ผมนั่งดูบรรยากาศทางการเมือง ที่กำลังโหมโรงหาเสียงกันอย่างดุเดือดราวกับว่าประเทศไทยเราจะมีการเลือกตั้ง ในอีกไม่นานข้างหน้านี้แล้ว ก็พลอยคึกคักตามไปด้วย
รัฐธรรมนูญฉบับที่เรากำลังใช้อยู่นี้ระบุให้พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อบุคคลที่พรรคเห็นสมควรว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งแต่ละพรรคก็เสนอกันหมดแล้ว หรือแม้จะยังไม่เสนอหรือไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ก็รู้เป็นนัยๆ ว่า พรรคดังกล่าวจะเสนอใคร
ในบรรดาพรรคใหญ่ๆ ที่มีสิทธิจะได้คะแนนเสียงมากพอจะเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลได้ เป็นข่าวผ่านสื่อต่างๆ ไปเรียบร้อยเกือบทั้งหมดว่าจะเป็นคนนั้นคนนี้ ยังเหลือก็แค่ พรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่ชัดเจน
แต่ดูจากการจัดทัพไปปราศรัยตามจังหวัดต่างๆ พรรคจะชูคุณแพทองธาร ชินวัตร มากเป็นพิเศษ และชูคุณหมอ ชลน่าน ศรีแก้ว เคียงคู่ไปด้วย แต่ยังไม่บอกชัดเจนว่าจะเสนอใคร หรือจะเสนอทั้งคู่ และมีใครเป็นคนที่ 3 อีกหรือไม่?
ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ชัดเจนมากว่าเสนอ “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐ ก็ชัดเช่นกันว่าเสนอ “บิ๊กป้อม” ตามมาด้วย พรรคภูมิใจไทยที่ยืนยันต้องเป็นท่านรอง “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล และพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชัดแล้วว่าเสนอคุณ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
ส่วนพรรคก้าวไกลเดินหน้ามาแต่ต้นว่า แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค จะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากหัวหน้าพรรคคุณ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ยังมีพรรคอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง แต่ผมขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพราะถือว่าเป็นพรรคใหญ่ที่มีโอกาสได้ ส.ส.พอที่จะเสนอแคนดิเดตของตนเข้าประกวดได้ในการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
ด้วยกฎกติกาในลักษณะนี้ ย่อมมีผลไม่มากก็น้อยที่จะทำให้ประชาชนครุ่นคิด 2 ชั้น ก่อนที่จะลงคะแนนเลือกใครคนใดคนหนึ่ง
คือจะต้องมองลึกไปด้วยว่า ถ้าเราเลือกใครคนนั้นแล้วเราจะได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศตามมา
เนื่องด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นหัวหน้าหรือผู้นำของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศชาติ จึงจำเป็นจะต้องเป็นคนเก่ง คนดี มีความรู้ ที่จะสามารถนำพาประเทศไทยของเราให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ในวันข้างหน้า
นอกจากเราจะอยากได้คนเก่ง คนดี คนมีความรู้มาเป็นนายกฯ แล้ว เราอาจต้องพิจารณาเพิ่มอีกข้อหนึ่งว่าท่านเป็นคนมี “ปัญหา” หรือไม่?
เข้ามาแล้วจะกลายเป็นชนวนให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นหรือเปล่า? หรือปัญหาเก่าๆ ก็ได้ที่เคยเกิดขึ้นแต่ทุเลาลงไประดับหนึ่งแล้วจะปะทุกลับมาได้อีกหรือไม่? เพราะใครคนนั้นได้เป็นนายกฯ
ณ นาทีนี้พวกเราชาวไทยอยู่ในสภาวะคล้ายๆ กับนิทานอีสปเรื่อง “กบเลือกนาย” คือกำลังจะเลือก “นาย” คนใหม่มาดูแลพวกเรา
ในนิทานอีสปกบไม่มีสิทธิเลือกเอง แต่มีสิทธิบอกกับเทวดาหรือเทพเจ้าให้เลือกให้…วันหนึ่งอยากได้นายจึงไปขอจากเทวดา
เทวดาก็ส่ง “ขอนไม้” มาท่อนใหญ่ให้ฝูงกบได้ขึ้นไปพักอาศัยและกระโดดโลดเต้นมีความสุขอยู่ระยะหนึ่ง…แต่แล้ววันหนึ่งกบก็เบื่อขอนไม้จึงไปขอเทวดาให้ส่งนายใหม่มาให้
ตามเรื่องฝรั่งบอกเทวดารู้สึกรำคาญนัก จึงส่ง “ปลาไหล” มาเป็นนายกบ แรกๆ กบก็รู้สึกสนุกดีได้นายใหม่เป็นปลาไหลเหมือนได้เพื่อนคนใหม่
อยู่ๆไปกบก็เบื่อปลาไหลจึงไปขอเทวดาอีกหน
คราวนี้เทวดารำคาญมากที่กบช่างเลือกนักจึงส่งนกกระสามาเป็นนายและต่อมานกกระสาก็จับกบกินทีละตัวจนหมดทั้งฝูง
นิทานเรื่องนี้สอนว่าอย่างไรผมคงไม่ต้องคัดลอกมาลงซ้ำนะครับ เพราะเชื่อว่าเราเรียนนิทานเรื่องนี้มาแล้วทุกคนสมัยเด็กๆ
แต่การเลือกนายของเรายุคนี้เป็นการเลือกได้โดยตรงไม่ต้องไปขอให้เทวดาส่งมาให้ เพราะฉะนั้นเลือกอย่างไรให้ได้นายที่ดีมีประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองและไม่กลายเป็น “นกกระสา” ก็อยู่ที่พวกเรานี่แหละครับ
ที่สำคัญ “นกกระสา” ในความเป็นจริงยุคนี้ มิได้หมายเฉพาะพวกที่จะมากินบ้านกินเมืองหรือกินนอกกินในแต่อย่างเดียวนะครับ
ยังหมายถึงนกกระสาที่เข้ามาแล้วอาจจะเป็นตัวก่อปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่ทำให้คนในชาติต้องลุกฮือมาทะเลาะกันอีกด้วย
คิดให้ดีๆ วิเคราะห์ให้ลึกๆ อย่าไปเชื่อลมปากหัวคะแนน อย่าไปเห็นแก่อามิสสินจ้าง…ผมว่าเราจะเลือกได้ “ขอนไม้” ที่ร่มเย็นเป็นสุขแน่นอน–ด้วย “มือ” ที่ใช้กาคะแนนและ “สมอง” ที่ใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนของพวกเรา “ชาวกบ” ทั้งหลายนี่แหละครับ.
“ซูม”