แนะนำ “อันซีน” บ้านกรูด “วัดทางสาย” (เขาธงชัย)

สัปดาห์นี้ขอเขียนเรื่อง “บ้านกรูด” อำเภอบางสะพานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ต่อนะครับ เพราะแม้จะมาบ้านกรูดหลายครั้งและเขียนถึงวัดทางสายแห่งเขาธงชัยอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่ก็เป็นการเขียนแบบผ่านๆ รวมไปกับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ

จนกระทั่งสักปีหนึ่งที่ผ่านมาเห็นจะได้ไปอ่านเจอในโซเชียลพบว่า วัดแห่งนี้ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ นั้น เป็น 1 ใน 10 ของวัดที่สวยงาม แต่คนไทยยังรู้จักไม่มากนัก ที่เรียกว่า “วัดอันซีน” อยู่ในอันดับต้นๆ เลยทีเดียว

หัวหน้าทีมซอกแซกมีจิตใจที่โน้มเอียงไปในแนวคิดดังกล่าวอยู่แล้ว ว่าเป็น วัด “อันซีน” ที่แท้จริง เพราะเคยเกิดความรู้สึกตื่นตาตื่นใจถึงขั้นอุทานว่า…ที่บ้านกรูดมีอย่างนี้ด้วยหรือตั้งแต่เมื่อไปเยือนครั้งแรก

จึงเข้าค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในกูเกิลและเอกสารต่างๆ ทำให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของการสร้างวัดรวมถึงประวัติของสถาปนิกผู้ออกแบบพระเจดีย์อันงดงามนี้ด้วย บังเกิดความตื่นเต้นขึ้นอีกหลายเท่า

ดังนั้นเมื่อมีโอกาสกลับไปบ้านกรูดเมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น จึงขออนุญาตที่จะเขียนถึง “วัดทางสาย” เขาธงชัย อันซีนบ้านกรูดตัวจริงเสียงจริงอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นการย้ำให้เห็นถึงความงดงามไปพร้อมๆ กับแนะนำประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติผู้ออกแบบวัดแห่งนี้ควบคู่ไปด้วย

ตามข้อมูลที่กูเกิลระบุไว้จากถนนเพชรเกษมเขาธงชัยจะอยู่ห่างออกไปประมาณ 12 กิโลเมตร และหากวัดจากสถานีรถไฟบ้านกรูดจะห่างเพียง 4 กิโลเมตรเท่านั้นเอง

เมื่อไปถึงบริเวณวัดแล้วทางซ้ายมือจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 10 เมตร สูง 13.8 เมตร ซึ่งคณะกรรมการวัดทางสายและประชาชนชาวบ้านกรูด ตลอดจนชาวประจวบคีรีขันธ์ทั้งจังหวัดได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้นด้วยความจงรักภักดี เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2535

ต่อมาสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายกทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองที่สร้างในแบบศิลปะคันธาระองค์นี้ว่า พระพุทธกิติสิริชัย และทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้ในองค์พระพุทธรูปนี้ด้วย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศขณะนั้น) เสด็จฯทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539

ถัดจากองค์พระพุทธรูป กิติสิริชัย ขึ้นไปทางขวามือก็จะมองเห็นบันไดขึ้นสู่องค์ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ อันงดงามยิ่งประดิษฐานโดดเด่นอยู่กลางบริเวณยอดเขาธงชัยแห่งนี้

นับเป็นความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านกรูดและชาวประจวบคีรีขันธ์อีกครั้ง ในการก่อสร้าง องค์พระเจดีย์ดังกล่าวขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลองวโรกาสมหามงคล 5 พฤษภาคม พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นวันเถลิงถวัลราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9

ต่อมาเมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณจึงทรงรรับโครงการนี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์และโปรดเกล้าฯให้ นายสวัสดิ์ โชติพานิช อดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธานกรรมการก่อสร้างและทรงโปรดให้ ม.ร.ว.มิตรารุณ เกษมศรี สถาปนิกประจำราชสำนักและศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2530 เป็นผู้ออกแบบองค์พระมหาเจดีย์ อีกทั้งยังพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน ณ องค์พระมหาเจดีย์ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จอีกด้วย

กล่าวได้ว่าพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศเป็นสถาปัตยกรรมไทยแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคสมัยรัชกาลที่ 9 โดยแท้…ซึ่งจะรวมพระเจดีย์พระสถูป อุโบสถ วิหารคต และระเบียงมาอยู่ในอาคารเดียวกันมีลักษณะเป็นอาคารชุดหลังเดียวขนาดใหญ่

รูปอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง 50 เมตร สูง 50 เมตร หมายถึงการครองราชสมบัติครบ 50 ปี โดยมีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นองค์ประธานรายล้อมด้วยหมู่เจดีย์องค์เล็กอีก 8 องค์ รวมเป็น 9 องค์ หมายถึงเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 9 นั่นเอง

สำหรับประวัติของท่านผู้ออกแบบพระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ อันได้แก่ ม.ร.ว. มิตรารุณ เกษมศรี นั้น นับว่าเป็นสถาปนิกผู้ชำนาญการใน สถาปัตยกรรมไทย แห่งยุคสมัยรัชกาลที่ 9 อย่างแท้จริง และได้ออกแบบสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงไว้จำนวนมาก อาทิ…

ร่วมกับ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร ออกแบบพระตำหนักในภูพิงค์ราชนิเวศ จังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศ จังหวัดสกลนคร

ออกแบบอาคารศาลานาคเล่นน้ำในวัด ญาณสังวรารามชลบุรี, ออกแบบพระอุโบสถและ เจดีย์วัดตรีทศเทพฯ, ออกแบบศาลาที่ระลึกครบ 100 ปี วัดบวรนิเวศวิหาร

ออกแบบ ศาลาไทย จำลอง พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ประสาทในพระบรมมหาราชวังไปแสดง ณ งาน เวิล์ดเอ็กซ์โป 2501 ที่ประเทศเบลเยียม ฯลฯ และ ฯลฯ รวมทั้งออกแบบ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์วัดเทพศิรินทราวาส อีกด้วย

และเมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2540 ในหลวง ร.9 ก็ได้เสด็จฯมาพระราชทานเพลิงศพแก่ท่าน ณ พลับพลาดังกล่าว

จากผลงานอันมากมายจาระไนไม่หมดนี้เมื่อท่านมาออกแบบ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ แห่งวัดทางสายเขาหาดหินบ้านกรูด จึงงดงามสุดที่จะบรรยายได้

งามทั้งในตัวองค์พระธาตุเองและสวยงามเมื่อขึ้นไปยืน ณ ระเบียงต่างๆแล้วมองมายังบริเวณหาดบ้านกรูดและท้องทะเลด้านล่าง

ใครมีโอกาสไปบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องขึ้นไปนมัสการและชมความงามขององค์พระธาตุและความงามของธรรมชาติโดยรอบ ณ “อันซีน” แห่งนี้ให้ได้นะครับ.

“ซูม”

ข่าว, บ้านกรูด, ประจวบคีรีขันธ์, วัดทางสาย, เขาธงชัย, ซูมซอกแซก