง และไปทบทวนความทรงจำอีกครั้งสำหรับหัวหน้าทีม
ต้องขอขอบคุณ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือ ช.การช่าง ที่เชิญคณะเราไปเยือนโครงการไซยะบุรี และจัดให้ท่องเที่ยวทัศนศึกษาชมนครหลวงพระบางถึง 2 วันเต็มๆ
พร้อมกับจัดให้ “พี่สมจิต” ไกด์ระดับ “เดี่ยวมือหนึ่ง” ของหลวงพระบาง เป็นผู้นำไหว้พระและเยี่ยมชมวัดชมวังครบถ้วน
ในส่วนของวัดได้ไปนมัสการ วัดเชียงทอง สุดยอดสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาวอีกครั้ง และมีโอกาสกราบไหว้พระพุทธรูปทองคำอันศักดิ์สิทธิ์ในพระวิหารเล็กๆ ที่ปกติจะไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวกราบไหว้ โดยจะมีเพียง “รู” ขนาดเท่าดวงตาที่เจาะไว้สำหรับให้ไปยืนแอบชมเท่านั้น แต่คณะของเราได้สิทธิพิเศษ ท่านเจ้าอาวาสมีเมตตามาเปิดประตูให้ขึ้นไปกราบกันจนครบถ้วนทุกๆคน
จากนั้นก็ไปวัดวิชุนราช ที่ประดิษฐาน พระบาง อันศักดิ์สิทธิ์ และอีกด้านหนึ่งจะมีพระธาตุคล้ายแตงโมผ่าซีก ที่ชาวลาวเรียกว่า พระธาตุหมากโม ตั้งตระหง่านอยู่
ตบท้ายด้วยการไปเยี่ยมชม หอพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง ซึ่งเป็นพระราชวังเก่าของพระเจ้ามหาชีวิตลาว รวมทั้งพระองค์สุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
อื่นๆนอกจากนี้ก็ไปตามรอยการมาครั้งที่แล้วจนเกือบครบ เช่นไปกินกาแฟยามเช้าที่ร้าน “ประชานิยม” ริมโขง รสชาติและบรรยากาศยังเหมือนเดิม ไปลิ้มรสอาหารที่ L’Elephant ซึ่งก็ยังอร่อยเหมือนเดิมเช่นกัน
ไปนั่งตักบาตรข้าวเหนียวยามเช้าที่หน้าโรงแรมที่พัก ซึ่งอยู่ใจกลางหลวงพระบางพอดี เนื่องจากเป็นทางแยกจึงมีพระภิกษุสามเณรแยกมารับบาตรประมาณ 50-60 รูปเท่านั้น รู้สึกประทับใจครั้งก่อนที่มาร่วมๆ 200 รูปมากกว่า
นอกนั้นก็นั่งรถตระเวนไปรอบๆเมือง วันละหลายๆรอบ และเดินยํ่าตลาดในเมือง รวมทั้งตลาดมืด (ขายกลางคืน) ที่ข้างๆโรงแรมอีก 2 รอบ
ต้องชื่นชมการทำนุบำรุงและการควบคุมที่เขาเล่าว่า มีคณะกรรมการจากยูเนสโกมาคุมด้วย ทำให้การก่อสร้าง การแต่งเติมตัวเมืองหลวงพระบางต่างๆ จะต้องได้รับอนุญาตเสียก่อน โดยจะต้องสร้างในรูปแบบที่กำหนดไว้เท่านั้น
ด้วยเหตุฉะนี้ แม้จะมีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากขึ้น มีโรงแรมโผล่ผุดมากขึ้น แต่หลวงพระบางวันนี้ก็ยังมีสภาพเหมือนวันโน้น คือวันที่หัวหน้าทีมซอกแซกไปเยือนคราวก่อนทุกประการ
อิจฉาเขาจังเลย ทำไมบ้านเราถึงทำไม่ได้เหมือนเขาหนอ ทั้งๆที่หลายเมืองของเราก็เป็นมรดกโลกเช่นเดียวกัน.
“ซูม”