ข่าวเล็กๆ แถลงโดยท่านรักษาการรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อ 2 วันที่แล้วว่าด้วย “ผลการคัดเลือกกิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น”
ภายใต้โครงการ ส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) ประจำปี 2567 จากทั้งหมด 76 จังหวัด และ กทม.
อาจจะได้รับการกล่าวขวัญถึงไม่มากนัก ในท่ามกลางกระแสข่าวการผสมพรรคจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่วิ่งกันฝุ่นตลบขณะนี้
แต่สำหรับพี่น้องประชาชนในจังหวัดต่างๆ แล้ว ต้องยอมรับว่ามีการรับรู้มีการพูดถึง และมีการวิจารณ์เห็นด้วยไม่เห็นด้วย หรือแม้แต่ตั้งคำถามว่า…อาหารอะไรวะตูไม่เคยได้ยินชื่อเลย? กันอยู่พอสมควร
ท่านผู้อ่านอย่าลืมไปเข้ากูเกิล โดยพิมพ์ว่า “1 จังหวัด 1 เมนู 2567” ก็จะมีข่าวการประกาศผลดังกล่าวจากกระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสำนักข่าวต่างๆ ที่นำเสนอข่าวนี้หลายๆ สิบสำนักให้เลือก…เจอแล้วก็เปิดดูเสียก่อนนะครับ จะได้รู้ว่าจังหวัดของท่านเขายกให้อาหารอะไรเป็นอาหารประจำท้องถิ่นของปีนี้
เนื่องจากหัวหน้าทีมซอกแซกเป็นชาวนครสวรรค์ จึงขออนุญาตบำเพ็ญตนเป็น “คนนครสวรรค์นิยม” เขียนถึงอาหารถิ่นของ จังหวัดนครสวรรค์ ปีนี้ก็แล้วกัน เพราะชื่อออกจะฟังแล้วไม่คุ้นหูหรือแม้แต่ตัวผมเองก็เพิ่งมารู้จักอาหารชื่อนี้เมื่อเลยวัยกลางคนอายุ 40 กว่าปีเข้าไปแล้วด้วยซ้ำ
นั่นก็คือ “แกงนอกหม้อ” อยู่ในลำดับที่ 6 ของประกาศเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
แม้ตามประวัติจะเชื่อกันว่า “แกงนอกหม้อ” เป็นที่นิยม และอยู่คู่กับจังหวัดนครสวรรค์มาเป็นร้อยปีแล้ว แต่กว่าหัวหน้าทีมซอกแซกจะได้ยินหรือกว่าจะรู้ว่า “แกงนอกหม้อ” เป็นอาหารถิ่นของนครสวรรค์ก็เมื่ออายุ 40 กว่าปี อย่างที่เกริ่นไว้
จะเป็นด้วยในช่วงเด็กๆ หัวหน้าทีมเข้ามาเรียนหนังสือในปากนํ้าโพตลอดจนจบมัธยม 6 และพักอาศัยอยู่กับ “กงสี” บริษัทรับซื้อพืชไร่ซึ่งมีเถ้าแก่และหลงจู๊เป็นคนจีน ส่วนใหญ่จึงรับประทานแต่อาหารจีนรสจืดๆ
ครั้นไปโรงเรียนรับประทานข้าวแกงที่โรงเรียน ก็ไม่เคยเจอะเมนูนี้ จึงไม่ทราบ และไม่เคยได้ยินมาก่อน
จนเมื่ออายุ 40 ปีเศษๆ ดังกล่าว ในงานทำบุญ 100 วัน ให้แก่ “เด” หรือ “พ่อ” ที่อำเภอ บรรพตพิสัย จำได้ว่า แอ๊ด เทวดา ราชาหนังเร่ “จอยักษ์” สูงเท่าตึก 3 ชั้น จากพิษณุโลก ได้นำ หนังจอยักษ์มาฉายในงานด้วย และแม่ครัวชาวบรรพตพิสัยได้ร่วมกันปรุงอาหาร “พิเศษ” ชนิดหนึ่ง เลี้ยงต้อนรับคณะฉายหนังของ แอ๊ด เทวดา
ก็คือ “แกงนอกหม้อ” นี่เอง…ปรากฏว่าทั้งหัวหน้าทีม และแอ๊ด เทวดา ที่เพิ่งจะเคยรับประทานเป็นครั้งแรกในชีวิตด้วยกัน …ต่างเอ่ยปากชมเปาะว่าอร่อยและแซ่บมาก
