จาก “ดราม่า” ในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับ ”ศาลาไทย Expo 2025“ หรือ “Thai Pavillion” ในงานเอ็กซ์โป 2025 ที่นครโอซากา จนเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์มาเมื่อไม่นานนี้
ซึ่งจากประสบการณ์ทั้งของหัวหน้าทีมซอกแซกที่เคยไปงานเอ็กซ์โปมาแล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่ ”เอ็กซ์โป 2000-2015“ บวกกับ ที่ส่งลูกทีมไปอีก 1 ครั้งเมื่อปี 2015 ที่มิลาน อิตาลี
ต้องบอกเลยว่าในทุก ๆ ครั้งก็มีดราม่า แต่สุดท้ายแล้วก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติและติดอันดับต้นๆ ของผู้เข้าชมมากที่สุดในงานทุกครั้ง
ทำให้ทีมงานซอกแซกต้องขอไปเห็นด้วยตาของตนเองให้เห็นว่า “ศาลาไทย” ที่ได้รับการออกแบบอาคารและการนำเสนอเนื้อหาในงานเอ็กซ์โปครั้งนี้ก็เป็นเบอร์ 1 ของไทยทั้งคู่
ไม่ว่าจะเป็น ”บริษัท Rightman จำกัด“ ที่ออกแบบ Dinosaur Planet และดูแลการนำเสนอเนื้อหาให้พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยมากมาย รวมไปถึงเคยทำศาลาไทยที่ “เอ็กซ์โป 2015” มิลาน มาแล้ว
ร่วมมือกับ “บริษัท สถาปนิก 49 (A49)” ผู้คร่ำหวอดในวงการสถาปัตยกรรมมากว่า 42 ปี และคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วมากมายจะเป็นไปตามที่โลกออนไลน์พูดกันหรือไม่
เมื่ออยากเห็นก็ต้องมาครับ…และตรงไปที่ “เกาะยูเมะชิมะ” นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นในทันที
งาน Expo 2025 Osaka จัดขึ้นภายใต้แนวความคิด “Designing Future Society for Our Lives” มีประเทศที่เข้าร่วมงาน 158 ประเทศ จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ถึง 13 ตุลาคม 2568 ที่ “เกาะยูเมะชิมะ“ ที่ถูกสร้างขึ้นจากการถม ”ขยะ“ จนกลายเป็นเกาะเล็กๆ เกาะนึง
โดยจะเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00 ถึง 22.00 น. สามารถ เดินทางโดยรถไฟใต้ดินสาย Chuo Line ของ Osaka Metro ซึ่งมีการขยายเส้นทางจากสถานี Cosmosquare ไปยังสถานี Yumeahima เดินออกจากสถานีก็ถึงหน้างานเลย
“ภูมิพิมาน“ คือ ชื่อของศาลาไทยในงานเอ็กซ์โป 2025 โดยมีแนวความคิดของทาง “กระทรวงสาธารณสุข” ที่ว่าเมืองไทยคือ “ดินแดนแห่งภูมิคุ้มกัน” หรือ “Thai Wellness” ที่นำเสนอการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก
ถ้าเดินเลาะใต้ “Grand Ring” หรือโครงสร้างไม้รูปวงกลมสัญลักษณ์ของงานในครั้งนี้ก็ไปที่เสาหมายเลข 33 ครับ ก็จะเจอศาลาไทยหลังคาสีทอง ที่ถูกสร้างเพียงครึ่งเดียว
เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ใช้กระจกสะท้อน ตามหลักการของความสมมาตร เพื่อให้เห็นหลังคาทรง “จอมแห” แบบไทยร่วมสมัยที่สมบูรณ์แบบจากทุกมุมมอง
ด้านหน้าจะเป็นลานไว้สำหรับเข้าคิวรอชม นิทรรศการภายใน ใช้ระยะเวลาการรอประมาณ 20 นาทีสำหรับชาวต่างชาติ และจะมีช่องพิเศษสำหรับคนไทย เพียงแสดงพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชน
และตรงบริเวณนี้ก็มีเวทีการแสดงไว้คอยสร้างสีสัน จะเริ่มแสดงในเวลา 15:00 น. จนถึง 19:00 น. โดยเฉพาะ “มวยไทย” ที่สามารถเรียกผู้ชมที่เดินผ่านไปผ่านมาให้หยุดชมได้จนคนเต็มลาน
ในส่วนของนิทรรศการก็จะเริ่มจาก 1 ถึง ล้านตั้งแต่ “1 หมุดหมายสุขภาพโลก” เป็นการปักหมุด ให้ทั่วโลกได้รู้จักดินแดนแห่งความกินดีอยู่ดีสไตล์ไทย ๆ
ด้วยความโดดเด่นสะดุดตาของสถาปัตยกรรมไทย และ “เฉลว” หรือไม้จักสานที่ปักบนหม้อยา อันเป็นสัญลักษณ์ของการแพทย์แผนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ต่อด้วย “10 มนต์เสน่ห์ของประเทศไทย” ซึ่งจะเป็นประติมากรรมที่เล่าเรื่องราวของอาหารการกิน พืชผัก สมุนไพร ตั้งอยู่บริเวณทางเดินด้านข้างของอาคาร ช่วงนี้อากาศอุ่นขึ้นพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้ก็เติบโตงอกงามเป็นอย่างดี
พอเข้าสู่ตัวอาคารก็จะมีโถงที่จุผู้ชมได้ 120 คน มีเจ้าหน้าที่มาสอนทักทายด้วยการไหว้ และคำว่า “สวัสดี” ก่อนที่จะนำเข้าสู่ห้องถัดไปที่จะเป็นคลิปแนะนำประเทศไทยที่มีเพลงสนุก ๆ แสดงถึงการมีความสุขของคนไทย
