เบื้องหลังความสำเร็จ ธนาคารออมสินยุคดิจิทัล

เมื่อวานนี้ผมรายงานให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบแล้วว่า ในการประกาศ ผลรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ธนาคาร “ออมสิน” ได้รางวัลใหญ่ไปถึง 2 รางวัล

ได้แก่ รางวัล รัฐวิสาหกิจยอดเยี่ยม และรางวัล ผู้นำองค์กรดีเด่น ซึ่งผมก็เรียนท่านผู้อ่านไว้ด้วยแล้วว่า ผมไม่ประหลาดใจที่ธนาคารออมสินซึ่งผู้คนเข้าใจว่าเป็นธนาคารของเด็กๆจะได้รางวัลใหญ่ 2 รางวัลนี้

เพราะผมเพิ่งมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับท่านผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนปัจจุบัน ชาติชาย พยุหนาวีชัย เมื่อ 10 วันก่อนนี้เอง

กล่าวไปแล้ว คนชื่อนี้ มิใช่คนแปลกหน้าของวงการธนาคารแต่อย่างใด เพราะก่อนที่ท่านจะมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินนั้น ท่านอยู่ในตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย อยู่แล้ว

แม้โดยประวัติท่านจะไต่เต้ามาจากฝ่ายสินเชื่อเคยดำรงตำแหน่งทั้งหัวหน้าฝ่ายธรรมดาๆ มาจนถึงหัวหน้าฝ่ายอาวุโส และเมื่อขึ้นเป็นรองกรรมการผู้จัดการก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านสินเชื่อทั้งหมดของเคแบงก์

แต่จากการสัมภาษณ์พูดคุยผมพบว่าท่าน ผอ.ออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย มีความรู้และความชำนาญครบทุกด้านเท่าที่มีความจำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจการเงินและการธนาคารในปัจจุบัน

โดยเฉพาะใน ยุคดิจิทัล ที่ระบบการธนาคารของทั่วโลกกำลังจะมุ่งไปสู่และมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ท่าน ผอ.ชาติชายก็มีความรู้มีความชำนาญจนสามารถที่จะนำมาใช้ในการปรับธนาคารออมสินให้กลายเป็นธนาคารที่ทันสมัยได้อย่างเหลือเชื่อ

ทุกวันนี้ ธนาคารออมสิน เป็นหนึ่งในจำนวนธนาคารที่นำเสนอการให้บริการทางการเงินแบบใหม่ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่เรียก Mobile Banking และได้รับความนิยมบวกกับความเชื่อถือไม่น้อยไปกว่าธนาคารดังๆ อื่นใด

โครงการ MyMo ของออมสินที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในการใช้บริการต่างๆ ได้อย่างครบถ้วนผ่านแอปพลิเคชันเดียวมีลูกค้าสมัครเข้าใช้บริการแล้วเฉียด 2 ล้านรายจากตัวเลขล่าสุด

แน่นอนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้พนักงานมีงานทำน้อยลง จนอาจถึงกับว่างงานได้ในที่สุด จนถึงขนาดบางธนาคารเคยออกข่าวว่าจะต้องลดสาขาลงและจะต้องลดพนักงานอย่างมากในอนาคต

แต่สำหรับออมสินต่อให้งานด้านธนาคารลดลงไปแค่ไหน พนักงานก็จะไม่ว่างงาน เพราะยังมีหน้าที่ในฐานะธนาคารรัฐที่จะต้องให้บริการประชาชน ช่วยเหลือลูกค้าฐานรากและรายเล็กรายน้อย ตามนโยบายของรัฐอยู่อีกหน้าที่หนึ่ง ซึ่งก็เป็นหน้าที่หลักของออมสินด้วย

รวมทั้งยังมีภารกิจอันยิ่งใหญ่อีกประการหนึ่ง ได้แก่ การสร้าง “อุปนิสัยการออม” ให้แก่ประชาชน

ทุกวันนี้ธนาคารออมสินก็ยังมีโครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งล่าสุดมีถึงเกือบ 1,300 แห่ง และโครงการแจกกระปุกออมสินให้เด็กๆ ซึ่งจะยังแจกอยู่เสมอในทุกวันเด็กแห่งชาติ และทุกวันออมสิน 1 เมษายน

ผอ.ชาติชาย เล่าด้วยว่า เมื่อตอนธนาคารออมสินประกาศสรรหา ผอ.คนใหม่ปี 2557 ได้ไปขออนุญาตเจ้านายเก่าที่เคแบงก์ คุณ บัณฑูร ล่ำซำ ว่าจะไปสมัครแข่งขันกับเขาด้วย

คุณบัณฑูรถามว่า อยู่ที่นี่ไม่สบายใจอะไรหรือ? ก็เรียนท่านว่า สบายดีทุกอย่าง แต่อยากจะไปสานฝันของตัวเอง เพราะฝันเอาไว้มากสมัยหนุ่มๆ อยากจะเป็นผู้บริหารองค์กรใดองค์กรหนึ่งอย่างเต็มตัวสักครั้ง

นายใหญ่ของเคแบงก์ฟังเหตุผลแล้วก็พยักหน้า พร้อมกับอวยพรให้ได้รับการคัดเลือกในที่สุด

ไม่นานนักคุณชาติชายก็ผ่านการคัดเลือก ได้เป็นผู้นำองค์กรเก่าแก่อย่างธนาคารออมสินสมดังที่ใฝ่ฝันไว้ และอีก 2 ปีให้หลังยังได้รับการประกาศยกย่องจาก สคร. ให้เป็น “ผู้นำองค์กรดีเด่น” อีกด้วย

สำหรับปี 2561 ซึ่งจะเป็นปีที่ 105 ของธนาคารแห่งนี้ ท่าน ผอ.บอกผมว่า เป็นความตั้งใจของบอร์ดและพนักงานธนาคารออมสินทุกคนที่จะมุ่งไปสู่ “การเป็นธนาคารที่ดีที่สุดและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย” หรือ The Best & Biggest Local Bank in Thailand

ได้รับรางวัลใหญ่มาถึง 2 รางวัลแบบนี้น่าจะเป็นกำลังใจอันสำคัญที่จะทำให้ธนาคารออมสินเดินไปสู่เป้าหมายซึ่งก็ใหญ่มากข้างต้นได้สำเร็จ

ในฐานะศิษย์เก่าคนหนึ่ง (และปัจจุบันภรรยาผมก็ยังเป็นลูกค้าสลากออมสินที่จงรักภักดีมากรายหนึ่ง) ผมขอให้กำลังใจท่าน ผอ.และน้องๆ ชาวออมสินไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ.

“ซูม”