ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ มีข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับ “ครู” และ “หนี้สิน” อยู่ 2 ข่าวใหญ่ด้วยกัน แต่ความรู้สึกของคนไทยที่อ่านข่าวทั้ง 2 ข่าวนี้ จะต่างกันลิบลับแบบ “ฟ้า” กับ “เหว”
ข่าวแรกเกิดขึ้นก่อนและเปรียบเสมือน “เหว” เมื่อคุณครูกลุ่มหนึ่งไปประชุมที่จังหวัดมหาสารคาม แล้วก็ประกาศ “ปฏิญญามหาสารคาม” หยุดการชำระหนี้ที่บรรดาคุณครูมีอยู่กับธนาคารออมสิน
เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตำหนิติติงจากประชาชนทั่วประเทศว่าคุณครูซึ่งเปรียบเสมือนแม่พิมพ์ของชาติ ไม่สมควรที่จะบำเพ็ญตนเป็นแม่พิมพ์ในเรื่อง “เบี้ยวหนี้”
จนในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรีต้องออกมาชี้แจงข่าวนี้ว่า เป็นเรื่องของครูกลุ่มน้อยเท่านั้น
ต่อมาก็มีข่าวเกี่ยวกับคุณครูและ “หนี้สิน” เกิดขึ้นอีก แต่คราวนี้เปรียบเสมือน “ฟ้า” ที่อยู่ตรงข้ามกับ “เหว” อย่างลิบลับ
เพราะคุณครูท่านนี้มิได้ใช้จ่ายเกินตัว ก่อหนี้ขึ้นแต่ประการใด
หากแต่ไปลงนามค้ำประกันให้แก่ลูกศิษย์จำนวนหนึ่ง เพื่อกู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนเรียนหนังสือจาก “กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือ กยศ.
ปรากฏว่าท่านเซ็นค้ำประกันไป 60 ราย แต่เมื่อถึงกำหนดจ่ายคืนแล้วมีถึง 21 ราย ไม่ยอมจ่ายคืน เป็นผลให้ กยศ. ต้องฟ้องศาล และกำลัง จะยึดบ้านและที่ดินของครูมาขายทอดตลาด เพื่อชำระหนี้ให้แก่ศิษย์
โชคดีที่เรื่องดังขึ้น ทาง กยศ.จึงให้ระงับการดำเนินการต่างๆ ไว้ก่อน พร้อมกับประกาศให้ศิษย์จอมเบี้ยวรีบมาชำระหนี้โดยด่วน แต่สุดท้ายหากศิษย์ยังคงเบี้ยวต่อไป คุณครูก็จะต้องโดนยึดทรัพย์นำขายทอดตลาดอยู่ดี
กรณีหลังนี้ผู้คนที่อ่านข่าวทั่วประเทศต่างชื่นชมและสรรเสริญคุณครู ขออนุญาตเอ่ยนามด้วยความคารวะ น.ส.วิภา บานเย็น แห่งจังหวัดกำแพงเพชร ว่าสมกับเป็นแม่พิมพ์และเป็นคุณครูของชาติ
เป็นห่วงว่าลูกศิษย์ที่ยากจนจะไม่มีเงินเรียนหนังสือ จึงเอาตำแหน่งคุณครูมาค้ำประกันเงินกู้ให้
นอกจากชื่นชมคุณครูแล้ว ก็ยังกดดันลูกศิษย์จอมเบี้ยวทั้งหลาย จนล่าสุดมีข่าวว่ามีศิษย์มาติดต่อขอชำระคืนเงินแล้ว 4 ราย
ส่วนอีก 17 ราย จะติดต่อกลับมาจ่ายหนี้หรือไม่ หรือจะเบี้ยวต่อไป สังคมไทยคงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
สำหรับกรณี “ลูกศิษย์เบี้ยวหนี้ กยศ.” ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ คงต้องบอกว่าไม่ใช่เป็น ครั้งแรก ของประเทศไทยอย่างแน่นอน
ผมจำได้ว่าได้มีข่าวทำนองนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์มาหลายปีแล้ว และผมเองก็เคยเขียนตัดพ้อต่อว่าตำหนิติติงลูกศิษย์จอมเบี้ยวไม่ต่ำกว่า 3-4 ครั้ง ผ่านคอลัมน์นี้
เท่าที่พอค้นกลับไปได้ก็เมื่อเดือนกรกฎาคมเช่นกัน ในปี 2556 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ท่านผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ใน พ.ศ.ดังกล่าวได้ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนว่า…
“ปัญหาใหญ่ของ กยศ. คือ ผู้กู้รายเก่าไม่ยอมใช้หนี้มีสัดส่วนถึง 48 เปอร์เซ็นต์ และปีล่าสุดมียอดครบกำหนดชำระ 50,000 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้กู้ไม่มาชำระหนี้ถึง 20,000 ล้านบาท”
“ทำให้ กยศ. ขาดเงินที่จะนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับนักเรียนรายเดิมและรายใหม่ คงจะปล่อยกู้ให้รายใหม่ได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้”
จะเห็นได้ว่าประเด็นหลักที่ท่านผู้จัดการ กยศ.เมื่อ พ.ศ.2556 กล่าวกับนักข่าวไว้นั้นหากนำมาเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้วแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย นอกเสียจากตัวเลขที่โป่งหรือเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะสัดส่วนการเบี้ยวหนี้ที่ท่าน ผจก.คนเก่าแถลงไว้ 48 เปอร์เซ็นต์ แต่ล่าสุดที่ ผจก.ปัจจุบันแถลงปรากฏว่าพุ่งขึ้นไปถึง 64 เปอร์เซ็นต์
ยอดจำนวนคนเบี้ยวหนี้ ผมจำของเก่าไม่ได้ แต่ล่าสุดที่มีการแถลง เห็นว่ามีผู้ไม่ชำระหนี้ถึง 2.1 ล้านราย
ใจหายนะครับที่เรามีประชากรไทยซึ่งถือได้ว่ามีการศึกษา เพราะได้กู้ยืมเงินไปศึกษาเล่าเรียนในแขนงวิชาต่างๆ รวมแล้วถึงกว่า 2 ล้านคน ที่เป็นคนเห็นแก่ตัว ไม่ซื่อสัตย์สุจริต กู้เงินรัฐไปแล้วไม่นำมาใช้คืน
ผมจึงเห็นด้วยกับข้อวิจารณ์และข้อตำหนิผ่านสื่อทุกแขนงโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆที่มีต่อจอมเบี้ยวทั้ง 2 ล้านรายเศษ ตามตัวเลขข้างต้นนี้
รีบเอาเงินมาชำระหนี้เสียเถิดครับ อย่าให้สังคมไทยตราหน้าว่าพวกท่านทั้งหลายเป็นคนเห็นแก่ตัวต่อไปอีกเลย.
“ซูม”