ประมาณบ่ายโมงเศษๆ ของวันจันทร์ที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้รับโทรศัพท์จากน้องๆ ฝ่ายเลขานุการมูลนิธิไทยรัฐ แจ้งให้ทราบว่า “ลุงเลิศ” เลิศ อัศเวศน์ 1 ในกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ ผู้เป็นตำนานของวงการหนังสือพิมพ์ไทย และของพวกเราชาวไทยรัฐ ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว เมื่อช่วงเช้าของวันจันทร์นั้นเอง
น้องๆ รายงานด้วยว่า ลุงเลิศเสียชีวิตด้วยโรคระบาดโควิด-19 หลังจากติดเชื้อและลูกๆ นำส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจนหายเป็นปกติ คณะแพทย์แนะนำให้กลับไปดูแลต่อที่บ้านได้เพียง 3 วันก็จากไป
สำหรับพิธีฌาปนกิจศพลุงเลิศนั้น จะเริ่มขึ้นที่ วัดเทพลีลา ในเวลาบ่าย 3 โมง ของวันจันทร์เช่นเดียวกัน
ผมฟังแล้วก็รู้สึกทั้งช็อกทั้งใจหายระคนหดหู่อย่างบรรยายไม่ถูก กับพิษสงของโรคร้ายโควิด-19 เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหลือเกิน และจบอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
เร็วจนพวกเราที่เคารพนับถือท่านอย่างยิ่งในฐานะปูชนียบุคคล ผู้ร่วมสร้างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เคียงคู่มากับ ผอ.กำพล วัชรพล ไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้ไปร่วมสวดอภิธรรมและร่วมวางดอกไม้จันทน์ ส่งท่านขึ้นสู่สรวงสวรรค์ในวาระสุดท้ายของชีวิต
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกช็อกมากกว่าทุกครั้งที่ผมได้รับข่าวว่า คนที่ผมใกล้ชิดสนิทสนมเสียชีวิต…เป็นเพราะผมไม่คาดคิดมาก่อนว่า ลุงเลิศจะจากพวกเราไปอย่างกะทันหันเช่นนี้
แม้ลุงจะมีอายุย่างเข้า 100 ปี เพราะลุงเกิดเมื่อ 30 มีนาคม 2465 จึงมีอายุครบ 99 ปีไปเมื่อ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และย่างเข้าสู่อายุ 100 ปี ตามที่ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีสรุปไว้
แต่ผมก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ลุงเลิศของพวกเราแข็งแรงมาก อาจพูดช้าลงบ้างเล็กน้อย แต่ยังคงชัดถ้อยชัดคำ และสมองของลุงยังทำงานได้เกิน 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถที่จะออกความเห็นถึงเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราได้อย่างคล่องแคล่ว…ทุกครั้งที่เจอกัน
ผมมีกำหนดการจะเจอท่านอีกครั้งในวันพุธที่ 19 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ในวันประชุมประจำปีของ มูลนิธิไทยรัฐ แต่น่าเสียดายที่ลุงต้องจากไปเสียก่อน ซึ่งก็เป็นผลให้การประชุมต้องงดไปด้วยในที่สุด
ดังที่ผมได้เกริ่นไว้แล้วว่าลุงเลิศเป็น “ตำนาน” ทั้งในแง่ของวงการ “หนังสือพิมพ์” โดยรวม และของ “ไทยรัฐ” โดยเฉพาะ…หลังจากที่ท่านก้าวเข้าสู่อาชีพนักข่าวตั้งแต่ พ.ศ.2488 ขณะมีอายุ 23 ปีเศษๆ
เริ่มจากหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, ประชามิตร, อิสระธรรม, หลักไทย เรื่อยมาจนถึงหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ รายสัปดาห์
ตำนานของ ไทยรัฐ เริ่มจาก ข่าวภาพ นี่แหละครับ…เมื่อลุงเลิศ ได้พบกับอดีต จ่าโท ของราชนาวีไทย กำพล วัชรพล และได้ชักชวนให้มาออกหนังสือพิมพ์ด้วยกัน ตีพิมพ์ฉบับแรกเป็นรายสัปดาห์เมื่อ 7 มกราคม 2493
ต่อมาเมื่อขายดีขึ้นเรื่อยๆ ก็ขยับมาเป็นราย 3 วัน และรายวันในที่สุด จนถึงวันที่ 1 พ.ค.2502 จำเป็นต้องแปลงร่างไปสู่ เสียงอ่างทอง สืบเนื่องมาจากการสั่งปิดข่าวภาพของรัฐบาลเผด็จการใน พ.ศ.นั้น
เป็น เสียงอ่างทอง อยู่จนถึง 25 ธ.ค.2505 ก็ต้องมาแปลงร่างอีกครั้งสู่ “ไทยรัฐ” และอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน
ลุงเลิศยืนหยัดเคียงข้าง ผอ.กำพล วัชรพล มาตลอด และหลังจากท่าน ผอ.กำพลถึงแก่อนิจกรรมแล้วลุงเลิศก็ยังคงอยู่คู่กับ ไทยรัฐ ในฐานะ ที่ปรึกษาผู้บริหาร และ กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ จนวาระสุดท้าย
ในส่วนของการเป็น “ตำนาน” แห่งวงการหนังสือพิมพ์ไทยนั้น… เป็นที่ทราบกันดีว่า ลุงเลิศคือ 1 ในผู้ก่อตั้ง สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2498 โดยเป็นผู้เสนอให้มี “บัญญัติ 10 ประการ” ที่นักข่าวทุกคนพึงยึดถือเป็นกรอบในการปฏิบัติหน้าที่
นอกจากงานด้านข่าวและหนังสือพิมพ์แล้ว ลุงเลิศยังเป็น นักเขียน อีกด้วย มีทั้งนวนิยาย สารคดี และเรื่องแปล เช่น ร้อยพิศวาท, เปลวสวาท, แจ็คลีน เคนเนดี้, พะเนียงรัก, ซูซีวอง และ นรกใต้ดิน เป็นต้น
สำหรับคอลัมน์ “โรงซ่อมสุขภาพ” ที่ท่านเขียนติดต่อกันมายาวนานหลายสิบปีใน ไทยรัฐ ในนามปากกา บพิธ เฟื่องนคร ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือเล่มขายดีจำนวนถึง 51 เล่ม และพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง
นี่คือบางส่วนของชีวิตและผลงานของ “ลุงเลิศ” เลิศ อัศเวศน์ ปูชนียบุคคลของพวกเราชาวหนังสือพิมพ์ทั้งประเทศ และของไทยรัฐโดยเฉพาะ ดังได้กล่าวไว้แล้ว
ขอดวงวิญญาณของท่านจงสถิต ณ สวรรค์เบื้องบนเคียงคู่ไปกับ ผอ.กำพล วัชรพล สหายรักของท่าน ตราบกาลนิรันดร์.
“ซูม”