ในช่วงที่ผมหลบไปเที่ยวอินโดนีเซียเสียหลายวันนั้น ข่าวฮิตข่าวหนึ่งในบ้านเราก็คือข่าวตัวเลข GDP ของกระทรวงการคลังหลุด แต่แล้วก็มีการลบทิ้ง และต่อมาจึงมีการแถลงจากกระทรวงการคลังด้วยข้อมูลหรือตัวเลขเดียวกันกับที่หลุดออกมานั่นเอง
ถ้าตัวเลข GDP ที่กระทรวงการคลังแถลงครั้งนี้ใกล้เคียงกับตัวเลขที่สภาพัฒน์เคยคาดการณ์ไว้เมื่อก่อนสิ้นปี หรือสอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคำนวณไว้ และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของธนาคารเมื่อก่อนสิ้นปีเช่นกัน…ก็คงไม่เป็นข่าวอะไรมากนัก
แต่เนื่องจากตัวเลขที่กระทรวงการคลังแถลง และมีการนำไปปล่อยเป็นเอกสารหลุดนั้น แตกต่างไปจากของสำนักงานหลักอันได้แก่สภาพัฒน์กับแบงก์ชาติอย่างมีนัยสำคัญ…จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมา
สภาพัฒน์เคยแถลงเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลายว่า อัตราการขยายตัว ของ GDP ในปี 2566 หรือปีกระต่ายที่ผ่านไปจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และ สำหรับปี 2567 หรือปีมะโรงงูใหญ่ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 2.7-3.7 หรือมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3.2
สำหรับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้สรุปไว้ในเว็บไซต์ของธนาคารเมื่อ 29 พฤศจิกายนปีที่แล้ว คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยไม่รวมถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตหัวละ 10,000 บาท ซึ่งถ้ารวมไปด้วยจะประมาณร้อยละ 3.8
ในขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังได้ออกมาแถลงหลังมีข่าวเอกสารหลุดว่า การขยายตัวปี 2566 จะอยู่ที่ 1.8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และในปี 2567 จะเพิ่มร้อยละ 2.8 เท่านั้น
ต่ำกว่า 2 สำนักแรกอย่างมีนัยสำคัญ ในทั้ง 2 ปี จึงมีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์ขึ้นดังกล่าวว่า เป็นตัวเลขที่มุ่งหวังจะเอาใจรัฐบาลหรือเปล่า?
การแถลงว่าเศรษฐกิจขยายตัวต่ำจะเท่ากับเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินต่อไป
โดยส่วนตัวผมไม่เคยมองข้าราชการประจำของกระทรวงการคลังในแง่ร้าย และยังเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็นข้าราชการประจำของทุกๆ ท่าน ว่าจะไม่มีวันยอมรับใช้ฝ่ายการเมืองในลักษณะนี้อย่างเด็ดขาด
อาจเป็นไปได้…เพราะท่านนำมาแถลงทีหลัง จึงใช้ข้อมูลล่าสุดกว่า และพบว่าไตรมาสสุดท้ายอาจจะยังอ่อนแออยู่…ท่านและคณะจึงเชื่อว่าจะโตได้แค่ 1.8 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าของสภาพัฒน์และแบงก์ชาติที่คาดไว้ เมื่อปลายปี (สภาพัฒน์ 2.5% แบงก์ชาติ 3.2%)
หรือไม่ก็เป็นเพราะการกำหนดนิยามที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นไปได้ ในทางวิชาการ
แต่อย่างไรก็ดี การแถลงตัวเลขเดียวกันไปคนละทิศคนละทางเช่นนี้ ย่อมนำความสับสนมาสู่ผู้ใช้ตัวเลข โดยเฉพาะนักธุรกิจนักลงทุนต่างๆ
จึงควรจะมีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด และถ้าเป็นไปได้ควรจะแถลงในเวลาที่ใกล้เคียงและตัวเลขก็ควรจะใกล้เคียงกันด้วย
แต่ถ้าจะให้ผมฟันธงว่าตัวเลข GDP ประเทศไทยที่ออกมามากมายหลายยี่ห้อ นอกจาก 3 สำนักนี้แล้วยังมีของธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่ง และสถาบันทางวิชาการอีกหลายแห่ง เราควรจะเชื่อใคร?
ผมคิดว่าควรเชื่อสภาพัฒน์ครับ เพราะเป็นหน่วยงานหลักของชาติที่ทำหน้าที่บันทึกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพื่อนำมาจัดทำบัญชีประชาชาติ (National Accounts) สำหรับประเทศไทยอย่างละเอียดยิบในทุกหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง
โดย กองบัญชีประชาชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับสภาพัฒน์กว่า 60 ปีมาแล้ว และทำหน้าที่จัดรวบรวมข้อมูลอันสำคัญยิ่งนี้ไว้เป็นหลักฐานหรือจารึกทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด
สำนักอื่นๆมาประเมินหรือประมาณการปีต่อปีแล้วก็ผ่านไป แต่สภาพัฒน์ประเมินแล้วต้องกลับไปจัดทำบัญชีอย่างละเอียดให้ครบถ้วนตามหลัง เพื่อใช้อ้างอิงและค้นคว้าแบบปีต่อปีอย่างต่อเนื่อง
ไม่เชื่อสภาพัฒน์แล้วจะเชื่อใครล่ะครับ? และถ้าเชื่อสภาพัฒน์เรื่อง GDP ก็ขอให้เชื่อต่ออีกนิดว่าคงไม่ต้องกู้เงินมาแจกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพราะสภาพัฒน์เคยบอกว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอยู่แล้ว และการกู้ก้อนนี้จะเพิ่มความเสี่ยงทางการคลัง เอาเงินไปลงทุน ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างถาวรดีกว่า
ผมสรุปอย่างนี้ถูกไหมครับท่านเลขาธิการ.
“ซูม”