เมื่อปีที่แล้ว 2565 “วันลอยกระทง” ของประเทศไทยเรา ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โควิด–19 เริ่มซาลงแล้ว และรัฐบาลไทย ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ประกาศเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา จนมีข่าวว่าทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีผู้โดยสารแน่นไปหมด
จำได้ว่า “วันลอยกระทง” ของปีกลายมีผู้คนออกมาลอยกันอย่างแน่นขนัด บรรยากาศสนุกสนานครึกครื้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายๆ ปี
วันรุ่งขึ้นผมก็หยิบเหตุการณ์คืนลอยกระทงคนแน่นเอี้ยดมาเขียนถึง พร้อมกับพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัวแน่นอน
ข้อมูลที่ผมใช้อ้างอิงก็คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับ งานลอยกระทง ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของประเทศไทยเรานั่นแหละครับ
คงจำได้ในปี 2527 เศรษฐกิจไทยแย่มาก รัฐบาลป๋าเปรมต้องประกาศลดค่าเงินบาทจนท่าน ผบ.ทบ.และ ผบ.สส.ขณะนั้น พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ต้องออกมาบ่นรัฐบาลด้วยเสียงดังๆ ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ว่าการลดค่าเงินบาททำให้ประชาชนเดือดร้อน
ท่านบ่นในวันลอยกระทงของปีนั้นพอดิบพอดี จนผู้คนแตกตื่นไปหมด นึกว่าทหารจะปฏิวัติทหารด้วยกันเสียแล้ว
อะไรไม่อะไร งานลอยกระทงคืนนั้นกร่อยสิ้นดี ไม่ใช่เพราะคนกลัวปฏิวัติ แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดีคนไม่มีเงินเที่ยวมากกว่า
จากนั้น 1 ปีก็ผ่านไปไวเหมือนโกหก การลดค่าเงินบาทเกิดผลอย่างเหลือเชื่อ…การส่งออกดีขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น ฯลฯ
ส่งผลให้ลอยกระทงปี 2528 ถัดมา ผู้คนแทบจะเหยียบกันตาย แน่นเอี้ยดทุกสถานที่จัดงานใหญ่ทั่วประเทศ
จากตัวอย่างของเหตุการณ์นี้และจากข้อสังเกตย้อนหลังของผมด้วย ทำให้ผมค่อนข้างเชื่อว่า “วันลอยกระทง” จะสามารถใช้เป็นเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญได้อีกทางหนึ่ง
ดังนั้น เมื่อวันลอยกระทงปีกลาย 8 พฤศจิกายน 2565 ผู้คนแน่นขนัดทุกแห่งหน ผมจึงฟันธงว่าเศรษฐกิจไทยกระเตื้องแน่นอน
ปรากฏว่าแม่นเป๊ะเลยครับ ทางสภาพัฒน์โดยท่านเลขาธิการฯ ดนุชา พิชยนันท์ นี่แหละ ออกมาแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีกลายในวันที่ 21 พฤศจิกายน (หลังลอยกระทงและหลังการประชุมโอเปกที่บิ๊กตู่จัดได้อย่างยิ่งใหญ่) ปรากฏว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของปีกลายขยายตัวถึง 4.5 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรก และ 2.5 ในไตรมาสสองตามลำดับ
สรุป 9 เดือนแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.1 ทำให้ท่านคาดว่าทั้งปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2564 ก่อนหน้านี้กว่าเท่าตัว
ทำให้คนที่เชื่อมั่นในทฤษฎี “ลอยกระทง” กับเศรษฐกิจอย่างผม ยิ้มแก้มปริ ที่การคาดการณ์ของผมถูกต้อง
แต่มาถึงปีนี้ 2566 “วันลอยกระทง” ไปอยู่เสียเกือบปลายเดือนพฤศจิกายน คือในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
หลังการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 3 หรือ 9 เดือนแรกของสภาพัฒน์ที่นำมาแถลงไปแล้วตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ซะตั้ง 7 วัน
อะไรไม่อะไรตัวเลข 9 เดือนปีนี้ของท่านดนุชา ต่างกับปีที่แล้วแบบหน้ามือกับหลังมือเลยครับ เพราะไตรมาสสามขยายแค่ 1.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ปีแล้ว 4.5 เปอร์เซ็นต์) และเมื่อรวมทั้ง 9 เดือน ก็ขยายเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ปีแล้ว 3.1 เปอร์เซ็นต์)
แต่ช่วงไตรมาส 4 จะดีขึ้นบ้าง ท่านจึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 หรือปีนี้จะอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ (ปีแล้ว 3.2 เปอร์เซ็นต์)
ถ้าตัวเลขต่างๆ ออกมาเช่นนี้ มองออกไปที่วันลอยกระทง 27 พ.ย. ตามข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ว่า “งานลอยกระทง” ปีนี้อาจจะกร่อย เพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดีนัก
ประสากองเชียร์งานลอยกระทงและไม่อยากให้กร่อย เพราะได้ข่าวว่าแต่ละงานที่จะจัดขึ้นทั่วประเทศล้วนทุ่มเทเต็มที่ โดยเฉพาะท่านํ้าต่างๆ โรงแรมต่างๆ แถวริมนํ้า ล้วน “จัดเต็ม” สำหรับนักท่องเที่ยวและคนไทยเราเอง
ขอให้สนุกเต็มที่แบบเพลง “รำวงลอยกระทง” ของ “สุนทราภรณ์” นะครับ…อย่าเหงาๆ เศร้าๆ แบบ เพลง “กระทงหลงทาง” ของครู สลา คุณวุฒิ ที่ ไชยา มิตรชัย เป็นคนร้องเด็ดขาด
GDP เป็นเรื่องสมมติมันจะยืดจะหดก็ช่างเถอะ…ของจริง คือ “งานลอยกระทง” ซึ่งเป็นงานที่สนุกมาก ยิ่งใหญ่มาก และเป็นมรดกไทยที่เราจะต้องช่วยกันรักษาเอาไว้ให้ยั่งยืนสืบไป.
“ซูม”