ปริศนา “หลังภาพ”? สัตว์ป่ารอบตึก KBank

เกือบ 1 เดือนมาแล้วนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างประเทศที่มีโอกาสนั่งเรือล่องเจ้าพระยายามราตรี นอกจากจะตะลึงและประทับใจกับ ความงามอันสุดบรรยายของไอคอนสยามแล้ว… เมื่อนั่งเรือต่อไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานพระราม 9 ก็ยังจะตื่นตา ตื่นใจขึ้นมาอีกคำรบหนึ่ง

เมื่อพบว่าอาคารสูง 42 ชั้น หรืออาคาร สำนักงานใหญ่ของ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank ซึ่งตั้งตระหง่านเคียงคู่กับ “สะพานขึง” ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า “สะพานแขวน” มากว่า 20 ปี ก็พลอยมีสีสันสวยสดงดงามปรากฏเป็นภาพผืนป่าใหญ่ และสัตว์ป่านานาชนิด ก้าวเดิน ไปมาเต็มผนังกระจกของตึกระฟ้าหลังดังกล่าว

ผนังทั้ง 4 ด้านของอาคารแห่งนี้เป็นกระจก 2 ชั้น มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้นกว่า 27,000 ตารางเมตร นับจากฐานล่างขึ้นไปจนถึงยอดสูงสุด และ ณ ปัจจุบันนี้ผนังทั้ง 4 ด้านได้กลายเป็นจอภาพขนาดยักษ์สำหรับฉายภาพของป่าดงดิบเขียวขจี พร้อมด้วยสัตว์ป่านานาชนิดที่วิ่งและเดินไปมาอย่างมีชีวิตชีวาและมีความสุขตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน

เรียกความสนใจจากผู้ที่ขับรถขึ้นสะพานพระราม 9 หรือที่นั่งเรือท่องเที่ยวล่องเจ้าพระยามาในบริเวณนี้เป็นอย่างยิ่ง ดังที่เกริ่นไว้ในตอนต้น

ขณะเดียวกันก็เกิดคำถามขึ้นในใจของผู้ที่มีโอกาสพบเห็นว่าเหตุใด ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นธนาคารทันสมัยต้นตำรับ “รี-เอ็นจิเนียริ่ง” และ “อี-แบงก์กิ้ง” จึงหันมาฉายภาพสวนป่าและสัตว์ป่าดังกล่าวขึ้นรอบๆ ผนังตึกทั้ง 4 ด้านของอาคารสำนักงานใหญ่ของตนเอง?

ทีมงานซอกแซกก็อดฉงนฉงายมิได้เช่นกัน จึงได้สอบถามไปยังผู้บริหารระดับสูงหลายรายของธนาคาร ตลอดจนฝ่ายประชาสัมพันธ์ จนในที่สุดก็ได้คำตอบมาฝากท่านผู้อ่าน ดังต่อไปนี้

คงจะจำกันได้เมื่อหลายปีก่อน คุณ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย ที่หลงใหลในเสน่ห์ของจังหวัดน่าน จนถึงขั้นขอย้ายตนเองไปเป็นพลเมืองของที่นั่น และได้พบว่าจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ภาคเหนือของประเทศไทยจังหวัดนี้เป็น “ต้นน้ำ” ที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย

จากแม่น้ำ 4 สาย ปิง วัง ยม น่านที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ปริมาณน้ำถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของลุ่มเจ้าพระยามาจาก แม่น้ำน่าน ของจังหวัดน่านนั่นเอง

แต่ ณ ปัจจุบันป่าไม้ในจังหวัดน่านถูกทำลายอย่างรวดเร็ว กลายเป็นภูเขาหัวโล้น กลายเป็นป่าเสื่อมโทรมไปกว่า 1.8 ล้านไร่ หรือเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของป่าสงวนของจังหวัด ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อลำน้ำน่านอย่างไม่ต้องสงสัย

อะไรจะเกิดขึ้นแก่ลุ่มเจ้าพระยาหากว่าแม่น้ำที่มีส่วนในการส่งน้ำมาให้ถึง 40เปอร์เซ็นต์ จะต้องแห้งเหือดลง

ระหว่างไปพำนักที่จังหวัดน่าน คุณบัณฑูรเขา แวะไปที่ลำน้ำน่านบ่อยครั้ง พร้อมกับถามตัวเองว่าเขาควร จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อแม่น้ำ สายนี้หรือไม่?

