ผมกลับมาพลิกแฟ้มที่บันทึกไว้ขณะไปเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับน้องๆชาวไทยรัฐกลุ่มใหญ่เมื่อสัปดาห์ก่อนอีกหน เพื่อจะดูให้ครบถ้วนว่า ยังมีประเด็นสำคัญอะไรที่สมควรเขียนแต่ยังมิได้เขียนอีกบ้าง
ก็พบลายมือที่ผมเขียนเพิ่มเติมในโปรแกรมที่คณะผู้เชิญจัดพิมพ์ไว้ด้วย ข้อความสั้นๆว่า “คุณปลิวแวะมาคุยด้วยในงานเลี้ยงก่อนกลับ”
“คุณปลิว” ในที่นี้ก็คือ “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ประธานกรรมการบริหารบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ตัวจริงเสียงจริง
ท่านประธานนำคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้กู้เงินรายใหญ่สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี…ไปชมความก้าวหน้าของการก่อสร้างในวันเดียวกับพวกเรา
เมื่อทราบว่าคณะของเราอยู่ที่นี่แม้จะติดภารกิจดูแลผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่อยู่อีกโรงแรมหนึ่ง แต่คุณปลิวก็กรุณาปลีกเวลามาพบพวกเราและพูดคุยอย่างเปิดอกเปิดใจอยู่เกือบชั่วโมงเต็มๆ
ถือว่ามาพบนอกโปรแกรมโดยที่พวกเราไม่ทราบมาก่อนก็เลยต้องเขียนลายมือเพิ่มเติมเอาไว้ว่างั้นเถอะ
หลายๆส่วนของการสนทนาผมขออนุญาตเก็บไว้เป็นข้อมูลที่หากมีโอกาสคงจะได้หยิบมาอ้างถึงในวันข้างหน้า
ในส่วนที่เห็นว่าควรจะเขียนถึงในวันนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการไปลงทุนของ ช.การช่าง ใน สปป.ลาว โดยเฉพาะเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีที่พวกเราดู…ได้แก่ แนวคิดและทัศนคติของท่านในการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมิใช่เฉพาะเจาะจงแต่ สปป.ลาว เท่านั้น
คุณปลิวเริ่มด้วยประโยคที่ว่า “ก็มาตามนโยบายรัฐบาลแหละครับ ที่มุ่งเน้นว่าเราควรจะทำมาค้าขาย หรือหันไปลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) ให้มากขึ้น”
“ซึ่ง ช.การช่างเห็นดีด้วยและเราก็เดินหน้ามานานแล้ว อย่างที่ สปป.ลาว เราก็เข้ามาตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2”
“แรกๆเราก็มาก่อสร้างเขื่อน แต่ก็เห็นว่าควรจะต่อยอดด้วยการบริหารจัดการพลังไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนที่เราสร้าง…เราก็ให้ซีเค พาวเวอร์ฯ มาดูแล”
“แต่ไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร ผมจะยึดหลักว่าทั้ง 2 ประเทศจะต้องได้ประโยชน์อย่างทัดเทียมกัน และไม่เพียงแต่ที่นี่เท่านั้น ไม่ว่าเราจะไปลงทุนในประเทศไหนก็จะยึดหลักการในข้อนี้ทั้งหมด”
จะเห็นได้ว่าหลายๆประโยคผมได้ฟังมาจาก คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซี.เค. พาวเวอร์ ลูกชายคุณปลิว ขณะชมโครงการไซยะบุรี และได้เขียนรายงานไว้บ้างแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเฉพาะประเด็นการทำธุรกิจอย่างไม่เอาเปรียบและอย่างให้เกียรติประเทศเพื่อนบ้าน
ผมเชื่อโดยไม่มีความเคลือบแคลงเลยว่า ช.การช่าง ได้ดำเนินการในลักษณะนี้โดยแท้จริง จึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลลาวมาโดยตลอด
เพราะรัฐบาลลาวเป็นรัฐบาลที่ประกอบด้วยคณะบุคคลที่มีความรู้กว้างขวาง มีความทันสมัยและมีความตั้งใจในการพัฒนาประเทศของเขาด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าอย่างยิ่ง เท่าที่ผมเคยอ่านพบจากข้อเขียนในระดับนานาชาติหลายชิ้น ย่อมจะไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ
ทำให้ผมนึกถึงนักธุรกิจที่ผมรู้จักอีกตระกูลหนึ่งได้แก่ตระกูล “วีระภุชงค์” เจ้าของยาแก้หวัด “ทิฟฟี่” คุณวินัย และ คุณสุภชัย ที่ไปลงทุนหลายๆธุรกิจในกัมพูชา
ความตรงไปตรงมาไม่เอารัดเอาเปรียบ คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ทัดเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้นักลงทุนไทยตระกูลนี้ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลกัมพูชามาจนถึงทุกวันนี้
ผมก็ขอฝากไปถึงนักลงทุน นักธุรกิจไทยหลายๆท่านที่ดูเหมือนจะเดินหน้าตามนโยบายค้าขายข้างบ้านกับ CLMV อย่างแพร่หลายและน่าจะมีมากขึ้นในปัจจุบัน
อย่าให้เสียชื่อประเทศไทยและคนไทยนะครับ–จงไปให้เขารักและเคารพ อันจะเป็นผลดีให้นักลงทุนรุ่นหลังๆเดินตามเข้าไปได้อย่างสะดวก
อย่าไปแบบจ้องเอารัดเอาเปรียบเขาลูกเดียวอย่างที่นักลงทุนไทยรุ่นเก่าๆเคยทำไว้ จนมีอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านเขารังเกียจรังงอนจนถึงขั้นปฏิเสธทุนไทยมาแล้ว.
“ซูม”