บทบาท “ราชการประจำ” ในสถานการณ์ “ไม่ปกติ”

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานว่าท่านปลัดกระทรวงการคลังได้ออกมาแถลงแก่ผู้สื่อข่าวว่า เนื่องจากในช่วงเวลานี้อยู่ในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และต้องอาจใช้เวลาในการจัดตั้งพอสมควร

อันจะเป็นผลให้การจัดทำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2567 ต้องล่าช้า และมีผลใช้บังคับเกินเลยไปจากปฏิทินของปีงบประมาณ 2567 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

กระทรวงการคลังประเมินว่าการใช้ พ.ร.บ.งบประมาณที่ล่าช้านี้จะมีผลกระทบต่องบรายจ่ายลงทุนของภาครัฐ ในอันที่จะทำให้การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีลดลง 0.05 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น เพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้ดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงได้เตรียมแผนรองรับเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จะได้มีการประสานงานกับสำนักงบประมาณต่อไปอย่างใกล้ชิด สำหรับการจัดทำแผนงานรองรับเพื่อให้มีการใช้งบประมาณของปี 2567 ไปพลางก่อน ซึ่งเป็นอำนาจของผู้อำนวยการสำนักงบประมาณที่จะดำเนินได้ในหมวดที่เป็นรายจ่ายประจำ และงบโครงการลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่อง ฯลฯ

ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังก็จะดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น เร่งรัดงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินงบประมาณรวมทั้งหารือกับสถาบันการเงินของรัฐ สำหรับกรณีสินเชื่อต่างๆ ที่ให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งยังมีวงเงินสินเชื่ออยู่อีกจำนวนหนึ่ง

เพื่อเร่งรัดให้มีการปล่อยสินเชื่อนั้นๆ ในการที่จะช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เพื่อชดเชยในช่วงเวลาที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 ยังไม่ออกมาบังคับใช้

จริงๆ แล้วสาระของข่าวนี้ยังมีอีกหลายประเด็น แต่ผมขออนุญาตยกมาเป็นตัวอย่างโดยสังเขปในวันนี้เพียงเท่านี้ด้วย 2 เหตุผลครับ

เหตุผลแรกก็คือจะขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงการคลังและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังอื่นๆ ที่ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างเหมาะสม กับการเป็นข้าราชการกระทรวงการคลัง

มีการวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ตามข้อเท็จจริง พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานั้นอย่างมีรูปธรรมโดยไม่ชักช้า เพื่อมิให้เศรษฐกิจของประเทศต้องถดถอยลงไป

แม้ว่าสิ่งที่ดำเนินการอาจไม่ได้ผลเต็มที่เหมือนการใช้งบประมาณที่คลอดออกมาตามกำหนดอย่างเป็นปกติ แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายาม ซึ่งผมเชื่อว่าจะแก้ได้ หรือช่วยประเทศชาติได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนเหตุผลข้อสองของการเขียนถึงข่าวนี้ ก็เพื่อจะฝากไปถึงข้าราชการประจำของกระทรวงอื่นๆ ด้วย

ดูจากสถานการณ์ ณ บัดนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเราจะได้รัฐบาลเร็วนักและคงจะยังไม่มีรัฐมนตรีท่านใหม่มาดูแลงานของแต่ละกระทรวงอีกพักใหญ่

ในขณะที่รัฐมนตรีคนเก่าก็เป็นเพียงรัฐมนตรีรักษาการไม่สามารถที่จะอนุมัติโครงการใหม่ๆ อะไรได้ ซึ่งก็คงไม่เป็นไร เพราะงานแก้ปัญหาของชาติในหลายเรื่องก็ไม่จำเป็นจะต้องมีโครงการใหม่ๆ แต่อย่างใด

งานเก่างานเดิมที่ท่านดำเนินการอยู่นั่นแหละ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาของประชาชน และของประเทศชาติในบางส่วนได้อยู่แล้ว

เหมือนอย่างที่กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าการล่าช้าของ พ.ร.บ.งบประมาณจะมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ท่านก็เตรียมการล่วงหน้าที่จะแก้ไขปัญหาที่ท่านสามารถดำเนินการได้ในขอบข่ายอำนาจหน้าที่ของท่านในทันที

ขอฝากข้าราชการประจำทุกกระทรวงทุกกรมจงทำหน้าที่ของท่านให้เต็มที่ แม้จะยังไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ตาม

ปัญหาของประชาชนและประเทศชาติในด้านต่างๆ จะเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ในทุกๆ สถานการณ์

ห้ามเกียร์ว่างเป็นอันขาด เพราะช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และหน้าสิ่วหน้าขวานอย่างยิ่งนั้น…ต้องการการทำหน้าที่ที่เข้มแข็ง และซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการประจำทุกคน

ในฐานะเสาหลัก อันสำคัญยิ่ง เสาหนึ่งของประเทศไทย.

“ซูม”

อ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติมได้ที่

บทบาท “ราชการประจำ” ในสถานการณ์ “ไม่ปกติ”, การเมือง, โหวตนายก, รัฐบาล, ข้าราชการ, เศรษฐกิจ, ปัญหา, ข่าว, ซูมซอกแซก, กระทรวง