จะอยู่เฉยๆ อย่างไม่รู้ไม่ชี้ปล่อยให้มีการตัดไม้ทำลายป่าต่อไป หรือว่าจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อดึงป่าให้กลับมา ดึงความชุ่มชื้นให้คืนมาเพื่อให้แม่น้ำน่านยังคงเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถป้อนน้ำให้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา ไปตลอดกาลนาน

บัณฑูรตัดสินใจเลือกที่จะทำอย่างหลัง คือลุกขึ้นมาเพื่อหาทางสู้กับการตัดไม้ทำลายป่าน่าน อันเป็นที่มาของการเริ่มโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

เขาเริ่มต้นด้วยการระดมความคิด ระดม สมองของผู้คนที่มีความรู้เรื่องป่า รู้เรื่องจังหวัดน่าน ทั้งที่เป็นนักวิชาการ ข้าราชการประจำ ตลอดจนภาคเอกชน และองค์กรเอกชน หรือเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้อง

ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดสัมนา “รักษ์ ป่าน่าน” ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2558 และทรงบรรยายถึงปัญหาต่างๆ ด้วยพระองค์เอง

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มตกผลึก คุณบัณฑูรก็นำความคิดทั้งหมดเข้าเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยตนเองและได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ ให้เดินหน้าสู่การปฏิบัติ เกิดเป็นโครงการนำร่องที่เรียกว่า “น่านแซนด์บ็อกซ์” เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา

นายกฯ ประยุทธ์แต่งตั้งกรรมการขึ้น 2 คณะ…คณะแรกเป็น กรรมการด้านนโยบายและกำกับดูแล ซึ่งนายกรัฐมนตรี รับเป็นประธานด้วยตนเอง

คณะที่สองคือคณะกรรมการปฏิบัติการ ซึ่งจะลงไปทำหน้าที่ภาคปฏิบัติในพื้นที่จังหวัด น่าน โดยมีประธานร่วม ได้แก่ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนภาครัฐ และคุณ บัณฑูร ล่ำซำ ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ผู้ริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ต้น

นายกฯ ประยุทธ์ลงนามแต่งตั้งกรรมการชุดน่านแซนด์บ็อกซ์ ทั้ง 2 ชุด เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 วันวาเลนไทน์พอดิบพอดี

จากวันวาเลนไทน์ปีที่แล้วมาถึงวันวาเลนไทน์ปีนี้ (2562) ผ่านไป 1 ปี คุณบัณฑูรบอกว่า ทุกอย่างคืบหน้าไปมาก มีผู้นำชุมชนถึง 99 ตำบลแล้ว ที่ยอมเข้ามาร่วมมือร่วมทดลองกับโครงการ

แม้จะยังอีกไกล แต่ก็เปี่ยมไปด้วยความหวัง ว่าสักวันหนึ่งป่าเมืองน่านจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และมีสิงสาราสัตว์เต็มป่าอีกครั้ง

นั่นคือสิ่งที่คุณ บัณฑูร ล่ำซำ ตั้งใจจะสื่อสารกับผู้คนในกรุงเทพฯ ถึงความก้าวหน้าของโครงการ รักษ์ป่าน่าน พร้อมกับขอแรงสนับสนุนจากทุกๆ ฝ่ายที่เห็นภาพสัตว์และป่าไม้รอบผนังกระจกของอาคารสำนักงานใหญ่ KBank ดังกล่าว

ก็เป็นอันทราบกันแล้วละว่า ภาพสัตว์ป่าทั้งหลายที่ผนังตึกสูง 208 เมตร ของ KBank มีที่มาที่ไปอย่างไร?

แต่หลายๆ ท่านคงอยากทราบว่า “น่านแซนด์บ็อกซ์” คืออะไร มีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง?

เพื่อให้บันทึกว่าด้วยภาพสัตว์ป่ารอบๆ ตึก KBank จบลงอย่างสมบูรณ์ พรุ่งนี้ขออนุญาตเขียนต่อในคอลัมน์ “เหะหะ พาที” อีกวันนะครับ.

“ซูม”