วันนี้ 4 กรกฎาคม เป็นวันโด่งดังระดับโลกวันหนึ่ง โดยเฉพาะที่อเมริกา เขาเรียกว่า วัน “Fourth of July” หรือวันประกาศอิสรภาพของ 13 รัฐ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เมื่อ 4 ก.ค. ปี ค.ศ.1776 หรือ 247 ปีที่แล้ว
คนอเมริกันก็เลยถือว่าวันนี้เป็น “วันชาติ” ของเขา ซึ่งจะเป็นวันหยุดทั่วประเทศ และจะมีพิธีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในทุกๆ รัฐ
หลายๆ ปีก่อนผมไปนิวยอร์กตรงกับ “4 ก.ค.” พอดี ทำให้มีโอกาสได้ดูชมการจุดพลุที่สุดอลังการจากเรือในลำน้ำ East River เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิต
จำได้ว่าผู้คนแน่นมาก ไปจองที่นั่งตั้งแต่เที่ยงวันเพื่อจะดูการจุดพลุช่วงค่ำๆ หนังสือพิมพ์วันรุ่งขึ้นรายงานว่า จำนวนคนกว่า 2 ล้านคน ไปเฝ้ารอดูพลุที่นิวยอร์กในวันที่ 4 ก.ค.ปีดังกล่าว
ในส่วนของประเทศไทยเรานั้นวันที่ 4 กรกฎาคมตรงกับวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี จึงเป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน และร่วมจิตร่วมใจกันถวายพระพรชัยมงคลแด่พระองค์ท่าน นับเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่ง
ต่อมาปี 2540 หรือ 26 ปีที่แล้ว บรรดาเจ้าของ บรรณาธิการและผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ทั่วประเทศไทย ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อจัดตั้ง “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรหลักในการควบคุมดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมของพวกเราชาวหนังสือพิมพ์
ทำให้วันที่ 4 ก.ค.ของทุกปี กลายเป็นวันรำลึกถึงการก่อตั้ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น “สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่บรรดาพวกเราชาวหนังสือพิมพ์และชาวสื่อมวลชนยังคงให้ความสำคัญอยู่เสมอๆ
ดังเช่นปีนี้ ก็มีการจัดงานเฉลิมฉลองมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน และวันนี้เวลา 13 นาฬิกา ก็ยังจะมีการแสดงปาฐกถาพิเศษ โดยพี่ มานิจ สุขสมจิตร ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คนแรก ที่ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ บางพลัด อีก 1 รายการ
ในปีนี้เช่นเดียวกัน “วันที่ 4 กรกฎาคม” ยังได้กลายมาเป็นวันที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศให้ความสนใจและรอคอยอย่างใจจดจ่อมากที่สุดวันหนึ่ง
เนื่องจากจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และวาระสำคัญที่สุดสำหรับวันนี้ก็คือ การเลือก ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภาด้วยโดยอัตโนมัติ
ในปีอื่นๆ ที่ผ่านมา การเลือกประธานสภาฯ อาจไม่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจมากนัก เพราะถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูงสุดก็จริง แต่ไม่ใช่ตำแหน่งในการบริหารบ้านเมือง ใครจะเป็นใครจะได้รับเลือก คนไทยส่วนมากจะรู้สึกเฉยๆ
แต่สำหรับปี 2566 กลับกลายเป็นว่า การประชุมเพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความหมายอย่างยิ่ง และเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งสูงสุด 2 พรรค ซึ่งกำลังจับมือกันตั้งรัฐบาล
วิเคราะห์กันว่าที่ พรรคก้าวไกล มีความประสงค์อย่างยิ่งที่จะได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ก็เพื่อโอกาสในการที่จะนำร่างแก้ไขมาตรา 112 อันเป็นนโยบายของพรรคมาแต่ต้น เข้าบรรจุเป็นวาระในการประชุมได้ง่ายขึ้นกว่าการที่จะปล่อยให้ตำแหน่งนี้เป็นของพรรคอื่น
ส่วน พรรคเพื่อไทย มีสมาชิกรุ่นเก่าๆ แสดงความเห็นว่า เมื่อพรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งนายกฯ แล้ว ก็ควรให้ตำแหน่งประธานสภาฯ แก่เพื่อไทย เพราะคะแนนเสียงของก้าวไกลแม้จะเป็นที่ 1 แต่ก็มากกว่าของเพื่อไทยเพียงไม่กี่ที่นั่งเท่านั้น
แต่สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังยึดมั่นในสถาบันหลัก ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ อย่างเหนียวแน่น ต่างเอาใจช่วยพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าประธานสภาฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย (ถ้าเป็นคุณ สุชาติ ตันเจริญ ตามข่าว) ซึ่งเคยบล็อกการเสนอแก้มาตรา 112 ในสมัยที่แล้วมาแล้ว น่าจะยังคงบล็อกต่อไปอย่างแน่นอน แม้ในสมัยนี้
ขณะที่ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ ข่าวยังสับสนบ้างก็ว่าพรรคเพื่อไทยยอมหลีกทางให้แล้ว บ้างก็ว่ายังไม่ยอมต้องไปลุ้นกันในวันประชุมสภา
ทำให้ “4 กรกฎาคม 2566” หรือ “Fourth of July 2023” กลายเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทยของเราไปด้วย
กองเชียร์ของฝ่ายไหนในประเทศไทยจะได้ “จุดพลุ” ฉลองตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร…เดี๋ยวก็รู้ละครับ.
“ซูม”