แบงก์ชาติ-กระทรวงคลัง ถูกแล้ว…จะต้อง “คุยกัน”

ระหว่างที่ผมไปพักผ่อนแบบชิลๆ ที่บ้านกรูด อ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3-4 วัน ดังที่ได้เรียนให้ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วนั้นต้องยอมรับว่าเป็นห้วงเวลาที่ผมมีความสุขอย่างแท้จริง

เที่ยวโน่นชมนี่กับหลานๆ ไปวันๆ พร้อมกับเก็บข้อมูลมาฝากท่านผู้อ่านสำหรับคอลัมน์ “ซูมซอกแซก” ในฉบับวันอาทิตย์ได้อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

ปิดโทรศัพท์มือถือไม่ดูทีวีไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ตัดขาดจากโลกภายนอกเกือบทั้งหมด

โดยเฉพาะข่าวการเมืองเรื่องปวดหัวเรื่องการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เรื่องการกลับมาของนักการเมืองเจ้าปัญหาที่จะเป็นสาเหตุแห่งความยุ่งยากของประเทศไทยในอนาคต ฯลฯ ผมก็สามารถตัดขาดได้อย่างสนิท

ข้อเสียมีอยู่หน่อยเดียวตรงที่พอกลับมาแล้ว จะต้องกลับไปดูข่าวย้อนหลังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ระหว่างที่เราไม่อยู่ กทม. เพื่อจะได้นำมาเป็นข้อมูลในการออกความคิดเห็นตามหน้าที่

ปรากฏว่าข่าวใหญ่ที่ร้อนที่สุดคือ ข่าวที่คุณ แพทองธาร ชินวัตร หรือคุณอุ๊งอิ๊งค์ หัวหน้าพรรค ออกมาปราศรัยเป็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ธนาคารแห่งประเทศไทยว่า มีอิสระมากเกินไป ฯลฯ

มีการตอบโต้กลับจากนักวิชาการ และจากผู้คนที่มีความรู้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของแบงก์ชาติ รวมไปถึงพรรคฝ่ายค้านต่างๆ เป็นผลให้คนดังของพรรคหลายๆ คนต้องออกมาช่วยกันปกป้อง

ผมเองโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับความจำเป็นที่จะต้องเป็น “อิสระ” ของแบงก์ชาติอยู่แล้ว เพราะเป็น “หลักการ” ทางเศรษฐศาสตร์และเป็นวิถีปฏิบัติของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก

แต่ผมก็คงจะไม่แสดงความเห็นอะไรอีก เพราะเพียงเท่านี้ผมก็เชื่อว่าคุณอุ๊งอิ๊งค์คงจะได้รับบทเรียนบทใหญ่ไปแล้ว จากเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ต่อไปคงจะต้องระมัดระวังและรอบคอบมากขึ้นในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะในเรื่องทางเศรษฐกิจที่ตัวคุณอุ๊งอิ๊งค์ไม่ถนัด และจะต้อง “อ่านบท” ตามที่มีผู้เขียนให้

สำหรับประเด็นเรื่องแบงก์ชาติกับรัฐบาลที่กลายเป็นข่าวใหญ่นี้ ก็สืบเนื่องมาตั้งแต่โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตโน่นแล้ว ที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติท่านมีจุดยืนที่เข้มแข็งในฐานะนักเศรษฐศาสตร์การเงินมาตลอด

อย่าลืมนะครับว่า ท่านมิได้ขัดข้อง รัฐบาลจะแจกก็แจกไป ท่านมิได้ห้ามเลย ท่านเพียงแต่บอกว่า ถ้าแจกแล้วจะมีผลเสียอย่างนั้นอย่างนี้ จะมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้

เมื่อรัฐบาลไม่รับฟังท่านก็ไม่ว่ากระไร และเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปเสี่ยงเอาเอง

ส่วนในประเด็น ลดดอกเบี้ย นั้น ทางพรรคเพื่อไทยไล่ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาดูเหมือนจะพูดจาทั้งทางตรงทางอ้อมขอให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยประชาชนที่เป็นหนี้สิน เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก ขนาดกลาง ซึ่งต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูง

ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีอะไรผิดเลย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำเช่นนี้ด้วยซํ้า

แต่ แบงก์ชาติ เขามีภารกิจจะต้องดู ภาพรวม ทั้งหมดของประเทศ และมองว่าการจะใช้นโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งทางการเงิน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร แค่ไหน?

เพราะทุกนโยบายทุกมาตรการของรัฐบาล มีบวกมีลบทั้งหมด ต้องเอามาชั่งให้รอบด้าน

กรณีนี้การลดดอกเบี้ยอาจจะมีส่วนช่วยลดภาระของผู้คนในชาติ หรือผู้ประกอบการขนาดเล็กขนาดย่อมได้บ้าง แต่ถ้าลดแล้วมันมีผลทำให้เงินตราต่างประเทศไหลออกมากๆ ก็มีผลเสีย

เศรษฐกิจไทยโดยรวมอาจจะเสียเสถียรภาพ ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนลงแบบคุมไม่อยู่ อาจจะมีพวกฉลามหิวเหยื่อเข้ามาโจมตีทางการเงิน ฯลฯ

ผมเชื่อว่าแบงก์ชาติเขามองรอบด้านแล้ว เขาจึงเลือกทาง “ไม่ลด” เอาไว้ก่อน…เป็นผลให้นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ คนของพรรคเพื่อไทยที่คงจะมองด้านเดียวออกมาพูดจาตำหนิแบงก์ชาติอย่างขนานใหญ่

เขียนมาถึงตรงนี้ผมก็เห็นพาดหัวยักษ์ของไทยรัฐ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ค. มีข้อความว่า “พิชัยรับหน้าเสื่อเป็นกาวใจเจรจาผู้ว่าฯ ธปท.”

พิชัยในที่นี้ก็คือ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่นั่นเอง…ถูกต้องแล้วครับที่จะต้องคุยกัน เพราะปัญหาเรื่องการเงินการคลังของชาติเป็นเรื่องใหญ่มาก จะมัวมาทะเลาะกันผ่าน “สื่อมวลชน” ไม่ได้หรอกครับ…มีแต่พังกับพังเท่านั้นเอง.

“ซูม”

แบงก์ชาติ, กระทรวงคลัง, คุยกัน, ความคิดเห็น, รัฐบาล, นโยบาย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, พรรคเพื่อไทย, ข่าว, ข่าววันนี้, ซูมซอกแซก, เศรษฐศาสตร์