เมื่อปลายๆสัปดาห์ที่แล้ว สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยท่านเลขาธิการ ดนุชา พิชยนันท์ ออกมาแถลงกับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ของปีนี้
สรุปได้ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยเราขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3 เกินกว่าที่คาดหมายไว้
ถือเป็นข่าวดีเล็กๆ ข่าวหนึ่งในท่ามกลางข่าวที่ไม่สู้ดีเท่าไรนัก เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยเรา ในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมานี้
แม้ผมจะหยิบมาบันทึกช้าไปนิดหน่อย แต่ก็ต้องขออนุญาตบันทึกไว้ละครับ…เพื่อที่จะเป็นขวัญเป็นกำลังใจสำหรับการที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศกันต่อไป
ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 หรือระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม และกันยายนของปีนี้ร้อยละ 3
ดังกล่าว เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 และไตรมาสแรกร้อยละ 1.6 อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง
เมื่อไปดูรายละเอียดว่า อะไรคือตัวเร่งสำคัญของไตรมาสที่ 3 ก็จะพบว่ามาจาก การลงทุนภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยการส่งออกด้านบริการเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ และการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น 8.3 เปอร์เซ็นต์
สาขาก่อสร้างก็เพิ่มขึ้นเกือบ 16 เปอร์เซ็นต์ การขนส่งเพิ่ม 9 เปอร์เซ็นต์ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารก็เพิ่มกว่า 8 เปอร์เซ็นต์
ที่สำคัญตัวเลขดังกล่าวนี้ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงประเด็นหนึ่งที่เราเชื่อกันแต่แรกว่าที่เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วโตช้าแค่ร้อยละ 1.9 และใน 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ก็ยังโตได้ไม่มาก เป็นเพราะงบ การลงทุนของภาครัฐ ที่หดหายไป
เหตุเพราะไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพราะอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลและความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อสามารถเบิกจ่ายได้อย่างเต็มที่ ทำให้งบ ลงทุนภาครัฐกระฉูดถึงเกือบร้อยละ 26 จึงส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 3 ขึ้นไปที่ร้อยละ 3 ดังกล่าว
เสียดายที่การลงทุนภาคเอกชนน้อยลงไปถึงขั้นติดลบ…มิฉะนั้นการเติบโตอาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ
สภาพัฒน์คาดหมายต่อไปว่าไตรมาสที่ 4 ที่เราย่างก้าวเข้ามาเรียบร้อยแล้วนี้ก็จะยังคงดีอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นผลให้ปี 2567 ทั้งปี เศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้กว่าร้อยละ 2.6 ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 2566 ที่โตเพียงร้อยละ 1.9 เท่านั้น
ท่านเลขาฯ สภาพัฒน์ยังมองต่อไปอีกว่า ปีหน้า 2568 อาจขยายตัวได้ตั้งแต่ 2.3 ไปจนถึง 3.3 เปอร์เซ็นต์ ดีกว่าปีนี้อีก หากสามารถบริหารความเสี่ยงเอาตัวรอดจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังตึงเครียดไปได้ระดับหนึ่ง
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามความสามารถของรัฐบาลชุดนี้กันต่อไปว่าจะบริหารออกมาในลักษณะใด
ท่านเลขาฯสภาพัฒน์สรุปทิ้งท้ายว่า ยังมีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของไตรมาส 3 อีกหลายๆตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพที่ดีของประเทศไทย…ได้แก่
การจ้างงาน มีอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.02 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจาก 1.07 เปอร์เซ็นต์ไตรมาสก่อนๆ เงินเฟ้อ เฉลี่ยอยู่ที่ 0.6 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าค่อนข้างต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 198.5 พันล้านบาท ก็ถือว่าโอเค เงินทุนสำรอง มีอยู่ 243.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็โอเคอีก
หนี้สาธารณะ อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ยังอยู่ในกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดสัดส่วนไว้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์
ครับ! ก็ขอบันทึกไว้ “เพื่อทราบ” ว่าหลายๆ อย่างกำลังดีขึ้น แม้จะไม่ดีมากจนถึงขั้นที่จะไว้วางใจได้ และยังจะต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังรอบคอบต่อไปอีก
แต่อย่างน้อยการมี “ข่าวดี” เรื่องเศรษฐกิจเข้ามาบ้าง แม้จะนิดหน่อยก็ดีกว่าไม่มี “ข่าวดี” อะไรเสียเลย…สรุปสั้นๆ อย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ.
“ซูม”