ซอกแซกสัปดาห์นี้ตรงกับวัน “กินเจ” วันแรกของเทศกาลกินเจ 2566 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันนี้อาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พอดีเลยครับ เพราะฉะนั้นเรื่องที่น่าเขียนถึงมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทศกาลกินเจนี่แหละ
เหตุเพราะเทศกาลกินเจยุคนี้ ถือเป็น “เทศกาลระดับชาติ” ไปเรียบร้อยแล้ว มีการจัด งานบุญที่เกี่ยวกับการกินเจขึ้นแทบทุกจังหวัด และมีการส่งข่าวมาที่พวกเราชาวสื่อมวลชนให้ช่วยเผยแพร่ต่อจากทุกแห่งของประเทศ เฉพาะที่ทีมงาน ซอกแซกก็น่าจะเกิน 10 แห่ง 10 ที่แล้วละครับ
อย่ากระนั้นเลยเรามาเขียนถึงสัก 10 แห่ง ตามข้อจำกัดของเนื้อที่คอลัมน์ก็แล้วกัน
แน่นอนเมื่อพูดถึง “เทศกาลกินเจ” ผู้คนส่วนใหญ่จะนึกถึงประเพณีถือศีลกินผัก ของ จังหวัดภูเก็ต ก่อนสถานที่อื่นใดทั้งหมด เพราะมีประวัติการกินผักหรือกินเจมายาวนานกว่า 200 ปี นับแต่การเดินทางของชาวจีนที่มาปักหลักอยู่ที่เกาะภูเก็ตแห่งนี้
นอกจาก “อาหารเจ” ที่มีวางจำหน่ายอย่างหนาแน่นในเกือบทุกแห่งของภูเก็ตแล้ว ยังมีพิธีอันยิ่งใหญ่ เช่นพิธี “ยกเสาโกเต้ง” หรือ “ยกเสาเทวดา” ตั้งแต่เย็นๆ ของวันก่อนเริ่มเทศกาล ซึ่งปีนี้ก็คือวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมนั่นเอง จะมีการจุดตะเกียงไว้บนยอดเสา 9 เสา รวม 9 ดวง และปักไว้ให้สว่างไสวไปตลอด 9 วันของเทศกาลกินเจ
ไม่เพียงเท่านี้ยังมี “พิธีอิ้วเก้ง” หรือ “แห่พระรอบเมือง” รวมทั้งพิธี “โก้ยโห้ย” หรือ “พิธีลุยไฟ” เพื่อชำระบาปออกจากร่างกายอันลือชื่อลือชาอีกด้วย พิธีต่างๆเหล่านี้จะมีขึ้นเต็มรูปแบบในวันเปิดงาน แต่หลังจากนั้นก็ยังจะมีการจัดขึ้นตามศาลเจ้าต่างๆ กว่า 30 แห่งในภูเก็ต ไปจนจบเทศกาล
งานที่ 2 ได้แก่ งานของ จังหวัดตรัง ที่บางครั้งก็เรียกกันว่า “กินเจวิถีตรัง” และในปีนี้ก็มีการจัดงาน “สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง” รวม 9 วัน 9 คืนตลอดเทศกาลเช่นกัน โดยจะจัดขึ้นที่บริเวณ ตลาดชินตา เทศบาลทุ่งยาว ภายใต้การร่วมมือของศาลเจ้าพ่อดังต่างๆ อาทิ ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม, ศาลเจ้าอ่องเอี่ย ฯลฯ มีกิจกรรมให้ดูชมและร่วมบุญมากมาย โดยเฉพาะประเพณีลุยไฟอันลือชื่อของตรัง ก็จะมีให้ดูชมด้วย
ก็มาถึงงานที่ 3 อันได้แก่ “ประเพณีงานเจเยาวราช 2566” ซึ่งเริ่มโหมโรงมาตั้งแต่ “วันล้างท้อง” คือ 14 ตุลาคมเมื่อวานนี้ และจะมีไปจนถึงวันที่ 23 ตุลาคม จึงกลายเป็น 10 วัน 10 คืนมากกว่าที่อื่น 1 วัน…กล่าวโดยข้อเท็จจริงแล้ว
แม้เยาวราชจะเป็นชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีการจัดงานหรือพิธีการต่างๆ ตามประเพณีของจีนอยู่ตลอด แต่ก็มักจะจัดเล็กๆ แบบต่างคนต่างจัด เพราะขาดผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ต่างคนต่างอยู่ในบริเวณนี้
มาจนถึง พ.ศ.2540 หรือ 26 ปีที่แล้ว จึงได้มีการรวมพลังจัดตั้งคณะกรรมการจัด “งานตรุษจีน” อย่างยิ่งใหญ่ขึ้นเป็นครั้ง แรก และนับแต่นั้นมางาน ตรุษจีน ของเยาวราชก็โด่งดังขึ้นมาในระดับชาติติดลม มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อตรุษจีนเยาวราชดังงานประเพณีอื่นๆ ก็พลอยดังไปด้วย รวมทั้งงาน “ประเพณีงานเจเยาวราช” ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้น ณ บริเวณ ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา นำงานบุญจากศาลเจ้าต่างๆ ในเขตเยาวราชมารวมไว้ในที่เดียวกัน มีโอกาสอย่าลืมแวะไปร่วมบุญกันด้วยนะครับ