แต่จากวันนั้นเป็นต้นมา (ก็กว่า 40 ปีแล้ว เช่นกัน) หัวหน้าทีมก็ไม่ได้มีโอกาสรับประทานอีกเลย แม้จะกลับไปเยี่ยมบ้านบ่อยครั้ง แต่เผอิญว่าไม่มีการเปิดร้านขายโดยตรง จึงไม่มีโอกาสลิ้มรสอีก
เพียงทราบว่ายังมีการปรุงกันอยู่ โดย เฉพาะในงานใหญ่ๆ ของชุมชนที่มารวมตัวกันมากๆ “แกงนอกหม้อ” ก็ยังฮิตอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันก็ทราบจากเพื่อนๆ ที่มาจากอำเภออื่นๆ ของนครสวรรค์ด้วยว่า ที่อำเภอเพื่อนก็มี “แกงนอกหม้อ” เช่นกัน โดยโครงสร้าง หรือรสชาติโดยรวมจะคล้ายๆกัน แต่ในราย ละเอียดปลีกย่อยอาจจะแตกต่างกันไปบ้าง
อำเภอดังๆของนครสวรรค์ที่ยังปรุงแกงนอกหม้อกันอยู่ ก็เช่น อำเภอลาดยาว อำเภอชุมแสง อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอบรรพตพิสัย และ อำเภอเมือง ฯลฯ เป็นต้น
รูปร่างหน้าตาของ “แกงนอกหม้อ” จะเป็นอย่างไร เข้ากูเกิลหาดูชมได้เลยครับในยูทูบ มีพี่น้องชาวลาดยาว ชาวชุมแสง และคุณครู กศน.นำมาโพสต์ไว้หลายๆ เวอร์ชัน
หน้าตาโดยรวมคล้ายๆ “แกงคั่วไก่” …และส่วนมากเขาก็ใช้ “ไก่” นี่แหละเป็นหลัก หรืออาจจะใช้ “หมู” ก็ได้…จะมีการคั่วเครื่องแกงไว้ก่อน คั่วไก่ไว้ก่อน เสร็จแล้วก็เอาคั่วรวมกันอีกที โดยใส่ผักต่างๆ เช่น ผักชี หัวปลี (บางพื้นที่เอามาแกล้มสดๆ บางพื้นที่ก็คั่วหรือผัดไปด้วยเลย)
ที่ขาดไม่ได้หรือถือเป็นเคล็ดลับก็คือ ต้องใส่ “นํ้ากระเทียมดอง” ด้วย ซึ่งจะทำให้แกงนอกหม้อนครสวรรค์มีรสชาติครบ ทั้งเผ็ดทั้งเปรี้ยว และหวานนิดๆ (จากนํ้ากระเทียมดอง) รับประทานพร้อมข้าวสวย หรือหมี่ขาวทอดกรอบ อร่อยอย่าบอกใคร
คุณครู กศน.ที่ไปสอนชาวบ้านให้รู้จักปรุง “แกงนอกหม้อ” เล่าผ่านยูทูบตอนหนึ่งว่า เมื่อครั้ง พระพุทธเจ้าหลวง ร.5 เสด็จประพาสต้นทางเรือมาถึงอำเภอบรรพตพิสัย ทรงจอดพักที่ตำบลบ้านแดน เพื่อเสด็จขึ้นทอดพระเนตร “เขาหน่อ” หรือเขา นางพันธุรัตน์…ชาวบ้านแดนได้จัดอาหาร ถวาย 1 ในเมนูเอกก็คือ “แกงนอกหม้อ” นี่เอง
ในกูเกิลเช่นกัน มีโพสต์เก่าโพสต์หนึ่งระบุว่า ภัตตาคาร “เล่งหงษ์ นครสวรรค์” นำ “แกงนอกหม้อ” สูตรบรรพตพิสัยมาขึ้นโต๊ะจีน เป็น 1 ในอาหารโต๊ะจีนของร้าน
อย่าหาว่าประชาสัมพันธ์เลยนะครับ พวกเราไม่ได้รู้จักมักจี่อะไรกับร้านนี้เลย แต่เห็นโพสต์แล้วก็อดไม่ได้ที่จะแนะนำว่าใครผ่านไปผ่านมาลองแวะชิมหน่อยจะได้รู้รสชาติว่า “แกงนอกหม้อ” อาหารถิ่นนครสวรรค์นั้นไซร้ รสชาติเป็นอย่างไรนั่นเอง?
ส่วนคำถามสุดท้ายก็คือ ทำไมเรียกว่า “แกงนอกหม้อล่ะ”? ได้รับคำตอบจากแม่ครัวท่านหนึ่งว่า เพราะการปรุงทั้งหมดมิได้อยู่ในหม้อเลย ใช้กระทะปรุงทั้งสิ้น…ทั้งแยกคั่ว และคั่วรวมอยู่ในกระทะทั้งหมด…เหตุนี้กระมังจึงเรียกว่า “แกงนอกหม้อ”…ซตพ.
“ซูม”