“โซเชียล” ไม่ใช่ “บัตรสนเท่ห์” หมอ “เตือน” อย่าโพสต์ “ด่าคน”

ผมตัดข่าวที่คุณหมออัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตให้สัมภาษณ์เตือนเด็กรุ่นใหม่ที่ชอบระบายความโกรธ หรืออารมณ์ ด้านลบของเด็กวัยรุ่น โดยโพสต์ลงโซเชียลมีเดียเอาไว้หลายวันแล้ว

เหตุเพราะเห็นด้วยกับท่าน จึงอยากจะนำมาเผยแพร่ต่อเผื่อว่า เด็กๆ คนไหนยังไม่ได้อ่านหรือคุณพ่อคุณแม่เด็กๆ ที่ยังไม่ได้อ่าน จะได้นำไปแจ้งเตือนให้ลูกๆ หลานๆ ได้รับรู้รับทราบไว้ เพื่อความปลอดภัยของลูกๆ  หลานๆ ที่ชอบโพสต์ระบายอารมณ์นั้นเอง

คุณหมออัมพรเล่าว่า สมัยก่อนไม่มีโซเชียลมีเดีย เวลาเด็กๆ รู้สึกโมโห รู้สึกโกรธอะไรสักอย่าง จะไปบ่นหรือไปด่าทอกับคนใกล้ตัวเรา หรือไม่ก็เขียนระบายลงสมุดไดอารีเก็บไว้อ่านเอง

แต่พอมีโซเชียลมีเดีย เด็กๆ ก็ไปบ่นไประบาย หรืออัดคลิปลงโซเชียล…โดยอาจจะเข้าใจผิดว่าโซเชียลนั้นก็เหมือนสมุดบันทึกส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ในกลุ่มเราเท่านั้น

ปรากฏว่าตรงข้ามเลย เพราะโซเชียลมีเดียนั้นสามารถกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการส่งต่อๆ กันได้อีกเป็นหมื่นๆ แสนๆ ครั้งถึงผู้คนจำนวนมาก

คุณหมอเปรียบเทียบว่า “เหมือนกับการไปยืนกลางตลาดนัด แล้วถือโทรโข่งตะโกนด่าว่าคนและละเมิดคนอื่นด้วย และจากการเข้าถึงคนหมู่มาก เลยกลายเป็นว่าการละเมิดดังกล่าวนั้นเป็นการละเมิดที่รุนแรง โดยผู้ละเมิดไม่รู้ตัว”

ส่งผลให้เด็กๆ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีดังที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

ท่านอธิบดี ท่านจึงเสนอแนะให้เด็กๆ หรือเยาวชนรู้จักเบี่ยงเบนความโกรธ ความโมโหของตนเอง ด้วยการไปดูหนังฟังเพลงเสียบ้าง หรือไม่ก็ไประบายความรู้สึกที่ไม่เดือดร้อนใคร เช่น เตะกระสอบทราย เป็นต้น

บางคนใช้วิธีเขียนใส่กระดาษแล้วฉีกทิ้ง หรือเข้าไปคุยไประบายกับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ซึ่งก็จะช่วยปัดเป่าความโกรธของเราลงได้

ผมเห็นด้วยกับท่านพันเปอร์เซ็นต์เลยครับ ว่ายุคก่อนสมัยก่อนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย เรามักจะเขียนระบายในสมุดบันทึกส่วนตัวของเรา… พอหายโกรธแล้วมาอ่านก็จะรู้สึกขำขันขึ้นมาแทน

บางคนอาจใช้วิธีเขียน “บัตรสนเท่ห์” ด่าโดยไม่ลงนาม บรรยายความโกรธเกรี้ยวเข้าใส่บุคคลที่ทำให้เราโกรธยาวเหยียด

บ่อยครั้งก็เขียนด่า “เจ้านาย” ในที่ทำงานของเราว่า แย่อย่างนั้น ชุ่ยอย่างนี้ บริหารไม่ได้เรื่อง ฯลฯ…นอกจากไม่ลงชื่อ หรือใช้นามแฝง เช่น “ผู้เหลืออด” “พวกเราที่ถูกกดขี่” ฯลฯ แล้วยังใช้วิธีพิมพ์ดีดไม่เขียนด้วยลายมือ จึงไม่มีใครจับมือเราไปดมได้

อาจจะเป็นเพราะคนไทยเราคุ้นเคยกับวัฒนธรรมเขียน “บัตรสนเท่ห์” หรือเขียน “ใบปลิว” ด่าคนไปโปรยแถวๆ ริมถนนกันมาก่อนในอดีต พอมาสู่ยุคไซเบอร์ หรือโซเชียลมีเดียก็เลยเผลอไผลเขียนบัตรสนเท่ห์ หรือใบปลิวเถื่อนไปลงเฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์ ฯลฯ

นึกว่าจะไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นใคร หรือโพสต์มาจากไหน

แต่เอาเข้าจริงการโพสต์ด่าลงโซเชียลนั้น เหมือนถือโทรโข่งไปยืนด่ากลางตลาดสดอย่างที่คุณหมอเปรียบเทียบจริงๆ

ไม่ใช่ตลาดสดธรรมดานะครับ เป็นตลาดสดระดับโลกเลย เพราะการด่าที่ดังๆ โดนๆ นั้น เผยแพร่ไปได้ทั่วโลก

ที่สำคัญการด่าผ่านโซเชียลก็ไม่ใช่เขียนบัตรสนเท่ห์ ไม่ใช่เขียนใบปลิวเถื่อน ที่อาจปกปิดตัวจริงเสียงจริงได้ เพราะด้วยระบบอันทันสมัยของโลกยุคนี้ พอเราโพสต์ไปก็สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า โพสต์มาจากไหน ใครเป็นคนโพสต์

เป็นเหตุให้นักเลงคีย์บอร์ดหัวร้อนปากกล้าหลายๆ คน โดนดำเนินคดีเข็ดอุจจาระอ่อน อุจจาระแก่ไปตามๆ กัน

ขอบคุณครับที่คุณหมอกรุณาหยิบมาเตือนเด็กๆ อีกครั้ง…เพราะส่วนใหญ่ยังไร้เดียงสา โพสต์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อยู่บ่อยๆ

ส่วนพวกที่ตั้งใจโพสต์และโดนคดีก็ไม่กลัวนั้น ก็ช่างเขาเถอะ…เราให้ความสนใจเฉพาะเด็กๆ กับเยาวชนก็แล้วกัน

คงต้องกลับไปใช้วิธีเขียนด่าในไดอารีแบบโบราณละหนูเอ๊ยเพราะด่าแล้วไดอารีก็ยังอยู่กับเราไม่หลุดออกไปไหน

ห้ามด่าคนลงโซเชียลเป็นอันขาดนะหนู เชื่อคุณหมอท่านเถอะเจ็บตัวโดนคดีกันมามากแล้วละจะบอกให้.

“ซูม”

ข่าว,​ โซเชี่ยล มีเดีย, วัยรุ่น, โพสต์, ดำเนินคดี, ซูมซอกแซก