ระวัง! ทฤษฎีเดียวกัน แต่ “ใช้” คนละประเทศ

ผมเคยเรียนท่านผู้อ่านไว้หลายครั้งแล้วว่า แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ เลย แต่ก็แสดงความเห็นคัดค้านได้ไม่เต็มปาก

เพราะเป็นแนวโน้มของรัฐบาลทั่วโลกไปเสียแล้ว ที่หันมาใช้วิธี แจกเงินเอาดื้อๆ เพื่อให้ประชาชนของตนนำไปใช้จ่าย เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและเพิ่มพูนรายได้ประชาชาติโดยรวดเร็ว

เมื่อก่อนเรามักจะวิจารณ์กันว่า นโยบายแจกเงินเป็นนโยบาย “ประชานิยม” ใช้กันมากในประเทศละติน อเมริกา ส่งผลให้หลายๆ ประเทศในแถบนั้นกลายเป็นประเทศล้มละลายไปตามๆ กัน

แต่ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำมานี้เองชาติที่แจกก่อนเพื่อนกลายเป็นชาติพัฒนาแล้วแทบทั้งสิ้น เริ่มจากสหรัฐ อเมริกา ซึ่งมีนักเศรษฐศาสตร์ดังๆ มากที่สุดของโลกและเป็นครูอาจารย์สอนวิชานี้แก่คนทั่วโลกนั่นเอง

หลังจากนั้นก็แจกกันยกใหญ่ ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ ฯลฯ รวมทั้งรัฐบาลไทยของเราในยุคของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ดังนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยประกาศจะแจกเงินบ้าง ผมจึงคัดค้านอะไรไม่ค่อยออก นอกเสียจากจะเตือนด้วยความหวังดีว่า เราแจกไปเยอะแล้วนะ ดูสิว่าเรากู้เงินมาเต็มเกจ์หรือยัง? เกินพิกัดวินัยทางการคลังหรือยัง? ช่วยดูให้ถี่ถ้วนกันหน่อย

ที่ผมเป็นห่วงมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ กลไกการคิดตัวเลข GDP ของบ้านเรา ซึ่งผมยังมีความหลังฝังใจอยู่มาก ว่าเป็นตัวเลขที่ไม่สะท้อนความจริงของประเทศอย่างที่ควรสะท้อน

อันสืบเนื่องมาจากวิธีการจัดเก็บตัวเลขของประเทศไทยในอดีต ซึ่งสมัยนี้อาจจะดีขึ้นมาเยอะ แต่ก็ยังต้องระมัดระวังทุกครั้งในการใช้ตัวเลข

ประเทศไทยของเรายังไม่เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ที่เขามีระบบจัดเก็บต่างๆที่ดีกว่า รวมทั้งมีกลไกด้านเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้มากกว่า

ของบ้านเรายังมีอะไรๆ ที่เป็น “สีเทา” หรือ “สีดำ” อีกเยอะที่ตกสำรวจและไม่อยู่ในตัวเลข GDP จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าของเรายังไม่ “เที่ยง” ยังไม่ “เสถียร” ต้องมองเผื่อเอาไว้ด้วย

กรณีตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP จึงต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ ที่เรานึกว่ายังไม่เกินเกณฑ์นั้น…ของจริงอาจจะเกินแล้วก็ได้

หรือที่เชื่อว่าใส่เงินลงไปเท่านั้นเท่านี้ จะทำให้เกิดหมุนเวียนอย่างโน้นอย่างนี้หลายๆ รอบ ก็อาจไม่เป็นจริงก็ได้

กระตุ้นลงไป 5 แสนล้านบาท แล้วหวังว่าจะทำให้ GDP เพิ่มเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์จึงอาจไม่เป็นความจริงเสมอไป เพราะมันอาจไปแป้กตรงจุดโน้นไปหยุดชะงักตรงจุดนี้ตามสภาวะของ “หลุมบ่อ” ทางเศรษฐกิจที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าของประเทศไทยที่มีเต็มไปหมด

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนและจะเป็นภาระของชาติอย่างแน่นอน คือ “หนี้สาธารณะ” เพราะเรากู้มาแล้วและใช้หมดไปแล้ว…ถ้ามันหมุน ได้หลายรอบจริงอย่างที่ฝันก็โอเค แต่ถ้ามันแป้ก…หนี้สินนั้นก็จะอยู่กับประเทศให้คนรุ่นหลังใช้หนี้ไปอีกนาน

ท่านนายกฯ เศรษฐา ท่านตั้งความหวังไว้ว่าการใช้จ่ายครั้งนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก พร้อมกับเชิญชวนประชาชนว่า

“นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชน แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล (Partnership) ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ”

“ผมขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิจงร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างความเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ”

“ที่มาที่ไปของโครงการนี้เกิดจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการเจริญเติบโตเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ซึ่งน้อยมาก และเราก็โตน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาทุกปี”

ผมก็ขออนุญาตกราบเรียนไว้อีกครั้งว่าผมยังไม่ไว้วางใจใน “หลุมบ่อ” ของประเทศไทย และยังเชื่อเสมอว่า GDP เป็นเรื่องสมมติ เดี๋ยวก็ ปรับเดี๋ยวก็แก้ แต่เงินกู้ 5 แสนล้านบาททั้งก้อน ถ้าต่อไปสภาอนุมัติให้กู้… นั่นแหละจะเป็นของจริง

เพราะจะต้องใช้หนี้จริงๆ จนกว่าจะหมดหนี้ก้อนนี้.

“ซูม”

ระวัง, ทฤษฎีเดียวกัน แต่ “ใช้” คนละประเทศ, นโยบาย, แจกเงิน, ประชานิยม, การเมือง, เงินดิจิตัล 10,000 บาท, กระตุ้น, เศรษฐกิจ, ข่าว,​ ซูมซอกแซก