“ดอกไม้” สำหรับ “ลุงตู่” เมื่อ “สูงสุด” คืนสู่ “สามัญ”

เมื่อวานนี้ผมเหลียวหลังไปดูผลงานของ “ลุงตู่” และพบว่าเฉพาะด้านเศรษฐกิจนั้นท่านค่อนข้างประสบความสำเร็จไม่น้อยในช่วง “ลุงตู่ 1” ระหว่าง พ.ศ.2557 ถึง พ.ศ.2562

ด้วยความรู้ความสามารถของ “กลุ่ม 4 กุมาร” ที่มาในโควตาของพรรคพลังประชารัฐเป็นส่วนสำคัญดังที่ผมสาธยายไว้แล้ว

ครั้นมาถึงยุครัฐบาลลุงตู่ 2 หรือสมัยที่ 2 ที่เริ่มจากเดือนกรกฎาคม 2562 ถึงเดือนกันยายน 2566…แรกๆ ก็ยังดูดีโดยเฉพาะในปีแรกของการบริหารประเทศ คำรบ 2 เนื่องจากฝ่ายเศรษฐกิจยังอยู่ในความดูแลของกลุ่ม 4 กุมารอย่างต่อเนื่อง

แต่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ทีมกลุ่ม 4 กุมารต้องหลุดจากตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งหมด

บิ๊กตู่ต้องหันมาใช้ทีมเศรษฐกิจใหม่ที่ท่านไว้ใจ ได้แก่ ท่านรองสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.ของท่านให้มาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ และดูแลกระทรวงพลังงาน

ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น ช่วงแรกท่านไปเชิญ คุณ ปรีดี ดาวฉาย ผู้บริหารระดับสูงของ กสิกรไทย มาเรียบร้อยแล้ว แต่งตั้งแล้ว แต่คุณปรีดีก็ขอลาออกด้วยปัญหาสุขภาพ

ทำให้ท่านต้องส่ง คุณ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ที่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยคมนาคมอยู่แล้วไปนั่งแทน
ในความเห็นของผม มองว่าโอเค ทั้ง 2 ท่าน

แต่ที่ต้องถือว่าโชคร้าย เพราะการเปลี่ยนผ่านที่ว่านี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านกำลังเพลี่ยงพล้ำสงครามโควิด-19 พอดิบพอดี

คงจำได้ โควิด-19 ระบาดขึ้นที่ประเทศจีนใน ค.ศ.2019 ช่วงปลายๆ ซึ่งก็คือ พ.ศ.2562 ที่ “ลุงตู่” เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 นั่นเอง

ไวรัสมหาภัยพันธุ์นี้ระบาดเข้าประเทศไทยช่วงต้นปี 2563 ราวๆ มกราคม แล้วแรงขึ้นช่วงเดือนมีนาคมจากการระบาดที่เวที “ลุมพินี”

“ลุงตู่” และ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ใช้วิธีคุมเข้มประกาศ ภาวะฉุกเฉินแบบเต็มสตีม สามารถจัดการ “โควิด-19” ระลอกแรกในไทยอยู่หมัด ได้รับคำชมเชยจาก WHO จนหน้าบานไปทั้ง 2 คน

แต่แล้วในเดือนธันวาคมปี 2563 นั่นเอง ประเทศไทยก็โดนโจมตีระลอก 2 จากการระบาดของแรงงานต่างด้าวที่จังหวัดสมุทรสาคร

คราวนี้เสร็จเลยคนไทยติดเชื้อเป็นเบือ เฉลี่ยเกิน 2,000 รายต่อวันและเสียชีวิตก็เป็นวันละหลายร้อยรายโกลาหลอลหม่านไปทั่ว

ประกอบกับ “กลุ่ม 3 นิ้ว” ก็รวมตัวกันมากขึ้น ออกมาเดินขบวนท้าทายอำนาจรัฐอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปี 2564 เกือบทั้งปีเป็นห้วงเวลาแห่งความยุ่งยากสุดๆ ของ “บิ๊กตู่” และประเทศไทย

จนกระทั่งล่วงเลยมาถึงเดือนกรกฎาคม 2565 ทุกอย่างจึงเริ่มคลี่คลาย ประเทศไทยสามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ในระดับหนึ่ง และค่อยๆ เปิดประเทศตั้งแต่ปลายปี 2565 เป็นต้นมา ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มดีขึ้น

แต่บิ๊กตู่นั้น น่วมไปเสียแล้ว แม้จะพยายามชี้ให้เห็นว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาทำงานหนักอย่างไร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านใดบ้าง ก็ไม่สามารถลบล้างความเบื่อของประชาชนกลุ่มใหญ่ไปได้

ยิ่งใกล้เวลา 8 ปี ของการอยู่ในตำแหน่งเข้ามาเรื่อยๆ เสียงบ่นที่ว่าระยะเวลา 8 ปี เป็นระยะเวลาที่ควรพอได้แล้วสำหรับการบริหารประเทศ ก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ส่งผลให้ท่านและพรรคของท่านพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 และต้องตัดสินใจโบกมือลาอย่างถาวรด้วยประการฉะนี้

โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ตลอดเวลาเกือบๆ 9 ปี ที่ท่านอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาของ ประเทศอย่างสุดความสามารถแล้ว

เฉพาะปัญหา “โควิด-19” และเศรษฐกิจที่ตกตํ่าอย่างสาหัส เพราะอิทธิฤทธิ์ของไวรัสร้ายตัวนี้ ท่านทำได้ขนาดนี้ผมก็ขอปรบมือให้

นิยายกำลังภายในหลายเรื่องใช้สำนวนว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” ทำให้หลายๆ คนถกเถียงกันว่า ในยามมีอำนาจสูงสุดกับในยามคืนสู่สามัญนั้น อย่างไหนจะสุขกว่ากัน? ซึ่งในส่วนตัวผม…ผมเชื่อว่าการ “คืนสู่สามัญ” น่าจะมีความสุขมากกว่า

ขอให้ท่านใช้ชีวิตเมื่อคืนสู่สามัญจากนี้เป็นต้นไป ด้วยความสุขกับครอบครัวอันเป็นที่รักของท่าน ขอขอบคุณและขอให้โชคดี (นะจ๊ะ) “ลุงตู่” ของพวกเราชาวอนุรักษ์นิยม.

“ซูม”

ดอกไม้, ลุงตู่, รัฐบาล, นายกรัฐมนตรี, สูงสุดคืนสู่สามัญ, พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การเมือง, ข่าว, ซูมซอกแซก