เรียนรู้ “ซอฟต์เพาเวอร์” ญี่ปุ่น “F” ตัวที่ 6 “ชนะใจ” ทั่วโลก

ถ้าจะถามผมว่าผม “เรียนรู้” อะไรมากที่สุด จากการไปเที่ยวญี่ปุ่นหนนี้…คำตอบข้อแรกเลยก็คือ ผมเชื่อแล้วว่า “พลัง” ของ Soft Power นั้น สามารถช่วยประเทศชาติในยามวิกฤติได้อย่างชนิดต้องใช้คำว่า “พันเปอร์เซ็นต์”

ด้วยเหตุผลดังที่ผมเขียนไว้ในฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด หลังวิกฤติโควิด-19

GDP ของญี่ปุ่นขยับมาโดยตลอด ตั้งแต่ไตรมาสแรก ไตรมาส 2 ยังเหลือไตรมาส 3 ที่ยังไม่มีตัวเลข แต่ก็มั่นใจได้ว่า ยังกระฉูดต่อแน่นอน

ด้วย “การท่องเที่ยว” บวกด้วย “การส่งออก” ซึ่งของญี่ปุ่นพุ่งกระฉูดขึ้นทั้ง 2 อย่าง ด้านท่องเที่ยวนั้น ผมบรรยายไว้แล้วว่า เมื่อเดือน มิถุนายน จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดขึ้นมาร้อยละ 80 ของเดือนเดียวกันในปีก่อนโควิดแล้ว

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวกลับเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาญี่ปุ่นใช้จ่ายต่อหัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า ความสำเร็จของการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ก็มาจาก Soft Power ของแต่ละประเทศนั่นเอง

ถ้าเทียบกับนโยบาย 5 F ที่เรานำมาใช้อันได้แก่ Food, Fight, Festival, Film และ Fashion เป็นจุดขายในการท่องเที่ยวและส่งผลให้นักท่องเที่ยวแห่เข้ามาบ้านเราอย่างล้นหลามเช่นกันนั้นจะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเขาก็มี F ที่โดดเด่นมากๆ

เรื่อง Food หรืออาหารเขาก็ดังระดับโลก เพราะอาหารญี่ปุ่นมีขายทุกประเทศ, เรื่อง Fight เขาก็มี การต่อสู้หลายอย่าง เช่น ยูโด, ยูยิตสู เป็นต้น แต่เทียบแล้วไม่เป็นที่นิยมเท่า “มวยไทย” ที่มีนักท่องเที่ยวเจาะจงมาดู และส่วนหนึ่งมาร่ำเรียนมวยไทยปีละหลายๆ หมื่นคน

เรื่อง Festival เขาก็มีเยอะ นอกจากงานเทศกาลสนุกสนานแล้วก็ยังมีศิลปวัฒนธรรมเก่าๆ วัดวาอารามเก่าๆ สวยๆ งามๆ ทั้งสิ้น

เรื่อง Film ของเขาประสบความสำเร็จมานานแล้ว สำหรับหนังหลอกเด็กชุด “ก็อตซิลลา” ของเขาก็ชนะใจเด็กทั่วโลก แล้วยังมีตัวการ์ตูนอื่นๆ อีก เช่น โดเรม่อน, โปเกม่อน ฯลฯ รวมทั้ง “เกม” ต่างๆ ที่ฝรั่งติดงอมแงม ถือว่าอยู่ในหมวด Film ก็คงได้เหมือนกัน

Fashion ของเขาก็ระดับโลก ขนาดคนเชยๆ อย่างผมยังรู้จัก อิสซีย์ มิยาเกะ ผู้ออกแบบกระเป๋าถือสุภาพสตรีลายสี่เหลี่ยมแบบตารางหมากรุก และแฟชั่นอื่นๆ อีกหลายอย่าง…

นอกจาก “5 F” นี้แล้ว ญี่ปุ่นยังมี F ตัวที่ 6 ที่เราก็มีเช่นกัน แต่เทียบกับเขาผมคิดว่าเราเป็นรองอยู่พอสมควร

ซึ่งก็คือ F ที่ย่อมาจาก Friendly ที่แปลตรงๆ ตัวว่า “เป็นมิตร” “เป็นเพื่อน” “เป็นกันเอง” ไปจนถึง “กรุณา” “ให้ความช่วยเหลือ” “ให้ความสนับสนุน” ที่บางพจนานุกรมแปลไว้นั่นแหละครับ

ระหว่างที่ผมกับแม่บ้านไปยืนงกเงิ่นหน้าตู้กดซื้อตั๋วรถใต้ดินก็จะมีคนมาช่วยเหลืออำนวยความสะดวก

วันหนึ่งเราจะต้องเดินขึ้นบันไดของสถานีรถใต้ดินออกไปข้างนอกเพราะไม่มีลิฟต์ ก็มีคนมาขันอาสาจะมาช่วยเรา 2 คนยก “รถเข็น” แบบพับได้ของผมขึ้นข้างบน

เจ้า F ที่มาจากคำว่า Friendly นี่แหละที่ผมมองว่าเขาเหนือกว่าเราในนาทีนี้

แม้คนไทยส่วนใหญ่จะยังคงมีอัธยาศัยไมตรีที่ดีต่อนักท่องเที่ยว แต่เราก็ยังมีข่าวแท็กซี่เอาเปรียบ ยังมีข่าวฉกชิงวิ่งราวนักท่องเที่ยว หลอกนักท่องเที่ยว หรือนานๆ ครั้งก็มีข่าวฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยว

ซึ่งที่ญี่ปุ่นจะไม่มีเลยข่าวคราวในลักษณะนี้

ผมก็ขอนำตัว F ตัวที่ 6 ที่ผมพบจากญี่ปุ่นมาฝากพี่น้องชาวไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีเพียงส่วนน้อย แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแต่ละครั้งจะมีผลกระทบอย่างสูง จึงต้องขออนุญาตนำมาฝาก พร้อมกับคำ “ติง” และ “เตือน” ดังกล่าว

F ที่ย่อมาจาก Friendly นั่นแหละครับ ขอให้มีเยอะๆ นักท่องเที่ยวจะรักและชอบเมืองไทยตลอดจนคนไทยมากขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน

ธุรกิจท่องเที่ยวก็จะอยู่คู่เมืองไทยเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้แก่คนไทยและประเทศไทยไปอีกนานแสนนานเหมือนน้ำซึมบ่อทรายดื่มกินได้ไม่มีวันหมด…ขอฝากเป็นข้อคิดไว้ด้วยนะครับ.

“ซูม”

เรียนรู้, ซอฟต์เพาเวอร์, ญี่ปุ่น, “F” ตัวที่ 6, ชนะใจ, ทั่วโลก, การท่องเที่ยว, การส่งออก, ประเทศไทย, เป็นมิตร, ข่าว,​ ซูมซอกแซก