แค่ 3 งานยิ่งใหญ่ก็กินเนื้อที่เกือบค่อนคอลัมน์แล้วละ งานอื่นๆ คงต้องแนะนำแบบย่อๆก็แล้วกัน โดยเฉพาะงานที่ 4 ยังอยู่ใน กทม. ปีนี้ ประชาสัมพันธ์ได้ทั่วถึง ได้แก่งาน “อิ่มเจ อิ่มใจ อิ่มบุญ” ณ ศาล เจ้าแม่ทับทิม ในบริเวณ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเข้าได้หลายทางตั้งแต่สามย่าน บรรทัดทอง หรือจะเดินเลาะผ่านหน้า สนามศุภชลาศัย ก็ไปได้เช่นกัน
งานที่ 5 ขอแนะนำจังหวัด ชลบุรี บ้างครับ ได้แก่ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ซึ่งจะมีพิธีต่างๆคล้ายคลึงกับการจัดงานเจใหญ่ๆ ทั่วไป เช่น พิธีลุยไฟ, พิธีเดินข้ามสะพานบุญ, การปฏิบัติธรรม, การรับประทานอาหารเจ และในวันเปิดงานวันนี้จะมีพิธีแห่พระรอบตลาด อ.เมืองชลบุรี และ ต.อ่างศิลาด้วย…ส่วนที่ตั้งของศาลเจ้าอยู่ริมถนนเส้นทางเลียบชายทะเลจากอ่างศิลาไปเขาสามมุข สังเกตง่ายมีตึก 4 ชั้น ออกแบบเป็นเก๋งจีนสวยงามนั่นแหละ ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ
งานที่ 6 ล่องใต้กลับไปที่ สงขลา จะมีงานเทศกาลกินเจของเทศบาลนครสงขลาครั้งที่ 13 ณ บริเวณศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมากและปะรำพิธีท่าเทียบเรือประมง ถนนวิเชียรชม อำเภอเมือง จ.สงขลา 14-24 ตุลาคม
งานที่ 7 กลับมาภาคกลางแวะกรุงเก่าอยุธยาจะมีงาน “เทศกาลกินเจพระนคร ศรีอยุธยา” ที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง อำเภอผักไห่ ระหว่าง 15-23 ตุลาคมนี้ นี่ก็น่าไปเที่ยว …ลองไปดูซิว่า “สาวผักไห่” ในเทศกาลกินเจ จะมีใบหน้าที่อิ่มบุญมากน้อยเพียงใด
งานที่ 8 ไปอีสานบ้างครับ งาน “กินเจมหาสารคาม” จัดที่มูลนิธิคุณวีโรกุศลสงเคราะห์ (เอ็งเต็กตึ๊ง) อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 15-23 ตุลาคม
งานที่ 9 อีสานเช่นเดียวกัน เป็นของ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะจัดที่ศาลเจ้า-ปู่ย่า อุดรธานี หรือศูนย์วัฒนธรรมไทยจีนอุดรธานี สถานที่สวยงามใหญ่โตโอ่โถงมาก หัวหน้าทีมซอกแซกเคยแวะไปสักการะมาแล้ว
งานที่ 10 “เทศกาลกินเจนครสวรรค์” หรือปากน้ำโพ จัดขึ้น ณ ศาลเจ้าแม่หน้าผา เป็นจุดใหญ่ นี่คือศาลเจ้าแม่ปึงเถ่าม้าอยู่ริมแม่น้ำปิง ก่อนไปบรรจบแม่น้ำน่านเป็นเจ้าพระยา
ทุกๆ ปีในงานแห่เจ้าใหญ่ของชาวนครสวรรค์ “ศาลเจ้าแม่หน้าผา” จะเป็นหนึ่งในขบวนแห่อันยิ่งใหญ่เกรียงไกรร่ำลือไปทั่วเอเชีย ส่วนในเทศกาลกินเจ แม้จะมีการจัดงานเกือบทุกศาล แต่ที่นี่จะเป็นจุดเด่นของนครสวรรค์ ระหว่าง 15-23 ตุลาคม ใครผ่านอย่าลืมแวะสักการะขอพรและร่วมกินเจได้ตามศรัทธานะครับ
แถมท้ายให้อีก 1 งาน อยู่ที่ กทม.นี่เอง ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และ ดิ เอ็มควอเทียร์ แจ้งมาว่ามีการจัดงาน EMDINING J-Festival 2023 เปิดจำหน่ายอาหารเจ ในร้านอาหารชื่อดังของทั้ง 2 ศูนย์การค้ากว่า 20 ร้าน ไปเดินดูกันเอง ร้านไหนปักธงเหลืองก็แปลว่า มีอาหาร J จำหน่ายว่างั้นเถอะ
ขอให้อิ่มเจ อิ่มใจ อิ่มบุญ โดยทั่วหน้าอีกครั้งนะครับ อยู่ใกล้ที่ไหนก็ไปร่วมบุญที่นั่นได้…ได้บุญเท่ากันในทุกแห่งทุกที่ครับ ขอให้ทำด้วยใจ และศรัทธาก็แล้วกัน.
“ซูม”