เมื่อวานนี้ผมเล่าเหตุการณ์วันปลดล็อกวันแรก นอกจากภาพคนแย่งกันซื้อเหล้าจนโกลาหลไปหมด ที่เราเห็นจากคลิปต่างๆ แล้ว …ผมเดินผ่านตลาดสด หรือตลาดเช้าของหมู่บ้าน ก็พบว่าผู้คนแน่นขนัดชนิดเบียดเสียดเช่นเดียวกัน
ทำให้ผมต้องเขียนเตือนเอาไว้ว่า เราจะประมาทกันไปหรือเปล่าหนอ? คลายล็อกวันแรกก็ลืมตำรา Social distancing ซะแล้ว
แต่จากภาพเมื่อวานนี้ โดยเฉพาะภาพที่ตลาดเช้า หรือตลาดนัดช่วงเช้าที่ข้างๆ สวนพฤกษชาติ หลังการเคหะแห่งชาติ ก็มีส่วนในการ ช่วยจุดประกายความคิดบางประการของผมด้วยเช่นกัน
เพราะในตัวของตลาดเช้านี้เอง ก็มีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ด้วยกัน…ในแง่โทษก็คือความแออัดที่จะเป็นชนวนนำไปสู่การระบาดของโควิด-19 อย่างที่ผมกังวลและเตือนเอาไว้แล้ว
แต่ในแง่ประโยชน์…นี่คือการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะพ่อค้าแม่ค้าเกือบทั้งหมดก็คือผู้ประกอบการค้ารายเล็กๆ และสินค้าที่นำมาขาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกอาหารการกิน ก็เป็นผลิตผลจากเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนระดับฐานรากของประเทศ
ดังนั้น เมื่อมองไปในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถดถอยลงเพราะโควิดอย่างจริงจัง นอกจากโครงการสารพัดที่อาจจะต้องใช้เงินถึง 1.9 ล้านล้านบาทแล้ว…การส่งเสริมตลาดนัด ในระดับพื้นที่ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับล่างได้อีกทางหนึ่ง
พอนึกถึงประเด็นนี้…ผมก็นึกต่อไปที่โครงการที่ผมติดตามมาตั้งแต่ต้นโครงการหนึ่ง ได้แก่ โครงการ “ตลาดนัดประชารัฐออมสินทั่วถิ่นไทย” ของธนาคารออมสินที่จัดมาตั้งแต่ปี 2559
ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ ผมเคยเขียนแสดงความชื่นชมผู้อำนวยการธนาคารออมสินท่านปัจจุบัน คุณชาติชาย พยุหนาวีชัย หลายครั้งในฐานะนายธนาคารรุ่นใหม่ที่เข้ามาพลิกโฉมธนาคารของรัฐแห่งนี้จากภาพที่คนมองว่าเป็นธนาคารเชยๆ ล้าสมัย ให้กลายเป็นธนาคารที่ทันสมัย ไฮเทคระดับแนวหน้าธนาคารหนึ่งของประเทศไทย
แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารออมสิน ในยุคของผู้อำนวยการท่านนี้ ก็มิได้ละเลยภารกิจดั้งเดิมในฐานะแหล่งสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้คนในระดับล่างที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
ผ่านโครงการธนาคารประชาชน ที่ยังเป็นที่พึ่งของพ่อค้าแม่ค้าและคนหนุ่มคนสาวที่คิดอ่านลงทุนเปิดร้านข้างทาง ร้านก๋วยเตี๋ยว หรือร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ ทั่วประเทศ
ไม่เพียงแต่สนับสนุนด้านการเงินเพื่อการผลิตเท่านั้น ออมสินในยุคของผู้อำนวยการชาติชายยังลงไปสนับสนุนด้าน “การตลาด” ให้ด้วย …อันเป็นที่มาของ โครงการตลาดนัด ที่ผมกำลังนึกถึงอยู่ขณะนี้
จากโครงการที่ชื่อว่า “ตลาดนัดออมสินสัญจร” เมื่อปี 2558 เปลี่ยนมาเป็น “ตลาดนัดประชารัฐสีชมพู” ในปี 2559 และในที่สุดก็มาเป็น “ตลาดนัดประชารัฐออมสินทั่วถิ่นไทย” ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา
ตั้งเป้าหมายในการจัดไว้ปีละ 10 จังหวัดทั่วประเทศหมุนเวียนกันไปทุกภูมิภาค โดยจะจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าย่อยทั้งที่เป็นลูกค้าของธนาคารหรือมิใช่ก็ตาม มาออกร้าน ออกบูธจำหน่ายสินค้าที่ตนผลิตเป็นเวลา 2 วัน ในแต่ละจังหวัดที่จำหน่ายโดยไม่ต้องเสียค่าเช่าใดๆ เลย
พร้อมกับจัดกิจกรรมบันเทิงเพื่อดึงดูดใจให้ประชาชนมาร่วมงาน มีทั้งดารานักแสดง นักร้อง นักดนตรี ศิลปินตลก ผลัดเปลี่ยนกันไปสร้างความบันเทิงบนเวทีตลอดทั้ง 2 คืนของงานนี้
ท่าน ผอ.ชาติชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเพราะใช้งบประมาณจังหวัดละ 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่สามารถช่วยให้ผู้ผลิตสินค้าระดับฐานรากสามารถจำหน่ายสินค้าได้จำนวนมาก จากประชาชนที่มาเที่ยวชมงานทั่วประเทศปีละไม่ตํ่ากว่า 3 หมื่นคน
ผมก็หวังว่าเมื่อเราจัดการกับไวรัสมหาภัยสำเร็จแล้ว เมื่อถึงเวลากระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารออมสินจะยังคงเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป
ไม่เฉพาะธนาคารออมสินเท่านั้นนะครับ กระทรวงพาณิชย์ หรือ กระทรวงมหาดไทยในฐานะเจ้าของพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ก็น่าจะเข้ามาจัดโครงการ “ตลาดนัด” ที่คล้ายคลึงกันนี้ให้มากขึ้นด้วย
ลงทุนในการจัดแต่ละครั้งใช้เงินไม่มาก แต่ได้ประโยชน์มหาศาลถึง ฐานรากโดยตรง…ฝากท่านรองฯสมคิดรับไปพิจารณาด้วยก็แล้วกันครับ.
“ซูม”