เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ คุณดนุชา พิชยนันท์ แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในไตรมาส 3 ของปีนี้ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ เมื่อเดือนกันยายนนั้น ปรับตัว ลงไปเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 0.3%
เหตุเพราะเป็นช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนรัฐต้องยกระดับมาตรการควบคุมขึ้น ส่งผลให้ประชาชนต้อง หันมาระมัดระวังพฤติกรรมการใช้จ่าย และหยุดการเดินทางต่างๆชั่วขณะ
ต่างกับไตรมาสที่ 2 หรือก่อนหน้านี้ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มขยายตัวอย่างเห็นได้ชัดถึงประมาณร้อยละ 7.6
แต่จากการที่สถานการณ์ด้านการระบาดเริ่มคลี่คลายลง และการฉีดวัคซีนของประเทศไทยเป็นไปตามเป้าหมาย รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคท่องเที่ยวและภาคการผลิตตลอดจนการส่งออก ทำให้คาดได้ว่าตัวเลขในไตรมาส 4 จะดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยของปี 2564 หรือปีนี้เฉลี่ยแล้วน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 1.2 เปอร์เซ็นต์
จากนั้นก็จะไปเริ่มแรงขึ้นในปีหน้า 2565 ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายได้ถึงร้อยละ 3.5 หรือ 4.5 เลยทีเดียว
ผมเห็นด้วยกับท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ครับ เพราะเท่าที่ติดตามดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากข่าวต่างประเทศทุกสำนัก ล้วนเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นแน่นอน
โดยเฉพาะ 2 ขาใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯและจีน มีสัญญาณบ่งชัดว่าเริ่มฟื้นขึ้นแล้ว…น่าจะมีผลในการช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆฟื้นตัวตามไปด้วย
แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ดังๆ ของต่างประเทศเขาก็ฝากเงื่อนไขและความห่วงใยเอาไว้ด้วยเช่นกัน…โดยเฉพาะเงื่อนไขแรก ซึ่งสำคัญที่สุดคือการระบาดของโควิด-19 จะต้องคลี่คลายลงมากกว่านี้ และการฉีดวัคซีนก็ควรจะเป็นไปอย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจน ซึ่งยังมีช่องว่างอยู่มาก
ขณะเดียวกัน เขาก็ห่วงเรื่องเงินเฟ้อ ซึ่งสูงมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่แพงเกินเหตุ จะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการสูงขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่เขาค่อนข้างเป็นห่วงก็คือ การขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งเริ่มมาจากการทำสงครามการค้าในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ แล้วบานปลายเป็น “สงคราม” ที่ดูจะใกล้ “สงครามเย็น” เข้าไปทุกขณะในยุคประธานาธิบดี ไบเดน
อาจมีผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ผมติดตามอ่านที่เขาวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกแล้วมาเปรียบเทียบกับบ้านเรา ก็พบว่ามีทิศทางและสาเหตุของการฟื้นตัวไปจนถึงสิ่งที่จะเป็น อุปสรรคของการฟื้นตัวที่คล้ายคลึงกัน
เรากำลังค่อยๆฟื้นตัวแน่นอนเห็นได้จากข้อมูลของสภาพัฒน์
แต่การขยายตัวของเราก็ขึ้นอยู่กับเจ้า “โควิด-19” เช่นเดียวกันว่าจะคลี่คลายลงมากน้อยแค่ไหนในปีหน้า
เรื่องเงินเฟ้อเป็นปัญหาระดับโลกเพราะราคาน้ำมันเป็นเหตุใหญ่เหตุหนึ่ง และเชื่อว่าเราเองก็จะเจอผลกระทบโดยตรง
ที่ผมห่วงเหลือเกินคือประเด็น “การเมือง” ในบ้านเรา โดยเฉพาะ
การขัดแย้งทางความคิดอย่างใหญ่หลวงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งนอกจากจะไม่บางเบาลงแล้วกลับจะรุนแรงขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ
ผมเคยเขียนไว้แล้วว่าประเทศไทยเหมือน “มีบุญ” แต่ “กรรมบัง” …ทำให้ได้รับผลบุญต่างๆ ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมาโดยตลอด เพราะ
ด้วยศักยภาพของคนไทยและทรัพยากรอันทรงคุณค่าของประเทศไทยในทุกๆ ด้าน รวมทั้งการท่องเที่ยวที่มาแรงมากในช่วงหลังๆ…ประเทศไทยของเราควรไปถึง “ประเทศรายได้ขั้นสูง” ระดับล่างๆ นานแล้ว…
ไม่ควรย่ำเท้าเป็น “ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง” อย่างทุกวันนี้หรอก
แต่นี่พอจะดีจะดี…อ้าวทะเลาะกันเสียแล้ว มีเรื่องขัดแย้งวุ่นวายเสียแล้ว ก็ต้องหยุดตั้งต้นกันใหม่ไม่ไหลลื่นอย่างที่ควรจะเป็น
เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี่เองเราเพิ่งจะฝันว่าจะไป 4.0 จะก้าวข้ามไปเป็นประเทศรายได้สูงขั้นแรกๆ…ดูท่าทีคึกคักมากเหมือนจะไปได้สำเร็จ
เจอทั้งโควิด-19 และความขัดแย้งทางความคิดใหญ่หลวงแบบนี้เข้า…หยุดกึกไปเลย…จะไม่ให้คิดซะว่าประเทศไทยของเราอยู่ในข่าย “บุญมี” แต่ “กรรมบัง” ได้อย่างไรล่ะครับ.
“ซูม”