เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงต่างนำเสนอข่าวและภาพของเด็กนักเรียนคนหนึ่ง ที่สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เป็นที่ 1 ของปีนี้จากผู้สมัครสอบที่มาจากทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นคน และทางโรงเรียนคัดเลือกไว้ประมาณ 1 พันกว่าคน
ได้แก่ “น้องกัปตัน” หรือเด็กชาย ธนภัทร วุฒิวรจินดา อายุ 15 ปี นักเรียนที่จบชั้น ม.3 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จังหวัดนครราชสีมา
สื่อมวลชนรายงานด้วยว่า น้องกัปตันสอบได้เกรด 4 ทุกวิชา ในการเรียน ม.1-ม.3 และเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ.2566 และเคยได้รับรางวัลเหรียญทองคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษามาแล้ว ฯลฯ
ผมเป็นคนที่เชื่อมั่นในทฤษฎี “อัจฉริยะ” ของมนุษย์ และได้เขียนแสดงความคิดเห็นผ่านคอลัมน์นี้เสมอๆ ว่า มนุษย์เราจะมีความสามารถที่ไม่เท่ากัน
จะเรียนเก่งไม่เท่ากัน วาดรูปเก่งไม่เท่ากัน เล่นกีฬาเก่งไม่เท่ากัน เป็นช่างฝีมือเย็บปักถักร้อยที่เก่งไม่เท่ากัน ฯลฯ และ ฯลฯ
ความเก่งหรือความอัจฉริยะของแต่ละคนจะเป็น “พรสวรรค์” ที่พระเจ้ามอบมาให้ และต่อมาเมื่อเขาเรียนรู้เพิ่มเติม ที่เราเรียกกันว่า “พรแสวง” เขาผู้นั้นก็จะพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในคุณสมบัติเฉพาะตัวของเขาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสุดยอดในที่สุด
ไม่มีนักกีฬาเก่งๆ ระดับโลกคนไหนที่มีประวัติว่า ตอนเด็กๆ ไม่ได้เล่นกีฬาประเภทนั้นมาก่อน และไม่มีจิตรกรที่โดดเด่นคนไหน ที่ไม่มีประวัติว่าชอบเขียนภาพโน่นนี่มาตั้งแต่เล็ก
ฉะนั้นคนเรียนเก่งหรือสมองดีก็จะต้องมีประวัติได้ที่ 1 ที่ 2 ของห้องเรียน หรือยุคนี้ก็คือได้ 4 หรือได้ A ตลอด ตั้งแต่เรียนอนุบาล ประถม ไปจนถึงมัธยม
การที่น้องกัปตันสอบได้ที่ 1 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาครั้งนี้ ผมการันตีได้เลยว่า เมื่อเติบใหญ่น้องจะได้เป็น “คนเก่ง” ของประเทศ ในด้านใดด้านหนึ่งอย่างแน่นอน
ขอเพียงให้น้องตั้งใจเรียนไปเรื่อยๆ เท่านั้น
เหมือนบุคคลที่เคยสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมฯ ได้ที่ 1 ในอดีตคนหนึ่ง ที่ผมรู้จักคุ้นเคยอย่างยิ่ง และขอโอกาสที่จะเขียนถึงเขาในวันนี้
ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงได้ยินชื่อ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช มาบ้างแล้ว…ในฐานะอดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล, อดีตประธานสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) และผู้ก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ฯลฯ
คุณหมอ วิจารณ์ พานิช คือผู้ที่สอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาปี 2501 หรือรุ่นที่ 21 เมื่อ 66 ปีที่แล้ว ได้เป็นที่ 1
ในยุคโน้นการสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้เป็นที่ 1 นั้น ยังไม่เป็นข่าวหนังสือพิมพ์ เพราะประชาชนจะสนใจการประกาศผลการสอบชั้นมัธยมที่ 8 ซึ่งเป็นชั้นมัธยมสูงสุดของยุคเสียมากกว่า
ใครก็ตามที่มีชื่ออยู่ใน 1-50 จะเรียกกันว่า นักเรียน “ติดบอร์ด” ซึ่งในแต่ละปีจะมี 100 คนเท่านั้น จาก 2 สายการเรียน (สายวิทยาศาสตร์ และสายอักษรศาสตร์) ใน พ.ศ.ดังกล่าว…และหมอ วิจารณ์ พานิช ก็สามารถสอบได้เป็นที่ 1 หรือ “ติดบอร์ด” อันดับ 1 สายวิทยาศาสตร์ของประเทศไทยได้อีกเช่นกัน ใน 2 ปีต่อมา
หมอวิจารณ์สอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ แล้วก็ข้ามฟากไปจบแพทยศาสตร์ ที่ศิริราช จากนั้นก็ไปต่อปริญญาโทด้านสาขามนุษยพันธุศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโอนมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่สำคัญต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น
นี่คือที่ 1 สอบเข้าเตรียมอุดมฯ ที่ผมรู้จักและภาคภูมิใจ และทำให้ ผมเชื่อมั่นในทฤษฎี “อัจฉริยะ” ว่าคนเก่งก็จะเก่งไปตลอด ซึ่งหากใช้ความเก่งนั้นอย่างถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศชาติ
ดังเช่นเพื่อนที่ได้ที่ 1 เตรียมอุดมฯ ของผมคนนี้ ได้สร้างคุณประโยชน์ไว้กับประเทศไทย
ผมจึงขอฝากน้องกัปตัน หรือน้อง ธนภัทร วุฒิวรจินดา ที่สอบได้ที่ 1 เตรียมอุดมฯปีนี้เอาไว้เช่นกัน…ไม่ว่าน้องจะตัดสินใจเรียนที่ไหน ก็ตาม ขอให้เรียนให้เต็มที่ไปให้สุดๆ เท่าที่น้องจะไปได้
แล้วเอาความรู้สุดๆ ของน้องมาช่วยพัฒนาประเทศไทยของเรา ในอนาคตเหมือนหมอวิจารณ์ในปัจจุบัน…ฝากไว้ด้วยนะครับ.
“ซูม”