“ธนาคารสมอง” ถึงไหนแล้ว? 20 ปี พระดำรัสสู่ “การปฏิบัติ”

ผมได้รับข่าวสารเชิงประชาสัมพันธ์จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติข่าวหนึ่ง…อ่านจบแล้วในฐานะพสกนิกรที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอย่างหาที่สุดมิได้…ผมเห็นว่าควรจะรีบนำลงเผยแพร่ต่อทันที

เป็นข่าวงานสัมมนาทางออนไลน์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ารับชมรับฟังได้ในวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2565 ที่จะถึงนี้

ได้แก่ งาน “20 ปี ธนาคารสมอง : พลังอาสาร่วมสร้างสังคมที่เท่าเทียม” ที่ สำนักงานสภาพัฒน์ และ มูลนิธิพัฒนาไท จะร่วมกันจัดขึ้น ณ ห้องประชุมวังสระปทุม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดงานและทรงปาฐกถาพิเศษด้วย

ท่านผู้อ่านคงจะจำเหตุการณ์แห่งความสุขและความรักสามัคคีของพวกเราชาวไทยในอดีตกันได้อย่างดีว่า ทุกๆ “วันสุกดิบ” ช่วงหัวค่ำก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในหลวง ร.9 และวันเฉลิม สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นั้น

จะมีการเผยแพร่พระราชดำรัสของทั้ง 2 พระองค์แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจมาโดยตลอด

ทรงเล่าถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทั้ง 2 พระองค์ทรงดำเนินการตลอดปีดังกล่าว รวมถึงทรงฝากแนวความคิดที่จะให้คนไทยรู้รักสามัคคี ร่วมมือกันพัฒนาแผ่นดินไทย ซึ่งพวกเราชาวไทยจะเปิดโทรทัศน์รับชมรับฟังพระราชดำรัสของทั้ง 2 พระองค์ดังกล่าวกันทั่วทั้งประเทศ

รวมทั้งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2543 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

“ความจริงหกสิบแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาที่สมควรจะให้ผู้ที่มีอายุน้อยเข้ามาทำหน้าที่ของเขาบ้าง มีโอกาสทำหน้าที่…เราก็ยังเป็นกองหนุนที่คอยปกป้องคุ้มครองบ้านเมือง…เรียกว่าเบรนแบงก์ (Brain Bank) ธนาคารสมอง”

ส่งผลให้คำว่า ธนาคารสมอง หรือ เบรนแบงก์ อันหมายถึงคนไทยอายุ 60 ปี ที่ถือกันว่าเป็นผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งข้าราชการและบริษัทต่างๆ มักจะให้ปลดเกษียณหรือเลิกจ้างกันแล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือชาติบ้านเมืองได้อีกเป็นจำนวนมาก เป็นหัวข่าวใหญ่ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

ก่อให้เกิดแนวความคิดขึ้นว่า ในบ้านเมืองของเรานี้ ณ เวลานั้น ซึ่งก็เริ่มมี “ผู้สูงอายุ” หรือ “ผู้เกษียณอายุฯ” จำนวนมากขึ้นแล้ว แต่ยังมีความรู้ความสามารถอยู่เต็มเปี่ยมนับเป็น “มันสมอง” ที่สำคัญ

หากมีหน่วยงานใดขันอาสามาเป็น “สื่อกลาง” จัดรวบรวม “มันสมอง” ของชาติเหล่านี้เข้าด้วยกัน เสมือนช่วยเป็น “ธนาคาร” ให้ และหากมีองค์กรใด สถาบันใด มีความจำเป็นจะต้องใช้ “สมอง” เหล่านี้ก็สามารถจะติดต่อมาขอ “เบิก” มันสมองดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ดังที่องค์กรหรือสถาบันต่างๆ ต้องการ อันจะทำให้บุคคลระดับมันสมองยังมีโอกาสได้ช่วยเหลือประเทศชาติต่อไป

จากนั้น คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนาย ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สนองพระราชดำรัส มอบให้ สภาพัฒน์ เป็นหน่วยทะเบียนกลาง เพื่อรวบรวมและจัดทำบัญชีบุคคลที่ขันอาสามาเป็น “ธนาคารสมอง” นับตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2543 เป็นต้นมา

ผ่านไปแล้ว 22 ปีเศษ มีวุฒิอาสาธนาคารสมองทั่วประเทศเกือบ 6,000 ราย เข้าดำเนินการสร้างประโยชน์แก่สังคมอย่างเป็นรูปธรรมกว่า 16,000 กิจกรรมและโครงการต่างๆ อาทิ ส่งเสริมอาชีพ รายได้ ส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนาระดับฐานราก ฯลฯ เป็นต้น

ซึ่งจะมีรายละเอียดมาแถลงและแสดงใน “นิทรรศการออนไลน์” ในช่วงงานประชุมสัมมนาวันที่ 5 สิงหาคมนี้อย่างครบถ้วน

เหนืออื่นใดยังจะได้ฟังพระราชดำรัสผ่านปาฐกถาพิเศษของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย…อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์คนปัจจุบัน คุณ ดนุชา พิชยนันท์ จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชนชาวไทยและผู้สนใจเกี่ยวกับ “ธนาคารสมอง” โครงการอันสืบเนื่องจากพระราชดำรัสของ พระพันปีหลวง เข้ารับชมรับฟังการสัมมนาตั้งแต่เวลา 15.00 น. ของวันดังกล่าวเป็นต้นไป

ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้ง Facebook และ Youtube ของ “สภาพัฒน์” และมูลนิธิพัฒนาไทได้ทั้ง 2 ช่องทางพร้อมๆ กันครับ.

“ซูม”

ข่าว, ธนาคารสมอง, ผู้สูงอายุ, ผู้เกษียณอายุ, มันสมอง, สภาพัฒน์, สัมมนา, ซูมซอกแซก