กระตุ้นเศรษฐกิจ ดีที่สุด “ทำงาน” ไม่ใช่ “แจกเงิน”

เมื่อวันอังคารที่ 2 มกราคมที่ผ่านมานี้เองศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ออกมาแถลงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปีกระต่าย (2566) ที่เพิ่งจากไปและคาดการณ์ว่าในปีมะโรงหรือปีมังกร 2567 เศรษฐกิจไทยเราจะเป็นอย่างไรบ้าง?

พร้อมทั้งมีข้อคิดข้อเสนอแนะข้อห่วงใยต่างๆ ที่ดีมาก ผมขออนุญาตคัดลอกบางส่วนมาเผยแพร่ต่อ และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเสียในวันนี้เลยนะครับ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่าอัตราเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ในปีมะโรง 2567 จะอยู่ที่ 2.2-4.5 เปอร์เซ็นต์ โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ของปี 2566 ที่เพิ่งจะอำลาจากไปหมาดๆ นี้ ท่านประมาณการว่าขยายตัวร้อยละ 2.5

เท่าๆ กับที่สภาพัฒน์เคยพยากรณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า สำหรับปี 2566 นี้จะอยู่ที่ตัวเลขนี้แหละ

ใครจะมองอย่างไรก็ว่ากันไปตามประสบการณ์ตามแนวความคิดและตามความมุ่งหวังในการพัฒนาประเทศชาติของแต่ละท่านที่ไม่เหมือนกัน

แต่สำหรับผมพอใจสำหรับร้อยละ 2.5 ของปีที่แล้วและร้อยละ 3.2 (ค่ากลางเฉลี่ย) ของปีนี้ตามที่มหาวิทยาลัยหอการค้าคาดไว้

เพราะในความเห็นของผมมองว่า เป็นอัตราเพิ่มที่ไม่เลวร้ายเกินไป แม้จะไม่ดีนัก แต่จะต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร? ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกต้องแก้ปัญหาอย่างไร? ฉะนั้นได้มาแค่นี้ก็ดีถมแล้ว

โดยส่วนตัวผมมองว่า แม้จีดีพีเราจะเพิ่มน้อย แต่มันก็เพิ่ม ประเทศไทยจึงไม่ถึงกับพ่ายแพ้ แม้จะไม่ชนะก็ตาม

สำหรับปีมังกรทอง หรือปีมะโรงที่กำลังย่างก้าวมาถึงนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้า ซึ่งพยากรณ์ว่าจะดีขึ้นแน่ๆ เพราะเงื่อนไขในทางบวกหลายๆ อย่าง แต่ก็ทิ้งท้ายฝากข้อห่วงใยในทางลบไว้พอสมควร

ท่านบอกยังต้องเสี่ยงกับ สงคราม 2 สงคราม ทั้งสงครามเก่ารัสเซีย-ยูเครน และสงครามใหม่อิสราเอลกับฮามาส–นอกนั้นก็เสี่ยงกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสหรัฐฯ-จีน, สหรัฐฯ-รัสเซีย, จีนกับไต้หวัน ฯลฯ

ผมเห็นด้วยกับท่านทั้งหมด แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อสาเหตุหลักอยู่ที่ความโลภ ความหลง ความทะนง ความหยิ่งในตัวเองของประเทศอันยิ่งใหญ่เหล่านั้นทั้งสิ้น จึงไม่มีใครยอมใคร

หญ้าแพรกอย่างเราก็คงทำได้แต่สวดมนต์ภาวนา ขออย่าให้ความขัดแย้งบานปลาย และขณะเดียวกันก็เตรียมหาวิธีหลบภัย หาวิธีเอาตัวรอดไว้ให้ดีที่สุดเท่านั้นเอง

อีกหนึ่งประเด็นที่มหาวิทยาลัยหอการค้าชี้ช่องว่าจะต้องลุ้นก็คือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งศูนย์พยากรณ์เชื่อว่า ถ้า โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านสภาจะทำให้จีดีพีขยายตัวถึง 4.2-4.5 เปอร์เซ็นต์

แต่ถ้าโครงการนี้ไม่ผ่าน ก็จะต้องมาลุ้นต่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร?

ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอยู่แล้วได้คัดค้านมาตลอด และก็จะคัดค้านต่อไป

ด้วยเหตุผลเก่าๆ ที่เขียนไปหลายครั้ง โดยเฉพาะผมไม่เชื่อว่าจะกระตุ้นได้มากขนาดนั้น หรือถ้าได้มากขนาดนั้น จีดีพีที่เพิ่มขึ้นก็จะตกอยู่ที่กลุ่มคนรวย 10 เปอร์เซ็นต์ข้างบนอีก ช่องว่างที่ถ่างอยู่แล้วก็จะถ่างต่อไป

เหตุผลต่อมาผมมองว่าประเทศไทยเราผ่านขั้นโคม่ามาแล้ว ในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ เศรษฐกิจโลกกำลังทรุดอย่างสาหัส ทำให้ประเทศไทยเราพลอยโคม่าไปด้วย จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเพื่อให้มีชีวิตอยู่

ซึ่งบัดนี้ ประเทศเราผ่านโคม่าไปแล้ว เพียงแต่อาจยังไม่แข็งแรงพอ ยังออกไปวิ่งจี๋ไม่ได้ ก็ต้องให้ข้าวให้นํ้าให้ออกกำลังให้ลงจากเตียงไปซ้อมเดิน เพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น

การกระตุ้นที่ดีที่สุดที่ผมจะขอเสนอแนะในที่นี้ก็คือ “การทำงาน” ครับ ไม่ใช่ “แจกเงิน”

ภาครัฐบาลจะต้องทำงานอย่างหนัก ในขณะที่ภาคเอกชนก็จะต้องช่วยรัฐบาลอย่างหนักไปด้วย

ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเรานี่แหละ ผมเคยเห็นมาแล้วว่าการทำงานหนักของรัฐบาลและภาคเอกชน…สามารถเอาชนะสงครามเศรษฐกิจมาได้อย่างงดงาม (อ่านต่อวันจันทร์นะครับ)

“ซูม”

กระตุ้นเศรษฐกิจ ดีที่สุด “ทำงาน” ไม่ใช่ “แจกเงิน”, ประเทศไทย, จีดีพี, สภาพัฒน์, พยากรณ์, รัฐบาล, เอกชน, ข่าว, ซูมซอกแซก, สถานการณ์