ในส่วนถัดไปจะเป็นห้องนิทรรศการ “100 ศักยภาพสาธารณสุขไทย” ห้องนี้จะจัดแสดงของดีทางการแพทย์ของไทยไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากสมุนไพร และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่คิดค้นโดยคนไทย
มีหลายชิ้นไปชนะการประกวดในระดับโลกมาแล้ว ซึ่งสามารถใช้มือถือสแกน QR Code เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้
จาก 100 คราวนี้สู่ “1000 สถานบริการทางการแพทย์” ที่นำเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรงพยาบาลในประเทศไทยที่มีมาตรฐานระดับสากล ตลอดจนถึงการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่าง สปา เวลล์เนส รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของไทย ผ่านระบบทัชสกรีน
ส่วนถัดมาก็จะพูดถึง “10,000 เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ” เพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบ ในการทำอาหารไทย เมนูอาหารสุขภาพ มีเกมให้เล่นเป็นการจำลองเมนูที่สร้างขึ้นตามสไตล์ของตัวเองและโพสขึ้นไปบน Art Wall Installation เป็นต้น
ส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของ “ศาลาไทย” ก็คือการสร้างประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ มากมายตลอดระยะเวลาการจัดงาน กิจกรรมที่คนญี่ปุ่นชอบมากที่สุดก็คือ “อาหารไทย” และ “การนวดไทย”
สำหรับร้านอาหารไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาขายใน “ศาลาไทย” ก็คือร้าน “ไทย-ยา-ไต้” เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “ร้านอาหารตามสั่ง” ร้านอาหารไทยที่ขายดีมีชื่อเสียงในโอซากา ได้รีวิวดีจากสื่อญี่ปุ่นมากมาย และเมนูอาหารจะถูกเปลี่ยนในแต่ละสัปดาห์ตลอดงาน
เวลาคนญี่ปุ่นมาซื้ออาหารไทยก็จะต้องหยิบ “เบียร์ช้าง” ไปทานคู่ด้วย บอกเลยว่าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ส่วน “การนวดไทย” ก็ได้อาสาสมัครที่เป็นเจ้าของร้านนวดมาจากทั่วประเทศญี่ปุ่น บางคนมีดีกรีระดับแชมป์โลก โดยทางห้องนวดไทยจะเปิดรับวันละ 3 รอบ รอบละ 50 คน ซึ่งตอนนี้คนจองคิวเต็มตลอด เพราะคนญี่ปุ่นชอบนวดอยู่แล้ว
ล่าสุดมีช่องทีวีญี่ปุ่นมาทำข่าวยิ่งทำให้คนญี่ปุ่นคุยกันว่าจะมาที่ศาลาไทยเพื่อที่จะมานวดกันเลยทีเดียว
ก่อนที่จะออกจาก “ศาลาไทย” ก็จะถึงส่วนของ “100,000 ผลิตภัณฑ์สร้างภูมิคุ้มกัน” ซึ่งก็คือพื้นที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ของที่ระลึก ของ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รวมถึงโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และอีกมากมาย
และหนึ่งในของที่ขายดีที่สุดในร้านก็คือ “กางเกงช้าง” เพราะขนมาเท่าไหร่ก็หมดตลอด
โซนนี้คนก็เยอะมาก ๆ โดยเฉพาะตรงที่จ่ายเงินเข้าคิวกันยาว และบริเวณนั้นจะเป็นโซนสุดท้ายของศาลาไทยซึ่งก็คือ “1,000,000 รอยยิ้มแห่งความประทับใจ”
เขาจะมีแทปเลตต์ให้กรอกแบบสอบถาม ถ่ายรูปรวบรวมภาพรอยยิ้มทั้งของชาวไทย ชาวญี่ปุ่น และชาวต่างชาติ ที่มาเยี่ยมชมและฉายขึ้นจอบนผนังที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มก่อนที่เดินออกจากศาลาไทย
ซึ่งจากตัวเลข ณ ปัจจุบัน นับตั้งแต่วันที่เปิดงานเอ็กซ์โป 2025 จนถึงวันนี้ก็ประมาณหนึ่งเดือน “ศาลาไทย” มีผู้เข้าชมแล้วถึง 280,000 คน เฉลี่ยวันละ 9000 กว่าคน
น้องๆ ประเทศ “สหรัฐอเมริกา” ที่คนต้องมาแต่เช้าแล้ววิ่งแข่งกันเพื่อมาต่อคิวเข้าชม ที่เฉลี่ยวันละ 10,000 กว่าคน นิดเดียว เพราะฉะนั้นเหลือเวลาอีกห้าเดือนกับ 1,000,000 รอยยิ้มก็คงไม่เกินจริง
และจากตัวเลขนี้ต้องมาลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้ว “ศาลาไทย” จะติดอันดับ “ท็อปเท็น” เป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกันหรือไม่
ต้องขอขอบคุณชาวญี่ปุ่น และชาวต่างชาติที่ให้ความสนใจ “ศาลาไทย” และที่ต้องขอบคุณเป็นพิเศษก็คือ “ดราม่า” ที่เกิดขึ้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ให้คนไทยได้รู้จัก “ศาลาไทย” ในงานเอ็กซ์โป 2025 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น
หากมีโอกาส อยากให้คุณได้ไปสัมผัส “ภูมิพิมาน” ด้วยตาตัวเอง แล้วจะรู้ว่า…ศาลาไทยไม่ได้เป็นแค่ “ของคนไทย” แต่คือ “ความภูมิใจของคนทั้งโลก”
ซูม จูเนียร์