วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ.2567 เป็น “วันจักรี” หรือวันรำลึกถึงการเสด็จขึ้นครองราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อ 6 เมษายน พ.ศ.2325
และอีกเพียง 15 วันจากนั้นก็ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ เมื่อ 21 เมษายนปีเดียวกัน นำความเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข และวัฒนาถาวรมาสู่พสกนิกรชาวไทย นับถึงบัดนี้เป็นเวลา 242 ปีแล้ว
รายการ “เสาร์สารพัน” ขอเชิญชวนผู้อ่านที่เคารพน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์ท่าน ตลอดจนพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ทุกๆพระองค์ ที่ทรงปกครองแผ่นดินสืบทอดพระราชปณิธาน แห่งองค์พระปฐมกษัตริย์มาโดยตลอด
สำหรับประเด็นและสาระหลักของคอลัมน์ในวันนี้ ผมจะเขียนถึงแง่มุมที่สำคัญประการหนึ่งของ “กรุงเทพมหานคร” เมืองหลวงของประเทศไทยที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระราชดำริให้สร้างขึ้น แทนกรุงธนบุรีดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
มีพระราชดำริด้วยเหตุผลที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปประเทศไทยของเรากลับได้ประโยชน์จากการยกกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวง ในทางอื่นอย่างอเนกอนันต์ และคาดไม่ถึง
คงทราบแล้วว่าเหตุผลเบื้องต้นของพระองค์ท่านเป็นพระบรมราช วินิจฉัยเกี่ยวกับชัยภูมิของตัวเมืองธนบุรี ซึ่งป้องกันยากหากจะมีอริราชศัตรูยกทัพมาประชิด เพราะตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา หากย้ายไปอยู่เสียทางฝั่งตะวันออกจะป้องกันได้ดีกว่า
จึงทรงมอบหมายให้พระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กอง ข้ามมารังวัดก่อร่างสร้างเมืองขึ้นใหม่ และทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325 ก่อกำเนิด กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่นั้นมา
แม้จะต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ร้ายแรงต่างๆ นับแต่ยุคล่าเมืองขึ้นของเหล่าประเทศตะวันตก ที่เรียกตัวเองว่าประเทศพัฒนาแล้ว มาจนถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สงครามการต่อสู้บังเกิดขึ้นในแผ่นดินของเราด้วย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ได้ถูกโจมตีทางอากาศหลายต่อหลายครั้ง
แต่กรุงเทพมหานครและประเทศสยาม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นประเทศไทย ก็สามารถอยู่ยั้งยืนยงเอาตัวรอดได้เรื่อยมา ด้วยพระปรีชาสามารถของบูรพกษัตริย์ไทยทุกพระองค์
ในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้นก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและขยายตัวเติบโตขึ้นอีกมาก จนกลายเป็นมหานครใหญ่ที่บางครั้งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นมากมาย
อย่างไรก็ตามหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา โลกเราก็ได้เกิด “ธุรกิจ” หรือ “กิจกรรม” ขึ้นมาประการหนึ่งเรียกกันว่า “ธุรกิจท่องเที่ยว” บ้าง “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” บ้าง ฯลฯ
ก่อให้เกิดรายได้มหาศาลแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีชื่อเสียงด้านท่องเที่ยวและกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของทุกประเทศในการใช้หารายได้เข้ามาพัฒนาประเทศของตน…รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย
ที่สำคัญ “พระเอก” ของธุรกิจท่องเที่ยวไทยก็คือ “กรุงเทพมหานคร” นี่เอง สืบเนื่องมาจากพระราชมรดกต่างๆ ที่พระมหากษัตริย์ไทยนับแต่รัชกาลที่ 1 ทรงสร้างและมอบไว้เป็นสมบัติของประเทศ
ความสวยงามของพระบรมมหาราชวังของวัดพระแก้วของพระปรางค์วัดอรุณและแม่น้ำลำคลองต่างๆ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยมาโดยตลอด
ในปี 2555 กรุงเทพมหานครสามารถติดอันดับ 1 ของเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและอันดับ 3 ของโลกจากการจัดอันดับของ Master Card
ล่าสุดเมื่อปี 2566 ปีกลายนี่เอง กรุงเทพฯ กลับมาเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวมาเยือนมากสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จำนวน 22.76 ล้านคน แซง ปารีส ที่มีผู้ไปเที่ยว 19.10 ล้านคนได้อย่างงดงาม (เว็บไซต์ Travelnews) และต่อมาเมื่อรวมทั้งปี 2566 ปรากฏว่ามีผู้มาเที่ยวประเทศไทย 28 ล้านคนเศษ สร้างรายได้ถึง 54,400 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้คือพระมหากรุณาธิคุณที่สำคัญยิ่งที่พระมหากษัตริย์ไทยของเราในอดีตกาลได้ทรงมอบไว้เป็นมรดกของชาติไทยประดุจน้ำซึมบ่อทรายที่จะสามารถตักตวงมาดื่มกินได้อีกนานแสนนานในอนาคต
ขอเพียงพวกเราจงใช้ประโยชน์อย่างทะนุถนอม และระมัดระวังอย่างยิ่งยวดด้วยเถิด “นํ้าบ่อนี้” (ธุรกิจท่องเที่ยว) จะไหลซึมออกมาให้พวกเราได้ดื่มกินไปชั่วลูกชั่วหลานตราบกาลนิรันดร์.
“ซูม”